ข่าว

ภรรยาเล่านาทีสุดท้ายก่อนสามีจากไปที่คลินิกการุณยฆาตสวิส

ภรรยาเล่านาทีสุดท้ายก่อนสามีจากไปที่คลินิกการุณยฆาตสวิส

19 มิ.ย. 2562

คริสติน ทอร์นตัน ภรรยาที่อยู่เคียงข้างและกระซิบข้างหูสามีขณะกำลังจะลาลับที่คลินิกช่วยการุณยฆาตสวิตเซอร์แลนด์ เปิดใจหลัง 4 เดือนผ่านไป 


( ข่าวต่างประเทศ / คมชัดลึกออนไลน์ ) เมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทรอย ทอร์นตัน พนักงานดับเพลิงออสเตรเลีย วัย 54 ปี เดินทางไปจบชีวิตตนเองที่คลินิกช่วยการุณยฆาตในสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีภรรยาคริสติน จับมือไว้อยู่เคียงข้าง 


4 เดือนผ่านมา คริสติน ทอร์นตัน ภรรยาของเขา ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว เอเอพี ในออสเตรเลีย ถึงการตัดสินใจของสามีว่า มันคือการตายที่ดี เป็นทางเลือกที่ทั้งคู่ต้องการ สงบ มีศักดิ์ศรี และเต็มไปด้วยความรัก 

 

 

ภรรยาเล่านาทีสุดท้ายก่อนสามีจากไปที่คลินิกการุณยฆาตสวิส

 

ดับเพลิงออสซีบินไปจบชีวิตที่คลินิกการุณยฆาตในสวิตเซอร์แลนด์

 


คริสติน ซึ่งเป็นผู้จัดการสำนักงานในรัฐวิคทอเรียและแม่ลูกสอง กล่าวถึงช่วงเวลานั้นว่า ใจเธอสงบ เธอแค่พยายามพูดทุกอย่างเท่าที่นึกได้ และรู้ว่า ทรอยยังสามารถได้ยินว่าเธอพูดอะไร หลังจากที่ยาเข้าสู่ร่างกายแล้วประมาณ 2 นาที 


“ฉันบอกเขาว่ารักเขามากแค่ไหน ฉันจะทำให้ลูกไม่มีวันลืมพ่อ และพวกเขาจะรู้ว่าพวกเขาคือคนพิเศษของเขาแค่ไหน”


เจ้าหน้าที่คลินิกแตะศีรษะของคริสติน เมื่อแน่ใจว่าทรอยจากไปอย่างสงบแล้ว แต่เมื่อวินาทีนั้นมาถึง คริสติน กล่าวว่าเธอ รู้สึกได้เองว่าเขาไม่ได้อยู่ตรงนั้นอีกต่อไป  


หลังจากนั้น คริสตินเดินทางกลับบ้านเกิดรัฐวิคตอเรีย พร้อมเถ้าอัฐิของสามี  กลับไปหาแจ็ค ลูกชายวัย 17 และ ลอรา ลูกสาว วัย 14 ปี 


หลังผ่านประสบการณ์คนที่รักขอรับการุณยฆาต คริสติน กล่าวว่า เธอไม่ถามตัวเองว่าการตัดสินใจตายของสามีเป็นสิ่งที่ถูกหรือไม่ แต่เธอรู้ว่าเขารู้สึกอย่างไร ทรอยหวาดกลัวกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น (จากโรคร้าย) และกำลังจะเกิดอย่างรวดเร็ว เธอรู้สึกสบายใจที่สามารถทำความปรารถนาของทรอยให้ลุล่วงได้ ทั้งสองถกกันนานมากเกี่ยวกับเรื่องนี้ ความต้องการหลักของเขาก็คือการมีสิทธิ์เลือกขอตายดีมากกว่าแบบแย่ การตายอย่างมีศักดิ์ศรี และทรอยก็ได้อย่างที่ต้องการ  


หนุ่มใหญ่วัย 54 เลือกจากไปในเร็ววันด้วยการฉีดยา มากกว่ารอเวลาทรุดจากโรค multiple system atrophy หรือ msa กลุ่มอาการเสื่อมของระบบประสาทส่วนกลางที่มีอาการทางคลินิกและพยาธิสภาพเสื่อมซ้อนกัน ซึ่งไม่มีวิธีการรักษาและไม่มีโอกาสหาย นานวัน ผู้ป่วยอาจทรุดอยู่ในสภาพผัก และมักตายจากสำลักเสมหะของตัวเอง เนื่องจากระบบสำคัญในร่างกายอย่างการกลืนอาหาร ใช้การไม่ได้แล้ว 


คริสติน กล่าวว่า เธอและลูกๆยินดีที่ทรอยสามารถเลี่ยงการตายแบบนั้นได้ ลูกๆทำใจได้ ซึ่งเธอคิดว่าการทำใจได้มาพร้อมกับการรู้ว่าพ่อไม่ต้องทรมานอีกต่อไป 


“เราพูดคุยกันมากมายก่อนไปถึงจุดนั้น เราไปเที่ยวกันทั้งครอบครัว เราใช้เวลาด้วยกัน เปิดอกคุยกัน คอยเช็คกันและกันเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเราโอเค”  


อย่างไรก็ดี การเดินทางยาวไกลของชาวออสเตรเลียในรัฐวิคตอเรีย ที่ป่วยระยะสุดท้ายหรือหมดทางรักษา เพื่อไปจบชีวิตตนเองในต่างแดนแบบทรอย ทอร์นตัน อาจไม่จำเป็นอีกต่อไป หลังจากกฎหมายช่วยเหลือฆ่าตัวตายมีผลแล้วในวันนี้ ( 19 มิ.ย.)   


รัฐวิคตอเรีย เป็นรัฐเดียวในออสเตรเลีย ที่มีกฎหมายรองรับการุณยฆาต แก่ผู้ใหญ่ที่ป่วยระยะสุดท้าย มีชีวิตอยู่ไม่ถึง 6 เดือน หรือ 1 ปีสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคปลอกประสาทเสื่อม หรือโรคเสื่อมของเซลล์ประสาทสั่งการ โดยวางกรอบไว้อย่างรัดกุมหลายชั้น รวมถึงคณะกรรมการประเมินอิสระและเจ้าหน้าที่ชันสูตรศพ ที่จะติดตามการตายทุกกรณี 


คาดว่าจะมีผู้ยื่นคำร้องขอความช่วยเหลือฆ่าตัวตาย 12 คนในปีนี้ และเพิ่มเป็น 150 คนต่อปีหลังจากนั้น  


กรณีของทอร์นตัน ตามข่าวก่อนหน้านี้ เขาไม่สามารถหาแพทย์ 2 คน ที่พร้อมให้ความเห็นว่าเขาจะตายใน 12 เดือน ซึ่งเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะใช้กฎหมายอนุญาตการุณยฆาตได้  

ที่มา 'He was scared of what was coming': Wife speaks after man's euthanasia death