ตื่นข่าวเอกวาดอร์ให้สหรัฐตั้งฐานทัพหมู่เกาะกาลาปากอส
หลังรัฐบาลทำข้อตกลงใหม่วอชิงตันให้บินทหารใช้สนามบินในหมู่เกาะกาลาปากอส
ประธานาธิบดีเลนิน โมเรโน แห่งเอกวาดอร์ ออกมายืนยันเมื่อวานตามเวลาท้องถิ่น ( 18 มิ.ย.) ว่าสหรัฐอเมริกาไม่ได้จะมาติดตั้งฐานทัพบนหมู่เกาะกาลาปากอส
โมเรโน แจ้งบนทวิตเตอร์ว่า ไม่มีและจะไม่มีฐานทัพต่างประเทศใดอยู่ในเอกวาดอร์ ยืนยันความมุ่งมั่นอนุรักษ์หมู่เกาะแห่งนี้
“สันติภาพ อธิปไตยและความมั่นคงของชาติคือมรดกของเรา” ผู้นำเอกวาดอร์ย้ำ
หนึ่งวันก่อนหน้า นายออสบัลโด ยาร์ริน รัฐมนตรีกลาโหมเอกวาดอร์ ได้สร้างความแตกตื่น เมื่อเขาเปิดเผยว่า ข้อตกลงว่าด้วยการบินตรวจการณ์ที่รัฐบาลลงนามกับรัฐบาลวอชิงตัน จะอนุญาตให้เครื่องบินสหรัฐ เติมน้ำมันหรือประจำการชั่วคราวได้ที่สนามบินเล็กๆ ( airstrip ) บนเกาะซาน คริสโตบัล ส่วนหนึ่งของหมู่เกาะกาลาปากอส
ยาร์ริน กล่าวว่า เครื่องบินเหล่านั้นจะเข้าร่วมภารกิจตรวจการณ์เพื่อปราบปรามการลักลอบขนยาเสพติดและการประมงผิดกฎหมาย แต่จะใช้สนามบินดังกล่าวได้เดือนละครั้งเท่านั้น และครั้งละไม่เกิน 3 วัน พร้อมย้ำว่า การสอดแนมทางอากาศเป็นกิจกรรมที่หลายประเทศทำร่วมกัน เพื่อปกป้องเกาะมรดกโลกที่ตั้งอยู่ห่างชายฝั่งเอกวาดอร์ ประมาณ 1,000 ก.ม.
รัฐมนตรีกลาโหมเอกวาดอร์ ถูกคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รัฐสภา เรียกตัวไปอธิบายข้อตกลงกับสหรัฐ และส.ส.หลายคนแสดงความวิตกเรื่องอธิปไตย และผลกระทบสภาพแวดล้อม
หมู่เกาะกาลาปากอส ขึ้นชื่อความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นบ้านของเต่า อิกัวนา นก และปลาที่ไม่พบที่อื่นในโลก รวมถึงพันธุ์พืชนานาชนิด
รัฐธรรมนูญเอกวาดอร์ฉบับปี 2551 ห้ามต่างชาติเข้าไปตั้งฐานทัพ
ความสัมพันธ์ระหว่างเอกวาดอร์กับสหรัฐตึงเครียดในช่วง 10 ปี ( 2550-2560)ที่ผู้นำหัวสังคมนิคม นายราฟาเอล กอร์เรีย อยู่ในอำนาจ ก่อนปรับปรุงดีขึ้นนับตั้งแต่โมเรโนเข้ามาบริหารประเทศ
ในปี 2550 อดีตประธานาธิบดีคอร์เรียตัดสินใจไม่ต่อสัญญาฐานทัพสหรัฐที่ท่าเรือประมงมานตา ซึ่งถูกใช้เป็นลานขึ้นลงเครื่องบินปราบปรามยาเสพติด แต่เมื่อกันยายนปีที่แล้ว เครื่องบินสหรัฐเริ่มขึ้นบินจากเมืองชายฝั่งกัวยากิล ในภารกิจปราบปรามยาเสพติดและประมงผิดกฎหมาย หลังสองฝ่ายลงนามข้อตกลงฉบับใหม่
ดิ อินดิเพนเดนท์ รายงานก่อนหน้านี้ว่า เครื่องบินกองทัพอากาศสหรัฐ โบอิง 707 ติดเรดาร์ตรวจการณ์ และ เครื่องบิน พี-3 โอเรียน ของล็อคฮีดมาร์ติน จะบินตรววจการณ์เหนือมหาสมุทรแปซิฟิก โดยใช้สนามบินเล็กๆที่กาลาปากอส เป็นฐานขึ้นลง