อดีต กรธ.ชี้ คำนวณ ปาร์ตี้ลิสต์ คลุมทุกพรรค เล็ก-ใหญ่
'ชาติชาย' อดีต กรธ.ยัน เสียงปริ่มน้ำไม่ได้เกิดจากระบบเลือกตั้งแต่เกิดจากคนเลือกพรรคการเมืองเปลี่ยนไป ชี้สูตรปาร์ตี้ลิสต์ ต้องนำทุกคะแนนเสียงของทุกพรรคมาคิดด้วย
อดีต กรธ.ยัน เสียงปริ่มน้ำ ไม่ได้เกิดจากระบบเลือกตั้ง แต่เกิดจากคนเลือกพรรคการเมืองเปลี่ยนไป ชี้สูตรปาร์ตี้ลิสต์ ต้องนำทุกคะแนนเสียงของทุกพรรคไม่ว่าใหญ่หรือเล็กที่ส่งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมาคิดด้วย
นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ อดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ในการจัดตั้งรัฐบาลที่แต่ละฝ่ายมีคะแนนปริ่มน้ำที่ 250 เสียง ซึ่งสาเหตุก็ไม่ได้เกิดจากระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญแต่เกิดจากพฤติกรรมของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป คนกลุ่มใหญ่ที่ผ่านความขัดแย้งมา 10 กว่าปี ก็จะเลือกพรรคการเมืองใหญ่ คนรุ่นใหม่กว่า 8 ล้านเสียง ก็จะเลือกอีกพรรคการเมืองหนึ่ง ที่ไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองเรื่องสีเสื้อ ประกอบกับพรรคขนาดกลางในระดับจังหวัด อย่างบุรีรัมย์ ชลบุรี และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ได้รับความนิยมไปในแต่ละภูมิภาค ผลการเลือกตั้งเบื้องต้นที่ออกมา จึงพบจำนวนส.ส.จึงขยายไปยังหลายพรรค โดยไม่ได้เกิดจากกติกา ส่วนตัวมองว่า ถ้าเป็นแบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เสียงของส.ส.จะยิ่งกระจายไปหลายพรรคมากกว่านี้อีก ขนาดบัตรเลือกตั้งใบเดียวที่กำหนดให้เลือกเพียงอย่างเดียวเสียงยังปริ่มขนาดนี้ ถ้าบัตร2ใบ เชื่อว่า จะยิ่งกว่านี้
อดีต กรธ. กล่าวอีกว่า เมื่อผลการเลือกตั้งเบื้องต้นออกมาแบบนี้ จึงมีการชิงไหวชิงพริบทางการเมืองกันทันที พรรคเพื่อไทยที่ใช้ยุทธศาสตร์แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อยก็จะตีโพยตีพายไม่ได้ จึงต้องชิงการนำด้วยการคิดสูตรจำนวนส.ส.ก่อน โดยการคำนวณไม่นำพรรคเล็กที่ได้ไม่ถึง 7.1 หมื่นเสียงมาคิด จนทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ลังเล จึงส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งสูตรการคิดนี้ ศาลอาจไม่รู้ก็ได้เนื่องจากการคิดเป็นอำนาจหน้าที่ของกกต.โดยตรง ส่วนสูตรการคิดนั้น กรธ.ก็ยืนยันชัดเจนว่า ต้องนำทุกคะแนนเสียงของทุกพรรคไม่ว่าใหญ่หรือเล็กที่ส่งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมาคิดด้วย หากจะยึดแค่ 7.1 หมื่นเสียงเป็นหลักถึงได้ 1 ส.ส. แล้วถามว่า ตอนคำนวณที่ต้องมีการปัดเศษส.ส.บัญชีรายชื่อไปให้พรรคที่ได้คะแนนถึง 7.1 หมื่นอย่างเดียว แต่เศษทศนิยมของพรรคนั้นน้อยกว่าพรรคเล็กจะตอบอย่างไร