ผู้นำเกาหลีใต้ขอโทษผิดสัญญาหาเสียงนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ
ผู้นำเกาหลีใต้ขอโทษหลังไม่สามารถทำตามสัญญาหาเสียงที่จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็นหมื่นวอนต่อชม.ภายในปี 2020
แถลงการณ์ประธานาธิบดีมูน แจ อิน ที่นายคิม ซาง โจ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาฝ่ายนโยบายของประธานาธิบดี นำมาแถลงวันนี้ ระบุว่า “เราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 1 หมื่นวอนภายในเวลา 3 ปีที่เหลือของวาระดำรงตำแหน่ง คณะกรรมการค่าแรงขั้นต่ำได้พิจารณาหลายปัจจัยประกอบกัน รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจ และแรงงานในปัจจุบันแล้ว "ผมเสียใจอย่างยิ่งที่จะต้องบอกว่า ผมไม่สามารถรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน”
ค่าแรงขั้นต่ำในเกาหลีใต้ในปีนี้ปรับขึ้นจากปีก่อนหน้า 10.9% แต่เมื่อวันศุกร์ ( 12 ก.ค.) คณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ ผู้แทนภาคธุรกิจและแรงงาน ลงมติปรับขึ้นค่าแรง 2.9% เป็น 8,590 วอนในปีหน้า เป็นการปรับขึ้นต่ำสุดนับตั้งแต่เริ่มระบบคณะกรรมการค่าจ้างมาตั้งแต่ปี 2531 และด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี จึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่ประธานาธิบดีมูนจะบรรลุเป้าหมายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 1 หมื่นวอน ( ประมาณ 260 บาท) ก่อนหมดวาระในพฤษภาคม 2022
อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีมูน ส่งสัญญาณมาก่อนหน้านี้แล้วว่า รัฐบาลอาจไม่ยึดกับคำมั่นตอนหาเสียงท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า และได้มีคำสั่งให้คิม อธิบายจุดยืนของรัฐบาลต่อประชาชน และให้นายฮอง นาม คี รัฐมนตรีคลัง สำรวจมาตรการต่างๆชดเชยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้เพียงแค่ระดับปานกลาง
นับจากประธานาธิบดีมูน ผู้นำหัวเสรีนิยม เข้ารับตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม 2560 เกาหลีใต้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรวมกัน 29.1% เพราะเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์ขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยรายได้เป็นตัวขับเคลื่อน แต่ผลที่ตามมายังเป็นที่ถกเถียง เพราะขณะรัฐบาลมุ่งลดความเหลื่อมล้ำรายได้ แต่ก็เพิ่มภาระแก่นายจ้างโดยเฉพาะเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก อย่างร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านค้า พรรคฝ่ายค้านอนุรักษ์นิยม ก็ตำหนิเช่นกันว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบพุ่งพรวด ซ้ำเติมสถานการณ์เศรษฐกิจ
นายคิม ซึ่งเป็นอดีตประธานคณะกรรมการการค้าที่เป็นธรรม กล่าวว่า น่าเสียใจที่เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ กลายเป็นปมขัดแย้งในสังคม และประเด็นการเมือง ขณะย้ำว่า รัฐบาลยังไม่ได้ทิ้งนโยบายสร้างการเติบโตโดยมีรายได้เป็นตัวนำ และจะพยายามอย่างที่สุดให้นโยบายนี้ สร้างวัฏจักรการเติบโตเชิงนวัตกรรมควบคู่กับเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และว่าค่าแรงขั้นต่ำเป็นแค่ส่วนเดียวของแพคเกจนโยบายหลากหลายของรัฐบาล ที่มุ่งเพิ่มรายได้ให้คนงาน ลดค่าครองชีพ และขยายเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม