ข่าว

ทิศทางการเมืองไทยภายใต้รัฐบาลใหม่

ทิศทางการเมืองไทยภายใต้รัฐบาลใหม่

14 มิ.ย. 2562

เวทีรัฐศาสตร์เสวนา นักการเมือง2ฝั่งเห็นต่างการเมืองใหม่ "ธนาธร"ชี้การเมืองไทยมีความหวัง เหตุคนรุ่นใหม่ตื่นตัว ด้านก๊วนพปชร.ขอทุกฝ่ายลดขัดแย้ง-ร่วมมือทำงานในสภาฯ

 

                วันที่ 14 มิถุนายน 2562 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดงาน 70 ปี สถาปนาคณะรัฐศาสตร์ พร้อมจัดเสวนา เรื่อง ทิศทางการเมืองไทยภายใต้รัฐบาลใหม่ : การเมืองของความหวัง หรือจุดเริ่มต้นของวิกฤตครั้งใหม่? โดยมีตัวแทนนักการเมืองเข้าร่วม

 

 

 

                โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่าความหวังของการเมืองไทย คือ การตื่นตัวของวัยรุ่นยุคใหม่ เช่น กรณีที่นักเรียนทำพานไหว้ครูประจำปี 2562 ที่มีลักษณะล้อเลียนการเมือง, การแปรอักษรประเด็นการเมืองของนิสิต นักศึกษา ขณะที่การเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ที่มีส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่เข้าทำหน้าที่ ซึ่งพรรคจะเดินหน้ารณรงค์ตามประเด็นที่หาเสียงไว้ อาทิ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นอำนาจของส.ว. ที่ร่วมโหวตนายกฯ และประเด็นการคุ้มครองคำสั่ง ประกาศของคสช.​ รวมถึงการยุติการเกณฑ์ทหาร, ระบบราชการรวมศูนย์ โดยส.ส.ของพรรค เพียง 20 คนสามารถเข้าชื่อเพื่อเดินหน้าต่อเรื่องดังกล่าวในกระบวนการนิติบัญญัติได้ อย่างไรก็ตามตนคาดว่าการเมืองไทยหลังจากนี้ยังมีวิกฤต เพราะสิทธิเสรีภาพของประชาชนยังถูกปิดกั้น และไม่ได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายที่เท่าเทียม

                “กลุ่มคนที่ยอมเป็นนั่งร้านให้ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. เป็นนายกฯ ไม่ต้องอ้างว่าเกิดเดือนตุลาคมปีไหน คนพวกนี้คือต้นตอความขัดแย้งในประเทศ ทั้งนี้คนที่ขโมยอำนาจไปจากประชาชน เท่ากับส่งเสริมความขัดแย้งให้สังคมไทย ผมขอเชิญชวนประชาชนให้ลุกต่อต้านการทำรัฐประหารอย่างถึงที่สุด หากมีการรัฐประหารจะเกิดอีกครั้ง ควรหมดยุคหมดสมัยของสังคมรัฐประหารอีกต่อไป” นายธนาธร กล่าว

 

 

ทิศทางการเมืองไทยภายใต้รัฐบาลใหม่

 

 

                ทางด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเมืองไทยยังมีความหวังในบางเรื่อง คือ การหมดอำนาจของคสช.​ หลังจากที่มีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงสภาผู้แทนราษฎรมีบทบาทตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างเต็มที่ ผ่านการตั้งกระทู้ถามและยื่นญัตติทุกสัปดาห์ ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคภูมิใจไทยจะไม่ทำหน้าที่เป็นองครักษ์เครือข่ายหรือร่างทรงของ คสช. เหมือนกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เคยปกป้องฝ่ายคสช. อย่างไรก็ตามตนมองว่าการเมืองไทยยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤต คือ การบังคับใช้กฎหมายที่เป็นสองมาตรฐาน โดยเฉพาะองค์กรตุลาการ ในศาลปกครองสูงสุด​ ซึ่งตนเป็นห่วงกระบวนการเลือกตุลาการศาลปกครองสูงสุด เพราะต้องใช้การคัดเลือกจาก ส.ว. จำนวน 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งโดยคสช. และผ่านการสรรหาจากกรรมการที่ไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง 

                นายพงศ์เทพ กล่าวด้วยว่า สำหรับการบริหารประเทศ ผ่าน 19 พรรคร่วมรัฐบาล ตนไม่แน่ใจว่าจะให้ความเชื่อถือพล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่จากการบริหารงานที่ผ่านมา ขณะที่การทำงานหน้าที่ของฝ่ายค้านในสภา ตนเชื่อว่าจะทำงานลำบาก โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดเงื่อนไขที่แก้ไขทีละมาตราไม่ได้ ยกเว้นคือ การฉีกรัฐธรรมนูญ

 

 

ทิศทางการเมืองไทยภายใต้รัฐบาลใหม่

 

 

                “การแก้รัฐธรรมนูญฉบับของมีชัย ต้องทำประชามติก่อน ว่าจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไป หรือ ทำกติกาใหม่ที่เป็นธรรม ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีก อย่างไรก็ตามกติการัฐธรรมนูญของนายมีชัยคือการเปิดทางให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ส่วนอนาคตทางการเมืองที่หลายคนมองว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์จะปฏิวัติตนเองหรือไม่ ตนว่าปิดประตู เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ขาลอยไม่มีตำแหน่งในกองทัพ ส่วนจะมีคนอื่นทำหรือไม่ ผมรับประกันไม่ได้ตราบที่ศาลไทยตัดสินว่า ใครยึดอำนาจได้ คือรัฎฐาธิปัตย์ หากกลับคำได้ว่าการยึดอำนาจคือกบฎ คงไม่มีใครกล้ายึดอำนาจอีก” นายพงศ์เทพ กล่าว 

                ขณะที่นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่าบรรยากาศการเมืองปัจจุบันมีความน่ากลัว มากกว่าคะแนนเลือกตั้งเสียงปริ่มน้ำ คือ ความแตกแยก ผ่านการโจมตีระหว่างนักการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร จนกลายเป็นคดีเข้าสู่ศาล และอาจนำไปสู่การเมืองบนถนนได้ในที่สุด ส่วนการจัดตั้งรัฐบาลที่สังคมมองว่ามีปัญหาวุ่นวายนั้น ตนมองว่าเป็นเรื่องปกติของการรัฐบาลผสมจากหลายพรรค อย่างไรก็ตามการตั้งรัฐมนตรีไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาที่จะกลายเป็นข้อจำกัดคือ การถูกกติกาบังคับที่รัฐมนตรีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่อีกทั้งอาจถูกสังคมตรวจสอบและจับตามาก

 

 

ทิศทางการเมืองไทยภายใต้รัฐบาลใหม่

 

 

                “พรรคพลังประชารัฐ ไม่ใช่องครักษ์ของ คสช. ดังนั้นเวทีนี้ไม่จำเป็นต้องปกป้อง อย่างไรก็ดีการเมืองไทยช่วงที่ผ่านมาพบการแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน และใช้วิธีเอาชนะที่เกินหลักการประชาธิปไตย คือ ไม่เคารพเสียงข้างน้อย ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำและคิดร่วมกันคือ สร้างบทบาทในสภาฯ เพื่อแก้ปัญหา รวมถีงต้องลดความขัดแย้ง ของการต่อสู้ทางการเมือง ผ่านการใช้กติกา และกฎระเบียบ โดยไม่นำการเมืองออกสู่ถนนอีก” นายวิเชียร กล่าว 

                ส่วนนายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท กล่าวว่าให้ประเทศเดินหน้า ต้องทำให้การจัดตั้งรัฐบาลเกิดขึ้นได้ ซึ่งการเดินหน้าไปสู่ความหวังหรือวิกฤตนั้น ต้องพิจารณาในหลายปัจจัย โดยเฉพาะเสียงสนับสนุนแต่ละฝ่ายในสภาผู้แทนราษฎร และการยอมรับความเห็นที่แตกต่างกัน, หน้าตาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามบุคคลที่ถูกเสนอนั้นจะได้รับการยอมรับและเชื่อถือจากประชาชนหรือไม่ โดยเฉพาะฝีมือในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่เห็นประโยชน์พรรคหรือตัวบุคคล ในลักษณะที่หลายฝ่ายมองว่า คือการถอนทุนคืน นอกจากนั้น คือนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาล ที่จะเรียกศรัทธากับประชาชนได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามตนมองว่าทางออกของวิกฤตการเมือง คือ การร่วมมือทำงานร่วมกันในสภาฯ

                “พรรคพลังท้องถิ่นไท พร้อมสนับสนุนทุกฝ่าย ทุกพรรค ต่อการผลักดันการแก้ปัญหา อาทิ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ลดการผูกขาดอำนาจรวมศูนย์ เพื่อทำให้การเมืองเป็นความหวัง แต่หากการเมืองจะเป็นวิกฤตคือ ไม่สามารถผลักดันการแกัปัญหาเชิงนโยบายได้ ส่วนจะมีผลกระทบต่อความรู้สึกประชาชนหรือไม่ต้องพิจารณาผลระยะยาว ผมอยากบอกนายกฯ เหมือนกันว่า ต้องมีเรื่องกระจายอำนาจเขียนไว้ในนโยบายกระจายอำนาจร่วมด้วย และต้องให้ประชาชนมีโอกาสตรวจสอบรัฐบาลได้ด้วย เพื่อให้เป็นนายฯ ในระบอบประชาธิปไตย วางท่าทีที่ตรงกับความเป็นประชาธิปไตย” นายโกวิทย์ กล่าว