"ศรีสุวรรณ"ตั้งโต๊ะล่าชื่อถอดถอนกกต.
"ศรีสุวรรณ"ตั้งโต๊ะล่าชื่อถอดถอนกกต.ที่ตลาดยิ่งเจริญคาดนำเรื่องยื่นปปช.สัปดาห์หน้า
31 มีนาคม 2562 หลังจากที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เชิญชวนประชาชนให้มาร่วมลงชื่อถอดถอนกกต. ร่วมกันเมื่อวานที่ผ่านมา
โดยได้ระบุว่า ในวันนี้ทางสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จะตั้งโต๊ะให้ประชาชนมาร่วมเข้าชื่อถอดถอน กกต. ในช่วงเวลา 10.00 น. ณ ร้านชาศรีสุวรรณ บริเวณประตู 3 ตลาดยิ่งเจริญ สะพานใหม่ ซึ่งเมื่อผู้สื่อข่าวมาถึงก็พบว่าได้มีการเปิดโต๊ะล่ารายชื่อเพื่อถอดถอนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กันตามเวลาที่กำหนด โดยมีประชาชนที่สัญจรไปมาร่วมลงชื่อ ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการตั้งเครื่องถ่ายเอกสาร และป้ายไวนิล 9 ข้อกล่าวหาที่มีต่อ 7 กกต.บริเวณหน้าร้านด้วย
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า เชื่อว่าสังคมไทยได้ติดตามและวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่าการจัดการเลือกตั้งของกกต. ทั้ง 7 คนนี้ เป็นไปโดยไม่สุจริตแฃะไม่เที่ยงธรรม ก่อให้เกิดปัญหามากมาย ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเยอะแยะ ทั้งการเลือกตั้งล่วงหน้า มาจนถึงการเลือกตั้งใหญ่ในครั้งนี้
"การที่ กตต. ดำเนินการจัดการเลือกตั้งอย่างผิดพลาดล้มเหลวครั้งนี้ หลายเหตุการณ์ และตนก็ได้ยื่นหนังสือไปหาทางกกต.มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงเรื่องของบัตรเขย่ง ที่มีการอ้างกันข้างๆคูๆว่า เคยมีมาแล้ว แต่ในข้อกฎหมายมันไม่สามารถที่จะไปรองรับในเรื่องเหล่านี้ได้ เพราะถ้าบัตรไม่สอดคล้องต้องกันกับผู้ที่มาใช้สิทธิกับบัตรที่ปรากฎจริง ก็ต้องมีการสืบหาข้อเท็จจริง แล้วนำไปสู่การลงโทษพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือแม้แต่การสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในจุดนั้น คือการแก้ปัญหาที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ว่าทางกกต. กลับเพิกเฉยแล้วคิดว่าคะแนนแค่ 8-9 ใบ ไม่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งตนคิดว่าคะแนนเสียงของผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง 1 คน 1 สิทธิ มีความสำคัญยิ่ง ไม่เช่นนั้นเราจะไปรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งกันไปเพื่อประโยชน์อะไร"
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ในกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าพรรคการเมือง ที่ออกมาเสนอนโยบายในเชิงประชานิยม ที่ต้องใช้เงินมหาศาลนั้น ในกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนเลยว่า พรรคการเมืองต้องนำเสนอว่าเงินที่จะนำมาใช้ในการกำหนดนโยบาย มีที่มาจากที่ไหน และเมื่อนำมาดำเนินนโยบายจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไร มีความเสี่ยงอย่างไร ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นหน้าที่ของ กกต. ที่ต้องแจ้งให้พรรคการเมืองดำเนินการไปตามกฎหมาย ตนก็ไปแจ้งให้ทางกกต.ดำเนินการแต่ทางกกต.ก็ยังนิ่งเฉยไม่ทำอะไร
"ตนคิดว่าความผิดต่างๆเหล่านี้ เป็นความผิดที่ไม่สามารถปล่อยให้กกต.ชุดนี้ดำเนินการต่อไปได้อีกแล้ว ก็เลยจำเป็นที่จะต้องมาล่ารายชื่อพี่น้องประชาชนในฐานะผู้มีสิทธิในการเลือกตั้ง เพื่อช่วยกันเข้าชื่อเพื่อเสนอไปยัง ปปช. และเมื่อยื่นให้ทาง ปปช. สอบสวน หากพบข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ร้องเรียน ปปช.สามารถมีมติยื่นเรื่องให้อัยการส่งฟ้องศาล แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เลย"
ทั้งยังระบุว่า เรื่องของจำนวนรายชื่อที่ได้นั้นไม่สำคัญ วันนี้ตนมาตั้งโต๊ะล่ารายชื่อเพียงเพื่อต้องการแสดงเจตนารมณ์ ให้พี่น้องประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาแสดงเจตนารมณ์ลงชื่อเพื่อถอดถอน กกต. โดยหลังจากนี้อีกไม่นานตนจะไปทำสำนวน พยานหลักฐาน ที่รวบรวมไว้ค่ินข้างสมบูรณ์แล้ว ไปยื่นต่อทาง ปปช. ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ซึ่งได้เผยว่าจะไปยื่นเรื่องดังกล่าวในสัปดาห์หน้า
เมื่อถามว่า การที่ คสช.มองว่าการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ กกต.ลาออก อาจเป็นการสร้างความวุ่นวายนั้น นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ทุกวันนี้ไม่เห็นมีอะไรที่จะสร้างความวุ่นวาย อีกทั้งการชุมนุมเป็นสิทธิของประชาชนบนพื้นฐานของกฎหมาย
โดยนายศรีสุวรรณ ได้ให้เหตุผลถึงการที่ทางสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยต้องดำเนินการตั้งโต๊ะเพื่อขอให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ร่วมกันลงชื่อเพื่อดำเนินการถอดถอน 7 กกต. ให้ออกจากดำแหน่งตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 234 (1) บัญญัติ ในข้อหา “จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย” นั้น ว่ามีประเด็นข้อกล่าวหา กกต. ทั้งหมด 9 ประเด็น คือ
1)วินิจฉัยบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจากนิวซีแลนด์ไม่ถูกต้องตาม ม.114 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.2561 ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย “ทุกสิทธิทุกเสียงมีคุณค่า” เป็นการลิดรอนสิทธิการเลือกตั้งของคนไทยทั้งในและต่างแดนโดยชัดแจ้ง
2)มีการเลื่อนและประวิงเวลาการนับและประกาศผลคะแนนไม่เป็นไปตาม ม.117 พรป.เลือกตั้ง สส.2561 แถมมีคะแนนเพิ่มขึ้นมาอีก 4.4 ล้านใบโดยไม่สมเหตุสมผล
3)กล่าวอ้างว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิไม่ตรงกับยอดบัตรที่ใช้นั้นอาจเกิดจาก “บัตรเขย่ง” ซึ่งไม่มีปรากฎในกฎหมายใดๆ
4)ไม่ดำเนินการเอาผิดผู้ที่ทำให้บัตรเลือกตั้งจากนอกราชอาณาจักรมาล่าช้า และไม่ได้เอาผิดผู้ที่ทำให้ยอดบัตรไม่ตรงกับผู้มาใช้สิทธิ เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตาม ป.อาญา ม.157
5)ไม่สั่งการตาม ม.57 วรรคสอง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ให้พรรคการเมืองหาเสียงโดยต้องแจ้งที่มาของเงินที่ต้องใช้ตามนโยบาย ความคุ้มค่าและประโยชน์ ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินการตามนโยบายที่หาเสียง
6)ไม่ดำเนินการเอาผิดผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคน-ทุกพรรคการเมือง ฐานแจ้งความเท็จ ตาม ป.อาญา ม.137 กรณีที่ยื่นใบสมัครเป็น ส.ส. ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าตนเองขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม
7)ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนในการจัดการเลือกตั้งไปหลายพันล้านบาท แต่ผลที่ได้กลับไม่คุ้มค่าและไม่มีประสิทธิผลขัด พรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 ถูกสังคมตำหนิว่า จัดการเลือกตั้งผิดพลาด ล้มเหลว และไม่แสดงความรับผิดชอบโดยการลาออก
8)จัดการเลือกตั้งล่วงหน้า ก่อให้เกิดการผิดพลาด บัตรเลือกตั้งถูกส่งไปสลับหน่วย สลับเขต ทำให้ตรวจสอบไม่ได้ ไม่โปร่งใส
9)ใช้เวลาและภาษีของประชาชนไปต่างประเทศกว่า 12 ล้านบาท โดยอ้างว่าไปตรวจการเลือกตั้ง แต่ไปไม่ครบ 67 ประเทศที่ลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เข้าข่าย “เลือกปฏิบัติ” ซึ่งถูกสังคมตำหนิว่าเลือกไปตรวจแต่เฉพาะประเทศที่คนนิยมไปท่องเที่ยว เช่น สวิส เยอรมัน อังกฤษ อเมริกา