"ผู้ตรวจฯ"ขีดเส้น60วันให้คกก.วัตถุอันตรายทบทวนใช้สารพาราควอต
"ผู้ตรวจฯ"ขีดเส้น 60 วันให้คกก.วัตถุอันตราย ทบทวนใช้สารพาราควอต พร้อมประกาศยกเลิกให้ชัดเจนตั้งแต่1ม.ค.63 ขู่เพิกเฉยไม่ดำเนินการ รายงานนายกฯ ส่งป.ป.ช.เอาผิด
เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 25 เม.ย. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวภายหลังผู้ตรวจการแผ่นดินประชุมร่วมกับคณะกรรมการวัตถุอันตรายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีพบว่า
คณะกรรมการวัตถุอันตรายยังไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจฯ ที่ให้เดินหน้ายกเลิกสารเคมีพาราควอตตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 63 ว่า เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 61 ผู้ตรวจฯ ได้เสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 3 ประเด็น คือ1.ให้มีการประกาศยกเลิกการใช้สารพาราควอตตั้งแต่ 1 ม.ค.63 2.สร้างความรู้ความเข้าใจและควบคุมการใช้สารพาราควอต และ3.พิจารณาใช้สารอื่นทดแทนซึ่งพบว่าจนถึงปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเน้นในเรื่องของการให้ความรู้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สารพาราควอต
"แต่ประเด็นสำคัญที่ยังไม่มีการพูดถึงคือการยกเลิกสารอันตรายดังกล่าว ทางผู้ตรวจฯ จึงเห็นว่ายังไม่มีความชัดเจนในการปฏิบัติ จึงได้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสอบถามปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการ และยืนยันมติของผู้ตรวจฯ ว่าอย่างไรก็ตามคณะกรรมการวัตถุอันตรายต้องยกเลิกการใช้สารพาราควอตตั้งแต่ 1 ม.ค. 63 โดยผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมได้ชี้แจงเหตุผลที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายยังไม่มีการประกาศยกเลิก เป็นเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ ประชาชนยังคุ้นเคยกับการใช้สารดังกล่าว และยังไม่มีสารอื่นทดแทน รวมทั้งคิดว่าสามารถควบคุมไม่ให้เกิดอันตรายได้ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขก็ยังคงยืนยันข้อมูลว่าสารดังกล่าวเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และผู้แทนของคณะกรรมการวัตถุอันตรายก็อ้างว่าตนเองไม่มีอำนาจ จึงขอนำความเห็น และข้อห่วงใยของผู้ตรวจฯ ครั้งนี้ไปเสนอให้กับคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้พิจารณา "
นายรักษเกชา กล่าวอีกว่า ทางผู้ตรวจฯ จึงให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายไปพิจารณาทบทวนเรื่องดังกล่าวภายใน 60 วัน โดยมีเป้าหมายคือต้องประกาศยกเลิกการใช้สารพาราควอต ตั้งแต่ 1 ม.ค. 63 แต่ถ้ามีเหตุขัดข้องก็พร้อมที่จะรับฟัง แต่ต้องเป็นเหตุผลอันสมควรว่าเพราะเหตุใดยังคงต้องใช้สารดังกล่าวในการเกษตร ถ้าเหตุผลที่ชี้แจงมาทางผู้ตรวจฯ เห็นว่าไม่เพียงพอ ก็จะเสนอให้นายกรัฐมนตรีนำเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่อไป ตามมาตรา 33 ของพ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือหากเพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ ทางประธานผู้ตรวจการแผ่นดินก็ได้แจ้งในที่ประชุมร่วมแล้วว่าเข้าข่ายหัวหน้าหน่วยงานเพิกเฉย ไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจฯ โดยไม่มีเหตุสมควร ทางผู้ตรวจฯ ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะต้องเสนอเรื่องดังกล่าวไปให้คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณา โดยถือว่าจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลร้ายแรง ซึ่งทางป.ป.ช.ก็จะใช้สำนวนของผู้ตรวจการฯ เป็นหลักในการพิจารณาไต่สวนชี้มูล