"ส.ว." ขู่ยื่นถอดถอน คนเกียร์ว่างงานปฏิรูป
"ส.ว." ขู่ยื่นถอดถอน คนเกียร์ว่างงานปฏิรูป พร้อมแฉข้อมูล "อธิบดีม.กีฬา" ชงเอง ตั้งเอง ไม่ผ่านการสรรหา ชี้ขัดกฎหมายชัดเจน
"ส.ว." ขู่ยื่นถอดถอน คนเกียร์ว่างงานปฏิรูป พร้อมแฉข้อมูล "อธิบดีม.กีฬา" ชงเอง ตั้งเอง ไม่ผ่านการสรรหา ชี้ขัดกฎหมายชัดเจน ด้าน "วันชัย" ซัดปฏิรูปการเมืองล้มเหลว เหตุเลือกตั้งที่ผ่านเรื่องร้องเรียนอื้อ เชื่อมีคนซื้อเสียง ขัดโจทย์ปฏิรูปการเมืองสุจริต
วันที่ 8 ก.ค. 62 - ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณารายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 ประจำเดือนมกราคม - มีนาคม 2562 โดยมีสมาชิกวุฒิสภาอภิปรายใหัความเห็นทั้งข้อเสนอแนะ และการปรับการทำงานเพื่อไม่ให้แผนปฏิรูปประเทศ ที่ประกาศใช้ช่วงเดือนเมษายน พ.ศ.2561 ล้มเหลว และเร่งรัดให้ดำเนินการภายใต้กรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม ไม่ใช่กำหนดแผนปฏิบัติในเชิงปริมาณเท่านั้น
โดยนายวันชัย สอนศิริ ส.ว. อภิปรายว่า แผนการปฏิรูปประเทศคือสิ่งที่ชี้วัดผลงานของรัฐบาล และเป็นภารกิจที่รัฐบาลต้องปฏิบัติให้สำเร็จภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญหมวดว่าด้วยการปฏิรูปกำหนด คือ 5 ปี นับจากที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้เวลาปฏิบัติเหลือเพียง 3 ปีเศษ ดังนั้นในการดำเนินงานต้องเร่งดำเนินการ ส่วนบทบาทของส.ว.ที่รัฐธรรมนูญกำหนดที่เริ่มจากหน้าที่ลงมติเลือกนายกฯ ในที่ประชุมรัฐสภา เพื่อให้นายกฯ สานต่องานปฏิรูปให้แล้วเสร็จ ดังนั้นแผนดำเนินการต่างๆ ต้องเชื่อมโยง ทั้งนี้บทบาทสำคัญของ ส.ว.ว่าด้วยการติตดามงานปฏิรูป หากพบความไม่คืบหน้า หรือหน่วยงานไม่ทำ สามารถส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง ขณะที่การปฏิรูปว่าด้วยการเมืองที่วางโจทย์ให้การเมืองโดยเฉพาะการเลือกตั้งโปร่งใส สุจริต แต่การเลือกตั้งส.ส.ที่ผ่านมาพบว่าประเด็นร้องเรียนกว่า 500 เรื่อง ดังนั้นตนเชื่อว่าการเลือกตั้งพบการซื้อสิทธิ ขายเสียงจำนวนมาก เพราะขาดการปฏิรูปและปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดไว้
ขณะที่นายตวง อันทะไชย ส.ว. อภิปรายทักท้วงว่า แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาไร้ความคืบหน้าแม้จะมีกฎหมายว่าด้วยกองทุนการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคนในช่วงวัยที่ควรได้รับการศึกษา แต่ไม่สามารถปฏิบัติใช้ได้ นอกจากนั้นงานปฏิรูปการศึกษาที่เป็นหัวใจของงานปฏิรูป ตามที่กำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ยังไม่พบการออกกฎหมายทั้งที่รัฐธรรมนูกำหนดให้ใช้เวลาพิจารณา 1 ปี ทำให้คุณภาพของการศึกษาที่เน้นการกระจายอำนาจไม่เกิดขึ้น นอกจากนั้นยังพบปัญหาการทุจริตในสถาบันการศึกษา คือ มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ที่พบบุคคลที่ต้องการตำแหน่งแต่งตั้งตนเองเข้าไปทำหน้าที่ซึ่งขัดต่อกฎหมาย ดังนั้นหากไม่ทำประเด็นดังกล่าวให้ถูกต้อง ส.ว.อาจใช้สิทธิยื่น ป.ป.ช.
ส่วนนายชาญวิทย์ ผลชีวิน ส.ว. อภิปรายสนับสนุนนายตวงด้วยว่า การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยกีฬาแห่งชาติ พบว่ามีการแต่งตั้งตนเอง ทั้งที่กฎหมายระบุว่าต้องผ่านการสรรหาและให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณา โดยขั้นตอนขณะนี้ต้องรอรัฐมนตรีคนใหม่เข้าทำหน้าที่ดังนั้นประเด็นที่เกิดขึ้นคือการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายอย่างชัดเจน
ขณะที่นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฐานะผู้ชี้แจงรายงานความคืบหน้า กล่าวชี้แจงว่าการบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษาอยู่ระหว่างการจัดทำ และต้องรอให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่พิจารณา หลังจากคณะกรรมการปฏิรูปด้านการศึกษานั้นหมดวาระแล้ว ขณะที่กลไกและข้อเสนอแนะ ของส.ว.นั้นตนจะรับไปพิจารณาเพื่อหารือและแก้ไขต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าสำหรับประเด็นที่ ส.ว.อภิปรายท้วงติง คือ ผลงานที่ไม่คืบหน้าของการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นงานที่อำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนไม่ล่าช้า และถูกมองว่าความล่าช้าที่เกิดขึ้นในคดีของประชาชนคือความไม่ยุติธรรม.