ครม.รับทราบแผนรับมือ 'โรคอหิวาต์หมู'
ครม.รับทราบ แผนรับมือ 'โรคอหิวาต์หมู' พร้อมยก เป็น วาระแห่งชาติ ใช้งบประมาณ 148 ล้านบาท
วันที่ 9 เม.ย.2562 เวลา 13.30 น. พล.ต.อธิสิทธ์ ไชยนุวัตร ผู้ช่วยโฆษกรัฐบาล แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมได้มีการขออนุมัติ แผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศไทยให้ เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อหาทางฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ หากมีการแพร่ระบาด และป้องกันความเสียหายทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการกว่า 1 แสนล้านบาท และ ป้องกันการติดเชื้อของโรคระบาดร้ายแรง อย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพ
พล.ต.อธิสิทธ์ กล่าวต่อไปว่า ซึ่งแผนดังกล่าวแบ่งเป็นการดำเนินการ 2 ห้วง ส่วนใดเป็นการบริหารจัดการและขับเคลื่อน ด้วยมาตรการโดยจัดให้มีคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เป็นวาระแห่งชาติ โดยมี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ส่วนที่ 2 แผนการดำเนินงานแบ่งเป็น 3 ระยะ คือระยะก่อนเหตุการณ์ระบาด เป็นการเฝ้าระวังเตือนภัยป้องกันโรคและเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุ ระยะที่ 2 เผชิญเหตุการระบาดของโรค ตอบสนองในภาวะฉุกเฉิน โดยการจัดการควบคุมโรคที่เป็นไปอย่างมีมาตรฐาน ระยะที่ 3 ภายหลังไปเชิญเหตุการระบาด จะเป็นการฟื้นฟูปรับสภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรและผู้ที่ได้รับผลกระทบ ให้กลับสู่สภาวะปกติ
ผู้ช่วยโฆษกรัฐบาล กล่าวอีกว่า ส่วนการใช้งบประมาณในวงเงินทั้งสิ้น 148 ล้านบาท แบ่งเป็นปีงบประมาณ 2562 เป็นเงิน 53 ล้านบาทเศษ โดยใช้งบกลาง รายการจ่ายเงินสำรอง เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นปี 2562 ส่วนในปี 2563 กับ 2564 ให้ใช้รายจ่ายประจำปีงบประมาณ อย่างไรก็ตามโรคดังกล่าวไม่ได้มีการติดต่อสู่คน จึงไม่อยากให้ประชาชนและเกษตรกร กังวลในเรื่องนี้
สืบเนื่องจากสถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร แพร่ระบาดขยายเป็นวงกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง 17 ประเทศ ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบันในหลายภูมิภาค ทวีปยุโรป 10 ประเทศ แอฟริกา 4 ประเทศ เอเชีย 3 ประเทศ ซึ่งในประเทศเอเชียที่มีการระบาดได้แก่ประเทศจีน มองโกเลียเวียดนาม โดยล่าสุด ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้
ทางประเทศไทยจึงเสนอแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคดังกล่าว โดยประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรจากปัจจัยหลายประการ เช่น การลักลอบนำผลิตภัณฑ์สุกรจากนักท่องเที่ยวในประเทศที่มีการระบาดเข้ามาประเทศไทย มีการลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์สุกร และซากสุกร ผ่านช่องทางตามแนวชายแดน การเสี่ยงปนเปื้อนไวรัสจากตัวเกษตรกรสัตวแพทย์ ที่ไปดูงานประเทศที่มีการระบาดของโรค.