ปิยบุตร จี้"ศาลรธน."คดี ส.ส.ถือหุ้นสื่อมาตรฐานเดียวกับ ธนาธร
"ปิยบุตร" จี้ "ศาลรธน." ใช้มาตรฐานพิจารณาคดี ส.ส.ถือหุ้นสื่อฯ แบบเดียวกับ "ธนาธร"
นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ แถลงเรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมาตรฐานการพิจารณากรณีคำร้องของส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ที่ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของ ส.ส. หลายพรรคการเมือง จำนวน 41 คน ที่เข้าข่ายขาดคุณสมบัติ เพราะถือหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3) ว่าด้วยการเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ โดยมาตรฐานการพิจารณาเชื่อว่าไม่เกี่ยวกับว่าบุคคลใดเป็นผู้ยื่นคำร้อง
ส่วนกรณีที่พบการโต้แย้งจากฝ่ายกฎหมายพรรคพลังประชารัฐ ที่ขอให้คุ้มครองชั่วคราว กรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องต้องไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น ตนขอให้พิจารณาโดยใช้แนวทางเดียวกันกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางกฎหมายอุปสรรคต่อการดำเนินงานสำคัญของที่ประชุมสภาฯ ทั้งนี้เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกันและป้องกันการเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการกระทำของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ จำนวน 27 คน
นายปิยบุตร กล่าวด้วยว่ากรณีที่ฝ่ายกฎหมายพรรคพลังประชารัฐร้องให้ศาลจำหน่ายคดี เพราะการยื่นเรื่องไม่ถูกต้องและขั้นตอนนั้น ตนมองว่าเป็นเพียงการต่อสู้คดีที่สามารถทำได้ แต่ตนฐานะผู้ร่วมยื่นหนังสือยืนยันว่าเป็นขั้นตอนที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าด้วยการเข้าชื่อของ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 เข้าชื่อเสนอต่อประธานสภาฯ เพื่อยื่นเรื่อง โดยระบุว่าทำเป็นหนังสือ มีเหตุผล รวมถึงคำขอให้พิจารณา ซึ่งยืนยันว่าเป็นเอกสารที่เข้ากับคำร้องตามกระบวนการพิจารณาแน่นอน
" ทั้งนี้หากศาลรัฐธรรมนูญมองว่าคำร้องไม่ครบถ้วน สามารถให้ผู้ยื่นคำร้องแก้ไขได้ โดยไม่มีประเด็นที่จะจำหน่ายคดี ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนกรณีที่ฝายกฎหมายของพรรคพลังประชารัฐร้องขอให้ศาลพิจารณา เป็น 2 ครั้ง คือ ให้คู่กรณีให้ปากคำก่อนจะรับหรือไม่รับ ไม่สามารถทำได้ เพราะทำได้เพียงการตั้งตุลาการคณะเล็ก ทำงานเพื่อพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับคำร้อง หากตุลาการคณะเล็กพิจารณาและมีความเห็นอย่างไรต้องส่งให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคณะใหญ่พิจารณาภายใน 5 วัน ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ทั้งนี้กรณีดังกล่าวเพื่อทำให้เกิดความยุติธรรมศาลรัฐธรรมนูญควรพิจารณาให้เร็วเร็ว อย่างไรก็ตามตนไม่ติดใจหากศาลรัฐธรรมนูญจะใช้ดุลยพินิจรวมการพิจารณาคำร้อง ระหว่าง 41 ส.ส. กับนายธนาธร ไว้เป็นการพิจารณาในคราวเดียวกัน"
นายปิยบุตร กล่าวด้วยว่า ในกรณีดังกล่าวเคยมีแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา ห้ามผู้สมัคร ส.ส. จำนวน 2 ราย คือ กรณีของนายภูเบศวร์ เห็นหลอด อดีตผู้สมัคร ส.ส.สกลนคร พรรคอนาคตใหม่ และ นายคมสัน ศรีวนิชย์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.อ่างทอง พรรคประชาชาติ ไม่สามารถลงเลือกตั้งส.ส.ได้ เพราะเข้าข่ายขัดคุณสมบัติ เนื่องจากถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชน ซึ่งไม่ได้พิจารณาในรายละเอียดว่าทำกิจการจริงหรือไม่ เพราะดูเพียงวัตถุประสงค์และบริคณห์สนธิเท่านั้น
"ขณะที่การสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ มีกรณีของนายธนาธร ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณา ซึ่งระหว่างมีคำวินิจฉัยนั้น สั่งให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ซึ่งกระบวนการดังกล่าวในขั้นตอนของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ปฏิบัติอย่างเร่งด่วนแบบพิเศษ ส่วนกรณี 41 ส.ส. ที่คณะของส.ส.พรรคอนาคตใหม่ยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎรจะใช้บรรทัดฐานใดเพื่อพิจารณาในกรณีดังกล่าว ทั้งที่ข้อเท็จจริงมีความใกล้เคียงกัน ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญควรพิจารณาบนมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเป็นไปด้วยความยุติธรรม"