ข่าว

AOT เสือนอนกินกับบริการโคตรแย่!

AOT เสือนอนกินกับบริการโคตรแย่!

17 เม.ย. 2562

เรามักจะได้ยินเสียงนักบินประกาศก่อนเครื่องบินจะทำการลงจอด ณ สนามบินสุวรรณภูมิ

คอลัมน์ที่นี่ไม่มีความลับ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3462 หน้า 12 ระหว่างวันที่ 17-20 เม.ย.2562 โดย... เอราวัณ

 

AOT เสือนอนกิน

กับบริการโคตรแย่!

 

          ผู้โดยสารที่ขึ้นลงเครื่องบิน  ณ สนามบินสุวรรณภูมิ ภายใต้การบริหารงานของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT คงชาชินกับการ “ล่าช้า”  (delay) ทั้งเข้าและออก จนกลายเป็นเรื่องปกติ เสมือนครั้งที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่เคยถูกคำล้อเลียนว่า “ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่างมาแล้ว”  แต่การล่าช้าของ flight บินที่ใช้บริการสนามบินสุวรรณภูมิ เกิดจากการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพของ AOT

          เรามักจะได้ยินเสียงนักบินประกาศก่อนเครื่องบินจะทำการลงจอด ณ สนามบินสุวรรณภูมิ ว่า “เราได้รับแจ้งจากหอควบคุมการบินว่าจะต้องบินวนก่อน เพราะการจราจรคับคั่งในสนามบินสุวรรณภูมิ” หลังๆ นักบินประกาศจนเบื่อจะประกาศ ต้องบินวนรอลงจอดราว 20-40 นาที่ ต่อ flight ในระดับความสูงราว 3,000-5,000 ฟุต ซึ่งเป็นระยะ “ไม่ปลอดภัย” ของการบิน แต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะ  “เสือนอนกิน” อย่าง AOT รับ flight บินมากเกินตัว จนทำให้การจราจรทางอากาศ ณ สุวรรณภมิ มีปัญหา

         นอกจาก “อันตราย” ของการบินวนต่อชีวิตผู้โดยสาร และยังกระทบกับสุขภาพที่ต้องทนอยู่กับภาวะ “ความกดอากาศที่ไม่เหมาะสม”อยู่เป็นเวลานาน ยังกระทบกับตารางนัดหมายของผู้โดยสาร และต้นทุนของสายการบิน ที่ต้องแบกรับกับความ “ห่วยแตก” ของสนามบินสุวรรณภูมิ

          ขณะที่ AOT หาได้แสดงความรับผิดชอบต่อการบริหารอันไร้ประสิทธิภาพไม่ ยังเก็บภาษีสนามบินจากผู้โดยสารเท่าเดิมและแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากนั้นยังเก็บค่าธรรมเนียมการลงจอดของสายการบินต่างๆ แพงหู่ฉี่ จนองค์กรเสือนอนกินแห้งนี้รวยเอารวยเอา พนักงานและผู้บริหารแบ่งโบนัสกันสบายใจเฉิบ

          ไปตรวจดูพบว่าการบริหารอันไร้ความรับผิดชอบกับผู้โดยสารและสายการบิน AOT มีรายได้ 56,744.27 ล้านบาท ในปี 2560 โดยในปีนั้นมีกำไรสุทธิ 20,683.60 ล้านบาท และเพิ่มรายได้เป็น 62,135.93 ล้านบาท ในปี 2561 กำไรเติบโตเป็น 25,170.76 ล้านบาท เป็นเพราะการเพิ่มการรับจำนวนผู้โเยสาร และ flight บินที่มากขึ้น “เกินกำลัง” ที่สนามบินจะรับได้จนส่งผลกระทบต่อประชาชนและธุรกิจสายการบิน

          ความจริงหากเกินกว่าความสามารถสนามบินจะรับไหวก็ควรกระจายให้ไปใช้สนามบินอื่น เช่น ดอนเมือง หรือ อู่ตะเภา อันจะทำให้ลดผลกระทบต่อผู้โดยสารและสายการบิน หาใช่การคิดแต่ปริมาณเพื่อหวังรายได้และผลกำไรที่มากขึ้นเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด องค์กรแห่งนี้ที่รัฐถือหุ้นใหญ่ผ่านกระทรวงการคลัง ถึง 70 % ควรคิดถึง “ธรรมาภิบาลในการบริหาร” มากกว่านี้ มิใช่มุ่งบริหารเพื่อเอากำไร ไปแบ่งโบนัสสูงสุด 7.75 เดือนในปีที่ผ่านมาให้พนักงาน และโบนัสงามๆ ให้กรรมการของบริษัท สิ่งที่ AOT ต้องคำนึงสูงสุดคือประโยชน์และความสะดวกสบายของผู้โดยสาร ถ้าทำไม่ได้ ผู้บริหารของ AOT ทั้งตัวประธานและกรรมการผู้จัดการบริษัท ไม่ควรนั่งบริหารอยู่ต่อไป