เฉลิมพระนามาภิไธยใหม่ สมเด็จพระเทพฯ
ในหลวง มีพระบรมราชโองการเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเทพฯ
ในหลวง มีพระบรมราชโองการเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็น "สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี"
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 5 พ.ค.2562 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จฯ จากพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานไปยัง พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทางพระทวารเทวราชมเหศวร ในพระบรมมหาราชวัง ในการพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ราชประเพณีซึ่งมีสืบมาแต่โบราณ เมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้วย่อมโปรดให้สถาปนาพระเกียรติยศพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยะชาติ สยามบรมราชกุมารี เป็นพระโสธรกนิษฐภคินี ที่ได้ทรงร่วมสุขร่วมทุกข์มาแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อทรงเจริญพระชนมายุก็ได้ทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมราชชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ เป็นคุณูปการแก่ประเทศชาติ และอาณาประชาราษฎร์อย่างใหญ่หลวง เป็นอเนกประการ
ครั้นในรัชกาลปัจจุบันก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในหลายวาระ และช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจน้อยใหญ่ที่สืบเนื่องมาแต่ครั้งรัชสมัยพระบรมราชชนกนาถ ให้ดำเนินล่วงไปด้วยความเรียบร้อย เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย สมควรจะยกย่อง พระเกียรติยศตามฐานะแห่งพระบรมราชวงศ์ จึงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธย “สมเด็จพระขนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจจการินี พิรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี” ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระขนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจจการินี พิรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี” และพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1 ขอจงเจริญพระชนมายุ พรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิ์ พิพัฒนมงคลวิบุลศุภผล ธนสารสมบูรณ์ วรเกียรติคุณอดุลยยศ ปรากฏยิ่งยืนนานตลอดจิรัฏฐิติกาล เทอญ ประกาศ ณ วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน
สมเด็จพระขนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจจการินี พิรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เข้าเฝ้าฯ หน้าพระราชอาสน์ พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ ใบมะตูม ทรงเจิม พระราชทานพระสุพรรณบัฏและเหรียญรัตนาภรณ์ ร.10 ชั้นที่ 1 พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร และดุริยางค์
พระราชประวัติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
พระราชสมภพ เมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ด้วยเหตุที่ทรงบำเพ็ญพระราชกิจจานุกิจนานัปการอันเป็นประโยชน์แก่แผ่นดิน และราษฎร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สถาปนาพระราชอิสริยยศและพระราชอิสริยศักดิ์เป็น “ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี” ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2520 และจากพระวิริยะอุตสาหะในการทรงศึกษาหาความรู้และบำเพ็ญพระราชกิจนานัปการ พระเกียรติคุณ เป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้ง ทั้งในราชอาณาจักร และนานาชาติ จึงทรงรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แห่งราชอาณาจักรไทยและทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศได้แก่พระราชพิธีสถาปนาพระราชอิสริยศักดิ์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
การศึกษา
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเริ่มต้นการศึกษาระดับอนุบาล ณ โรงเรียนจิตรลดา ในเขตพระราชฐาน พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต โดยทรงศึกษา ต่อเนื่องไปจนถึงระดับมัธยมศึกษา ตลอดระยะเวลาที่ทรงศึกษา ทรงเอาพระทัยใส่ในการเรียน โปรดการอ่าน และการศึกษาวรรณคดี ทั้งของไทยและต่างประเทศ ทรงเริ่มแต่งคำประพันธ์ต่างๆ ทั้งร้อยแก้ว และร้อยกรอง ตั้งแต่ยังทรงศึกษา ในชั้นประถมศึกษา โปรดการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน ทั้งด้านกีฬา ดนตรี บันเทิง และกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์
หลังจากทรงสำเร็จการศึกษา ประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย ในแผนกศิลปะ จากโรงเรียนจิตรลดา เมื่อปี 2516 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสอบเข้าศึกษาต่อ ในระดับอุดมศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้จะมีพระราชภารกิจ โดยเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ แต่ก็ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะ ในการเรียนอย่างยิ่ง และยังทรงร่วม กิจกรรมของคณะ และของมหาวิทยาลัย เช่นเดียวกับนิสิตทั่วไป ในปีการศึกษา 2519 ทรงสำเร็จการศึกษา และทรงเข้ารับพระราชทานปริญญา อักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง สาขาวิชาประวัติศาสตร์
หลักคิดในการใช้การศึกษาเป็นปัจจัยหลักในการสร้าง และพัฒนาความรู้ ความคิดของประชาชน และเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน และสังคม ที่ทรงได้รับจากการศึกษา ในระดับดุษฎีบัณฑิต ผนวกกับประสบการณ์ ที่ทรงเรียนรู้ จากการโดยเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นพื้นฐานความรู้ที่แข็งแกร่ง ในการทรงงานพัฒนา ของพระองค์เอง ในเวลาต่อมา จวบจนปัจจุบัน
นอกเหนือจากการศึกษาในระบบ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังสนพระทัยศึกษาเพิ่มเติม ดูงาน ประชุมสัมมนา และฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ ในวิชาการด้านอื่นๆ อีกหลายด้าน เช่น ภูมิศาสตร์กายภาพ อุทกศาสตร์ พฤกษศาสตร์ การจัดการทรัพยากรดินและน้ำ รีโมตเซนซิ่ง ระบบภูมิสารสนเทศ แผนที่ โภชนาการ เป็นต้น ด้วยมีพระราชประสงค์ ที่จะนำความรู้ที่ได้จากวิชาการเหล่านี้ ไปประยุกต์ใช้ในการทรงงานพัฒนาชุมชน และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร
หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาแล้ว ในปี 2523 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเข้ารับราชการเป็นอาจารย์กองวิชากฎหมายและสังคมศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ทรงสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยและสังคมวิทยา ต่อมาปี 2530 ได้มีการตั้งกองวิชาประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระยศ พันเอก ทรงดำรงตำแหน่งหัวหน้ากอง (ซึ่งต่อมาได้มีการขยายตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกองในปี 2532 พร้อมกับกองอื่นๆ) ทรงเป็นผู้อำนวยการกองวิชาประวัติศาสตร์พระองค์แรกจนถึงปัจจุบัน มีพระราชภารกิจ ทั้งการบริหาร การสอน และงานวิชาการอื่น ๆ ต่อมา ทรงได้รับพระราชทานพระยศ พลเอก ในปี 2539 และทรงได้รับโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ (อัตราจอมพล) ในปี 2543 นอกจากนี้ ยังได้ทรงรับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษบรรยายวิชาการ ณ สถาบันการศึกษาต่าง ๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยศิลปากร
พระราชกิจ
นอกเหนือจากพระราชภารกิจในหน้าที่ราชการ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆครอบคลุมงานสำคัญ ๆ อันเป็นประโยชน์หลักของบ้านเมือง เกือบทุกด้าน และทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย ให้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่ทรงสืบสาน ต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มอบหมาย โดยเฉพาะการทรงงาน ด้านการบริหารองค์การ และมูลนิธิ เพื่อสาธารณกุศล ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย รวมทั้งการเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ และการปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในโอกาสต่างๆ เช่น การพระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะบุคคลต่างๆ เฝ้า ฯ การพระราชทานปริญญาบัตร การถวายผ้าพระกฐิน เป็นต้น.