สหรัฐทบทวนแชร์ข้อมูลพันธมิตรใช้หัวเว่ย"ไทย-ปินส์"ส่อเข้าข่าย
คำขู่ทบทวนการเชื่อมต่อและแชร์ข้อมูลกับประเทศที่ใช้บริการของ หัวเว่ย อาจมีผลพัวพันถึงพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทยและฟิลิปปินส์
เซาท์ ไชนา มอร์นิง โพสต์ สื่อฮ่องกง รายงานอ้างคำกล่าวของ รอเบิร์ต สเตรเยอร์ รองผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ฝ่ายนโยบายสารสนเทศ การสื่อสารระหว่างประเทศ และไซเบอร์ ว่า การสอดแทรก "หัวเว่ย" หรือผู้ค้าที่ไม่น่าไว้วางใจรายใดก็ตามในเครือข่ายสื่อสารระบบ 5จี สำหรับสหรัฐ ถือเป็นความเสี่ยง สหรัฐจะประเมินความสามารถในการแบ่งปันข้อมูล และวิธีการแลกเปลี่ยน โดยไม่มีการแยกแยะความแตกต่างระหว่างการใช้เทคโนโลยีหัวเว่ยในโครงสร้างหลักหรือบางส่วนในโครงข่าย 5จี
สเตรเยอร์ แสดงความเห็นเรื่องนี้ก่อนร่วมประชุมเกี่ยวกับแนวทางการใช้เทคโนโลยี 5จี ที่กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก เมื่อวันจันทร์ ( 29 เม.ย.) และถูกถามถึงอนาคตการสื่อสารและแชร์ข้อมูลกับพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สเตรเยอร์ ยังชี้ถึงความเสี่ยงจากกฎหมายข่าวกรองของจีน ที่สามารถบังคับบริษัทต่างๆส่งมอบข้อมูลให้แก่รัฐบาล และเสรีภาพในการแสดงความเห็น การชุมนุมอย่างสงบหรือเสรีภาพทางศาสนาที่อาจจะย่อหย่อน ยกตัวอย่างการสอดแนมของรัฐบาลปักกิ่ง ในเขตปกครองตนเองซินเจียง ทางตะวันตกไกลของจีน ที่นำไปสู่การกักขังชาวอุยกูร์กว่า 1 ล้านคน
ซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ รายงานบนพาดหัว US threat to rethink sharing information with nations using Huawei has implications for Thailand and Philippines ระบุว่า จุดยืนของสหรัฐอาจมีผลพัวพันต่อประเทศไทยและฟิลิปปินส์ สองพันธมิตรในภูมิภาค ที่ใช้อุปกรณ์หัวเว่ยในโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสาร และกำลังทดสอบอุปกรณ์ของหัวเว่ย ขณะมาเลเซียก็มีแนวโน้มที่จะเป็นลูกค้า เพราะไม่ได้มองว่ายักษ์สื่อสารของจีนรายนี้เป็นภัยคุกคามความมั่นคง
ขณะสัปดาห์ที่แล้ว มีข้อมูลรั่วจากสภาความมั่นคงแห่งชาติอังกฤษว่า นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ จะไฟเขียวให้หัวเว่ยเข้าไปช่วยพัฒนาเครือข่าย 5จี ในส่วนที่ไม่ใช่โครงการหลักด้วย
ทิโมที เฮล์ท นักวิเคราะห์ แรนด์ คอร์เปอเรชัน อดีตเคยทำงานกับกองบัญชาการแปซิฟิกของสหรัฐ กล่าวว่า การซื้อระบบ 5จี ของจีน จะทำให้ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องพึ่งเทคโนโลยีจีนมากขึ้นในอนาคต
“ในแง่การแบ่งปันข่าวกรอง ความร่วมมือระหว่างสหรัฐกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจกระทบ ความสามารถของกองทัพสหรัฐในการให้ความร่วมมือกับกองทัพในภูมิภาค และกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่อต้านภัยก่อการร้ายและอาชญากรแล้ว อาจทำไม่ได้เต็มที่ เพราะสหรัฐไม่มีเทคโนโลยีสื่อสารเครือข่าย 5จี ที่สอดรับกัน”