พปชร. เดินหน้าแก้ปัญหาฝุ่นควัน ไฟป่า ยกเป็นวาระแห่งชาติ
"พปชร." จับมือภาคเอกชน-สังคม จัดเสวนาแนวทางแก้ปัญหาฝุ่นควันไฟป่า ยกเป็นวาระแห่งชาติ ยันไม่ต้องรอเป็นรัฐบาลเดินหน้าแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น-ระยะยาว
วันที่ 9 เม.ย. 62 เมื่อเวลา 13.00 น. นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพปชร. นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพปชร. และ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรคพปชร. ได้ร่วมกันหารือถึงทางออกเรื่องการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน pm 2.5 ร่วมกับภาคเอกชนและประชาสังคม โดยจัดให้มีการเสวนาในหัวข้อ "แนวทางแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน pm 2.5" ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ
โดย นายอุตตม กล่าวเปิดการเสวนาว่า เรื่องของฝุ่น pm2.5 เป็นเรื่องที่พรรคให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยได้ขึ้นมาให้เป็นวาระระดับชาติ ที่เชียงใหม่กำลังประสบปัญหาอย่างรุนแรง แต่จริงๆแล้วในกรุงเทพฯเองปัญหาก็มี และพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ซึ่งหากปล่อยไปก็จะเป็นปัญหาในระยะยาว เกิดผลกระทบต่อประชาชน ดังนั้นพรรคพลังประชารัฐในฐานะพรรคการเมือง ยืนยันจะเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายที่พรรคได้ประกาศไว้อย่างจริงจัง เพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้โดยไม่รอว่าจะต้องเป็นรัฐบาล
ด้านนายสนธิรัตน์ กล่าวว่า เป้าหมายระยะสั้นคือทำอย่างไรให้ปัญหาฝุ่นควันไฟป่าของ จ.เชียงใหม่ และภาคเหนือตอนบนเบาบางลง และไม่เกิดขึ้นอีก ต้องนำอากาศที่ดีกลับสู่พี่น้องประชาชน ซึ่งตนได้หารือกับ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในการช่วยดูแลเรื่องไฟป่าและการทำฝนเทียมแล้ว แต่ค่อนข้างที่จะมีอุปสรรคจากสภาพอากาศ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่ทุกภาคส่วนจะได้มาแลกเปลี่ยนและหาทางออกร่วมกันในวันนี้
โดยนายวีระวิทย์ แสงจักร ตัวแทนผู้ประสบภัย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จ.เชียงใหม่ ต้องอยู่กับฝุ่นควันพิษมานานกว่า 2 เดือน คนในพื้นที่ทุกข์ทรมาน มีโรคภัยตามมา จึงต้องการให้พรรคพลังประชารัฐนำปัญหาเสนอต่อรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือและแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะเรื่องของสุขอนามัย เพราะขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานด้านสาธารณสุขลงไปช่วยเหลือ มีเพียงอาสาสมัครในพื้นที่ 30 องค์กรที่ลงขันกันผลิตเครื่องฟอกอากาศ แจกหน้ากากอนามัย ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ดังนั้นอยากให้เกิดการบูรณาการอย่างถาวร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
นายวีระชัย เจือสันติกุลชัย กลุ่ม Clean Ari For All กล่าวว่า ฝุ่นที่ จ.เชียงใหม่ ร้ายแรงเท่ากับการสูบบุหรี่ 18 มวน ดังนั้นในระยะเร่งด่วนอยากให้ภาครัฐและทุกภาคส่วนช่วยกันยกระดับการตระหนักรู้ต่อประชาชน ถึงพิษภัยของฝุ่นควันไฟป่า ควบคู่กับมาตรการ การแก้ปัญหาในระยะยาว
ด้านนายรุจิพัฒน์ สุวรรณสัย กลุ่มล่ามช้าง กล่าวว่า ปัญหาต้นเหตุทางภาคเหนือไม่ได้มีปัญหาหลักจากอุตสาหกรรมและเผาไหม้รถยนต์ แต่เป็นการเผาไหม้ในพื้นที่ เพราะหากดูจากจุดฮอตสปอตกว่า 80% เกิดในพื้นที่ป่าและไม่ใช่ไฟป่าที่เกิดขึ้นเอง แต่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ซึ่งมีแรงจูงใจแม้รู้ว่าเป็นสิ่งไม่ดี นั่นคือชาวบ้านไม่มีอาชีพ ไม่มีเงิน จึงคิดว่าการเผาเพื่อเก็บของป่าขายเป็นการหารายได้
นอกจากนี้ มาตรการห้ามเผาเด็ดขาด เริ่มมา 4-5 ปี หากเอากฎหมายมาวางจะสามารถคุมทั้งจังหวัดได้ แต่ท้ายสุดแล้วไม่สามารถคุยกับประชาชนได้ และเกณฑ์การใช้มีความย่อหย่อนมาตลอด ช่วงมีปัญหาหนักอยู่ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน จากผลสำรวจตั้งแต่ปี 2014 – 2018 ซึ่งค่า PM 10 จะเกินค่าเพียงไม่กี่วัน แต่ PM 2.5 เกิดขึ้นทุกวัน และจะหายไปต่อเมื่อฝนตก และอีก 20% เกิดจากการเผาในพื้นที่เกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวซึ่งมีพันธะสัญญาว่า ปลูกเท่าไหร่รับซื้อหมด เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จก็เผา
"บ้านเราก็ทำ พม่าก็ทำ ลาวก็ทำ เมื่อลมมา จึงพัดมายังประเทศไทย ถือเป็นการรับอิทธิพลข้ามแดน เมื่อชาวบ้านไม่มีองค์ความรู้ ไม่มีทางเลือก จึงต้องทำเช่นนั้น ดังนั้น ต้องหาแนวทางให้คนที่อยู่รอบๆป่ามีทางเลือก และมีองค์ความรู้ หากเราเผาด้วยจะหนักเป็น 60 เท่า จากโมเดลที่ทำกัน ต้องหาสาเหตุว่าปัญหามาจากอะไร แต่งบวิจัยไม่พอ เพราะ 90% เป็นงบประมาณใช้ดับไฟ ดังนั้น หากสร้างชุดคณะทำงานขึ้นมา ต้องเน้นการมีส่วนร่วม มากกว่าจะเป็นการทำงานแบบซุปเปอร์แมน และจะทำให้จังหวัดเชียงใหม่กลับมาน่าท่องเที่ยวเหมือนเดิม" นายรุจิพัฒน์ กล่าว
ภายหลังการเสวนา นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า จะใช้โอกาสนี้ในการผลักดันปัญหาเรื่องของฝุ่นควัน pm 2.5 ให้เป็นวาระระดับชาติ พร้อมยกระดับการตระหนักรู้ในเรื่องดังกล่าวให้กับประชาชนได้รับทราบ เนื่องจากประชาชนส่วนมากยังคงขาดความรู้ในเรื่องนี้ เพราะคนไทยส่วนมากต่างก็เพิ่งรู้จักเรื่องฝุ่นควัน pm 2.5 กันในปีนี้ จึงเสนอให้ยึด เรื่องประเด็นของ pm 2.5 เป็นตัวตั้งในการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นควัน เพื่อผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ รวมถึงเดินหน้าผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เกิดขึ้น ทั้งนี้พรรคพลังประชารัฐ ได้มอบหมายให้ นายกอบศักดิ์ โฆษกพรรค เป็นผู้รับผิดชอบ โดยตั้งคณะทำงานเชิญผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และบุคคลในพื้นที่ให้เข้ามาช่วยกันแก้ปัญหา
นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า สำหรับส่วนที่จะต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐนั้น เบื้องต้นตนจะประสานไปยัง รมต.ที่เกี่ยวข้องให้ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ หากเรื่องใดมีความชัดเจนในแนวทางการแก้ไขแล้ว ตนจะนำไปเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป และหากเราได้เป็นรัฐบาลก็จะเดินหน้าแก้ปัญหาทันที