ร้อง ป.ป.ช.เอาผิด กกต.เพิ่มคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ โดยมิชอบ
"ศรีสุวรรณ" ร้อง ป.ป.ช.เอาผิด กกต.เพิ่มคะแนนปาร์ตี้ลิสต์โดยมิชอบ
วันที่ 19 มิ.ย. 62 - นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย พร้อมหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคไทรักธรรมเดินทางมายื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.เพื่อเอาผิด กกต.ฐานทุจริตต่อหน้าที่ ทั้งนี้สืบเนื่องจากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (ครั้งที่ 2) เมื่อวันที่ 28 พ.ค.62 ที่ผ่านมา ทำให้ ส.ส. หนึ่งเดียวของพรรคไทรักธรรมหลุดจากตำแหน่งไปอย่างมีพิรุธ โดยที่พรรคไทรักธรรมได้ไปยื่นคำร้องคัดค้านต่อ กกต.แล้วถึง 7 รอบแต่ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใดนั้น
ล่าสุดเลขาธิการ กกต.ได้ตอบหนังสือมายังพรรคไทรักธรรมยอมรับว่า เหตุดังกล่าวเป็นเพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งบางแห่ง ไม่ได้นำผลคะแนนที่ออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง นอกเขตเลือกตั้งและนอกราชอาณาจักร มารวมผลคะแนนด้วย ซึ่งการยอมรับดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อผลการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2562 และผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเมื่อวันที่ 8 พ.ค.2562 ที่ระบุว่าเป็นผลคะแนนมาจาก 349 เขตเลือกตั้ง ซึ่งขัดต่อ พรป.การเลือกตั้ง สส. 2561 ในหมวดที่ว่าด้วย “การนับคะแนนและการรวมคะแนน” โดย ม.123 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “เมื่อรวบรวมผลการนับคะแนนทุกหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น รวมทั้งคะแนนที่ได้จากการออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งและคะแนนที่ได้จากการลงคะแนนเลือกตั้ง นอกราชอาณาจักรแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจําเขตเลือกตั้งประกาศผลการนับคะแนน ผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และคะแนนที่ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด แล้วรายงานผลการนับคะแนนต่อ ผอ.การเลือกตั้งประจําจังหวัดและคณะกรรมการโดยเร็ว” ดังนั้น การนำผลคะแนนก่อนวันเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง นอกเขตเลือกตั้งและนอกราชอาณาจักร มารวมผลคะแนนใหม่แล้วประกาศในวันที่ 28 พ.ค.62 ที่ผ่านมาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า การกระทำดังกล่าว เมื่อนับรวมคะแนนของทุกพรรคการเมืองที่มีการเลือกตั้งซ่อมในเขต 8 จ.เชียงใหม่ ให้ครบ 100% จำนวน 350 เขต มีข้อพิรุธขึ้นมาทันทีว่า ทำไมบางพรรคการเมืองมีจำนวนคะแนนเพิ่มขึ้นถึงอย่างผิดสังเกตอย่างไร้เหตุผลถึง 9,894 คะแนน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการคิดคำนวณคะแนน สส.ระบบบัญชีรายชื่อขึ้นมาทันที ทำให้ ส.ส.พรรคไทรักธรรม หลุดจากตำแหน่งไปและมี ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเสียบแทนอย่างน่าสงสัย และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนทั่วประเทศ
ดังนั้นข้ออ้างของเลขาธิการ กกต. ย่อมเป็นการยอมรับในผลของการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตาม ม.123 พรป.การเลือกตั้ง สส. 2561 อันหมายถึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหมายความรวมถึงคณะกรรมการ กกต. ทั้ง 7 คนที่ต้องรับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าวต้องเข้าข่ายการละเว้นต่อหน้าที่ตาม ปอ.157 และเข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่ ตาม พรป.ป.ป.ช.2561 ด้วย และขอให้ ป.ป.ช.เสนอศาลฎีกา เพื่อสั่งให้การประกาศผลการเลือกตั้งครั้งที่ 2 วันที่ 28 พ.ค.62 เป็น “โมฆะ” ต่อไปด้วย.