เกทับ "ค่าแรงขั้นต่ำ" หมัดเด็ดโกยคะแนนเสียง
นโยบายพรรคพลังประชารัฐ หมัดเด็ดโกยคะแนนเสียง
คอลัมน์คันฉ่องส่องเลือกตั้ง ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,453 หน้า 16 ระหว่างวันที่ 17-20 มี.ค. โดย... นาย NO VOTE
เกทับ "ค่าแรงขั้นต่ำ"
หมัดเด็ดโกยคะแนนเสียง
เข้าช่วงนับถอยหลังรอวันเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้ง พรรคการเมืองมีนโยบายอะไรต้องงัดออกมา “ซื้อใจ” ประชาชนกันจนนาทีสุดท้าย
"พลังประชารัฐ" ก็โชว์นโยบาย "3 รวย" ออกมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง "รวยโอกาส" แจกแจงแผนกันเนื้อ ๆ เห็นชัด ๆ เจาะคนแต่ละกลุ่ม
ประกาศตั้งเป้าดันราคาสินค้าเกษตรขั้นต่ำเป็นรายตัวทำชาวนาชาวไร่เฮลั่นแล้ว การันตีจบปริญญาตรีเงินเดือน 20,000 บาท อาชีวะ 18,000 บาท ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400-425 บาท
หลังจากที่ “เพื่อไทย” เจ้าตำรับขึ้นค่าแรงวันละ 300 บาทในอดีต เพิ่งปักป้ายปูพรมเสนอ ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 18,000 และเพิ่มรายได้ SMEs 15% ทั้งที่ก่อนหน้าอุบเงียบไม่ยอมพูดเรื่องปรับค่าแรงมาก่อน
ทำเอาภาคเอกชนหัวร้อน "สุพันธุ์ มงคลสุธี" ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ออกโรงโวยพรรคการเมือง จะชูนโยบายหาเสียงอะไรก็ทำไป แต่อย่าเอาเรื่องปรับขึ้นค่าแรงมาใช้หาเสียงเลือกตั้ง
บอกเสียงเครียดว่าผลักภาระให้ภาคเอกชน เพราะเรื่องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ พอสั่งขึ้นปุ๊บคนที่ต้องควักเงินจ่ายคือเจ้าของกิจการโดด ๆ รัฐบาลลอยตัวไม่ต้องรับภาระอะไร ขู่ถ้าปรับขึ้นมากจนทำต่อไม่ไหวสุดท้ายต้องตกงานกัน
ฝันร้ายเมื่อครั้ง “เพื่อไทย” ประกาศนโยบาย "ค่าแรง 300 บาท" หาเสียงการเลือกตั้งปี 2554 จนได้แชมป์ส.ส. ส่ง "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นั่งเก้าอี้นายกฯ แล้วสั่งปรับค่าจ้างขั้นต่ำจากกว่า 200 บาท ขึ้นพรวดที่วันละ 300 บาททั่วประเทศ จนผู้ประกอบการร้องโอ้กมาแล้ว
สวนดุสิตโพล ไปสำรวจพบว่านโยบายที่โดนใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากสุดในทุกกลุ่มอายุ คือ เรื่อง "กินดี อยู่ดี ขึ้นค่าแรง"
ก่อนจะเสนอตัวเลข “เกทับบลัฟแหลก” กันช่วงนี้ หลายพรรคชูประเด็นนี้หาเสียงมาล่วงหน้า
“พรรคประชานิยม” ขึ้นป้ายตัวโตประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 360 บาททั่วประเทศ ส่วน “ประชาธิปัตย์” เลี่ยงใช้ประกันรายได้ขั้นต่ำ 120,000 บาทต่อปี ลูกจ้างรายใดมีรายได้ไม่ถึงรัฐจะอุดหนุนส่วนต่างให้
ค่าแรงขั้นต่ำของพรรคยังเป็นนโยบายช่วงหาเสียง พรรคที่ประกาศตัวเลขไปไม่แน่ว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล ที่จะมีโอกาสผลักดันให้เกิดผลที่เป็นจริง
ขณะที่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของจริงในบอร์ดค่าจ้างกลางนั้น คนงานที่ตั้งตารอส่อเค้าวืด
เพราะผลประชุมล่าสุดวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา บอร์ดค่าจ้างกลางยังไม่เคาะตัวเลขปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ บอกว่ามีกว่า 40 จังหวัดไม่ขอปรับขึ้น จึงส่งกลับให้อนุกรรมการกลับไปพิจารณาตัวเลขและผลกระทบเศรษฐกิจอีกครั้ง
และนัดคุยครั้งต่อไปปลายเดือนเมษายน
ทั้งที่ก่อนหน้ามีกระแสจะปรับขึ้น 2-10 บาททุกจังหวัด และให้มีผลวันที่ 1 เมษายนนี้ ครบรอบ 1 ปีการปรับขึ้นครั้งก่อน ที่มีรายได้ขั้นต่ำ 308-330 บาท
24 มีนาคมนี้ กลับไปลุ้น "ค่าจ้าง" ของพรรคการเมืองก่อนก็แล้วกัน...