ก.ม. ขัดกัน ผู้ตรวจฯ ส่ง ศร. ชี้ขาดปาร์ตี้ลิสต์
ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่ง ศร. วินิจฉัยปมคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ชี้ พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ม.128 ขัดรัฐธรรมนูญ ม.91
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 62 นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงภายหลังการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาคำร้องของ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)
ขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับปัญหาในการเลือกตั้งหลายประเด็น โดยที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเอกฉันท์ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ซึ่งกำหนดเกี่ยวกับวิธีการคำนวณหา ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 โดยเห็นในรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 มีการกำหนดวิธีการคำนวณไว้ 5 อนุมาตรา แต่เมื่อมาบัญญัติเป็น พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กลับมีการขยายเพิ่มเป็น 8 อนุมาตรา โดยอนุ 4 อนุ 6 และอนุ 7 ขยายข้อความนอกเหนือมาตรา 91 ที่ระบุ ส.ส. พึงมีเบื้องต้น ทำให้การคำนวณ ส.ส. ไม่เป็นไปตามเจตจำนงของรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 จึงให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ (ศร.) วินิจฉัย ซึ่งทางสำนักงานฯ จะพยายามยกร่างคำวินิจฉัยให้แล้วเสร็จและส่งให้ได้ภายในวันนี้ หรืออย่างช้าภายในวันที่ 29 เม.ย.
นายรักษเกชา กล่าวอีกว่า ความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีผูกพันกับองค์กรอื่น แต่ กกต. อาจใช้เป็นแนวทางในการพิจารณา หรือจะดำเนินการอย่างไรก็เป็นอิสระ โดยผู้ตรวจฯ ไม่ต้องทำหนังสือเสนอแนะไปยัง กกต. ส่วนการพิจารณาของศาลจะมีผลอาจทำให้ กกต. ไม่สามารถประกาศรับรองผลการเลือกตั้งได้ทันวันที่ 9 พ.ค. หรือไม่ ไม่ทราบ เพราะผู้ตรวจฯ จะพิจารณาเฉพาะว่าองค์กรมีหน้าที่ต้องปฏิบัติอย่างไร
นายรักษเกชา กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นขอให้วินิจฉัยว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 91 วรรคสาม มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 (4) และมาตรา 91 (4) มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 83 (2) ซึ่งทั้ง 3 บทบัญญัติเกี่ยวข้องกับการจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติให้ยุติคำร้อง เนื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจพิจารณากรณีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญขัดกันเอง ส่วนกรณีร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะจากประเด็นจำนวนรายงานผลนับคะแนนไม่ตรงกัน มีปัญหาคลาดเคลื่อนบัตรเขย่ง จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์และจำนวนบัตรแตกต่างกันอยู่ 9 ใบ ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า เป็นการแถลงข่าวจำนวนอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลในเบื้องต้น จึงไม่ใช่การกระทำที่ไม่สุจริต
ขณะที่ประเด็นการไม่นำบัตรเลือกตั้งนิวซีแลนด์มานับรวม กกต. ก็ได้มีการวินิจฉัยตามข้อกฎหมาย ซึ่งเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ไม่เข้าข่ายเป็นความผิด ส่วนที่ร้องว่าไม่มีการแจ้งผลคะแนนให้ประชาชนได้รับทราบ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางปฏิบัติ กกต. แจ้งว่ามีการติดประกาศที่หน้าหน่วยเลือกตั้งอยู่แล้วประชาชนสามารถไปตรวจสอบได้ สำหรับประเด็นที่ร้องว่า นำบุคคลที่ไม่มีสัญชาติมารวมในการคิดคำนวณแบ่งเขตเลือกตั้งนั้น ตามมาตรา 86 ของรัฐธรรมนูญกำหนดว่าการประกาศเขตเลือกตั้งให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งหมดทั่วประเทศมาคำนวณ อาจจะมีทั้งที่เป็นคนไทยและผู้ไม่มีสัญชาติไทย เพื่อให้รู้ว่าพื้นที่มีขนาดแค่ไหน ควรมี ส.ส. กี่คน การดำเนินการส่วนนี้ของ กกต. ถือว่าเป็นไปตามกฎหมาย จึงมีมติเอกฉันท์ว่าการดำเนินการดังกล่าวยังไม่เข้าข่ายการเลือกตั้งไม่สุจริต จึงยุติเรื่องไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะตามที่ยื่นคำร้อง