สินค้าเกษตรออนไลน์
คอลัมน์ - ทำกินถิ่นอาเซียน โดย - รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ [email protected]
ช่วงนี้เห็นเรื่องการขายสินค้าเกษตรออนไลน์กำลังอยู่ในกระแสนิยมและทางภาครัฐก็ให้การสนับสนุนให้เกษตรกรได้ทำการค้าขายโดยตรงกับผู้บริโภคด้วยข้อดีหลายประการ เช่นการตัดเรื่องพ่อค้าคนกลาง การได้ของมีคุณภาพสดใหม่ การได้ช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง การขยายตลาดสินค้าได้กว้างขวางขึ้น ซึ่งนับเป็นข้อดีที่ควรสนับสนุนและผลักดันให้เกษตรกรได้มีความรู้และมีทักษะในการขายสินค้าเกษตรออนไลน์ได้
ครั้งหนึ่งผมมีโอกาสไปเป็นวิทยากรเพื่อให้ความรู้ในเรื่องการขายสินค้าเกษตรออนไลน์ โดยเจาะจงไปที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในอำเภอสวรรคโลก จ.สุโขทัย โดยเป้าหมายต้องการให้เกษตรกรรู้เรื่องการค้าขายออนไลน์ ตั้งแต่สร้างร้านค้า ประชาสัมพันธ์และโฆษณาสินค้าไปจนถึงสามารถขายผลผลิตได้ ซึ่งโจทย์แบบนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากพอควรเพราะอย่างที่เราท่านทราบกันว่าส่วนใหญ่เกษตรกรบ้านเราจะเก่งกันในเรื่องการผลิต เรื่องขายของก็พอจะทำกันได้แบบที่อยากจะทำ ไม่มีการวางแผนธุรกิจอะไรกันมากมาย
แต่การที่จะให้เกษตรกรก้าวมาทำการขายของออนไลน์ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามาช่วย บวกกับต้องมีวิธีการที่แปลกๆ เพิ่มขึ้นมาอีกก็คงจะเป็นเรื่องยากกันเลยทีเดียว แรกสุดที่ได้รับโจทย์นี้ผมคิดในทางลบตลอดเพราะจากประสบการณ์ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับงานส่งเสริมการเกษตรมาก็ไม่เคยมีการทำในลักษณะนี้มาก่อน ส่วนใหญ่เป็นการให้ความรู้แนวคิด และวิธีการธรรมดาสามัญที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการสื่อสารมาก่อน
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงแค่แนวคิด ทัศนคติและการปฏิบัติจากที่เกษตรกรเคยทำก็เป็นเรื่องยากอยู่แล้ว นี่ยังมาเพิ่มเรื่องคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีเข้าไปอีกก็น่าจะยากเพิ่มขึ้นอีกเป็นสองเท่า แต่หลังจากที่ผมมีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่เป็นกลุ่มเป้าหมายก็เริ่มสบายใจขึ้นครับ เพราะในทุกวันนี้เกษตรกรส่วนใหญ่มีความใกล้ชิดและคุ้นเคยกับเทคโนโลยีการสื่อสารเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโทรศัพท์ที่เป็นสมาร์ทโฟน
แม้จะเอาไว้ใช้งานเพื่อโทรคุยกันแต่ก็มีการใช้ดูข้อมูลข่าวสารการใช้เฟซบุ๊กและไลน์อยู่พอสมควร และเมื่อลองถามต่อไปถึงเรื่องการขายของออนไลน์ เกษตรกรส่วนใหญ่ก็รู้จักกันแต่จะเข้าใจกันแตกต่างกันไปบ้าง บางส่วนก็ว่าดีบางส่วนก็รู้สึกว่าไม่น่าใช้เพราะได้ยินเรื่องการหลอกลวงกันอยู่ แต่เมื่อลองให้ข้อมูลประกอบในแง่ของวิธีการและประโยชน์ที่ได้รับแล้วเกษตรกรก็ค่อนข้างมีความรู้สึกและทัศนคติที่ดีต่อการเปิดร้านขายของออนไลน์เพิ่มขึ้น
แต่สิ่งที่เขากังวลก็คือเรื่องเชิงเทคนิคเกี่ยวกับเทคโนโลยีและการจัดการร้านค้าที่ต้องทำผ่านคอมพิวเตอร์เท่านั้นเอง แต่ก็สามารถแก้ปัญหาโดยให้ลูกหลานช่วยได้ แต่ในส่วนของการจัดหาสินค้า การส่งสินค้า การรับค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง เมื่อเข้าสู่การเรียนรู้และทดลองทำร้านค้าออนไลน์เกษตรกรส่วนใหญ่ก็รู้สึกตื่นเต้นสนุกสนานกับการออกแบบร้านค้า การลองถ่ายภาพสินค้าเพื่อทำการโฆษณา การทดลองทำคลิปวิดีโอเพื่อรีวิวสินค้าเพื่อให้เห็นขั้นตอนการผลิตที่มีคุณภาพ รวมถึงการลองคำนวณราคาสินค้าเพื่อกำหนดความคุ้มทุนและผลตอบแทนที่ควรจะได้
เมื่อเกษตรกรมองเห็นความชัดเจนในเรื่องของกระบวนการค้าขายและผลตอบแทนที่ได้รับจากการค้าขายออนไลน์ ส่วนหนึ่งก็มองว่าเป็นการเพิ่มช่องทางในการขายสินค้าและสร้างความรู้จักในคุณค่าและเรื่องราวของสินค้า ซึ่งเกษตรกรจะมองเป็นผลพลอยได้เมื่อผู้ซื้อรู้จักสินค้าและเรื่องราวแล้วก็อาจจะอยากจะมาเยี่ยมชมในพื้นที่จริงเพื่อให้เกิดการใช้จ่ายมากกว่าที่จะเน้นรายได้ยอดขายเป็นหลัก
ในส่วนตัวผมรู้สึกดีใจที่เห็นเกษตรกรสามารถปรับตัวและยอมรับในการขายผลผลิตออนไลน์และมองไปที่เรื่องของการสร้างความรู้จักในตัวสินค้าและเรื่องราวมากกว่ายอดขาย เพราะในทุกวันนี้มีร้านค้าผลผลิตทางการเกษตรออนไลน์เกิดขึ้นมากมายและมีการแข่งขันกันค่อนข้างมาก แต่ถ้าเกษตรกรเข้าใจและรู้จักการใช้ประโยชน์ทางอ้อมควบคู่กันไปก็น่าจะมีความสุขกับการทำตลาดออนไลน์ไปได้แบบสบายๆ เลยทีเดียวครับ