อย่าล้มกระดานเลือกตั้ง
การรายงานผลการเลือกตั้ง เป็นที่น่าเคลือบแคลงสงสัย เพราะคำอธิบายต่อกรณี "บัตรเขย่ง" และ "บัตรงอก"
คอลัมน์ที่นี่ไม่มีความลับ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3458 หน้า 16 ระหว่างวันที่ 4-6 เม.ย.2562 โดย...เอราวัณ
อย่าล้มกระดานเลือกตั้ง
ดูอาการไม่ปกติสำหรับการเคลื่อนไหวของ พรรคเพื่อไทย-อนาคตใหม่ ที่ลุกลามไปถึงนิสิต นักศึกษาในการคัดค้านผลการเลือกตั้ง โดยพุ่งเป้าไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้งที่มุ่งไปสู่การถอดถอน กกต.ทั้ง 7 ที่ต้องถามว่าจุดประสงค์ของการเคลื่อนไหวนี้คืออะไร
เห็นด้วยว่าการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต่อการจัดการเลือกตั้ง การรายงานผลการเลือกตั้ง เป็นที่น่าเคลือบแคลงสงสัย เพราะคำอธิบายต่อกรณี “บัตรเขย่ง” และ “บัตรงอก” ไม่ชัดเจน ตลอดจนหลักเกณฑ์การคิดคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ที่คำนวณการได้มาของส.ส. แต่ละพรรคไม่มีความชัดเจน แต่การเคลื่่อนไหวให้กกต. กลับมาทำงานอยู่ใน “ครรลอง” ที่ถูกต้องน่าจะดีกว่าการคว่ำ กกต. ด้วยการล่าชื่อถอดถอน แม้ว่าผลทางกฎหมาย การถอดถอนมิใช่เรื่องง่ายก็ตาม
แต่ถ้า กกต.ทั้ง 7 คน ที่ประกอบด้วย อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ ธวัชชัย เทอดเผ่าไทย ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ปกรณ์ มหรรณพ เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ และฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ เกิดน้อยใจทนแรงกดดันไม่ไหว ลาออกจากการเป็นกกต.ตามคำเรียกร้องจริงๆ เท่ากับการเลือกตั้งต้องถูก “แช่แข็ง” เพราะไม่มีใครรับรองผลการเลือกตั้ง ความเป็นส.ส.ก็ไม่เกิด สภาผู้แทนราษฎรก็เกิดไม่ได้ จะต้องเกิดกระบวนการสรรหา กกต.ใหม่ ก่อนที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ เพราะการเลือกตั้งต้อง “โมฆะ” ไปโดยปริยาย เนื่องจากไม่สามารถรับรองผลการเลือกตั้งได้ภายใน 60 วัน
เวลานี้สิ่งที่ต้องทำคือประคับประคองให้การทำงานของกกต. เดินไปในทิศทางที่ถูกต้องชอบธรรม จนกว่าจะรับรองส.ส. ได้ครบตามกฎหมายกำหนด ส่วนการ “ชำระความผิด” ว่าเจ้าหน้าที่หรือกรรมการคนใดกระทำผิดต่อหน้าที่ ขอให้เกิดขึ้นทีหลัง อย่าเอา ”ความสะใจ” คิด “ล้มกระดาน” การเลือกตั้ง ในเมื่อทุกคนเดินมาถึงจุดหมาย มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว ก็ควรเดินต่อให้ภารกิจ “อยากเลือกตั้ง” เป็นไปโดยลุล่วง ดีกว่าจะ “ล้มกระดาน” และการเลือกตั้ง “ถูกแช่แข็ง” อีกนาน
ส่วนการแย่งชิงจัดตั้งรัฐบาล ยังอีกไกล ด้วยยังไม่รู้พรรคการเมืองใดจะเหลือเท่าใด กกต.จะแจกใบเหลือง ใบแดง ใบส้ม อย่างไร เลือกตั้งกลับมาคะแนนจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ต้องคำนวณใหม่หมด ดังนั้น พรรคภูมิใจไทย ของอนุทิน ชาญวีรกูล และพรรคพระแม่ธรณีบีบมวยผม จึงใจเย็นรอ ไม่ประกาศชัดว่าจะเอาอย่างไร แม้จะมีเสียงนักการเมืองรุ่น “ฟันน้ำนม” ในพรรคประชาธิปัตย์ที่อยากเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” จนเถียงกันพรรคแทบแตก จน ชวน หลีกภัย ผู้เก๋าเกมต้องห้ามทัพ บอกยังไม่จำเป็นต้องตัดสินใจก่อน 9 พฤษภาคม รอไว้ให้มีการรับรอง ส.ส.ก่อน ถือคติ “ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม”