แม่น้ำโขงแห้งขอด"สันดอน"โผล่ยาววอนชะลอเพาะปลูก
ที่มา : หน้า 1 หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันพุธที่ 17 กรกฎาคม 2562
“นายกฯ” ห่วงแล้ง วอนเกษตรกรชะลอเพาะปลูกถึงหลังก.ย. ด้านกรมชลฯ เตือนร่วมใจใช้น้ำอย่างประหยัด ขณะที่แม่น้ำโขงวิกฤติ สันดอนโผล่กลางน้ำตั้งแต่เชียงคานไปถึงปากชม ต่ำสุดในรอบ 10 ปี
หน่วยงานภาครัฐหารือประเมินสถานการณ์ฝน สถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อกำหนดแนวทางมาตรการ แผนปฏิบัติการอย่างชัดเจน หลังจากชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้วและเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ที่ต้องเตรียมแผนรองรับหาแหล่งน้ำสำรองไม่ให้ผลกระทบแล้งในช่วงฤดูฝนขยายวงกว้างขึ้นไปนั้น
วันที่ 16 กรกฎาคม พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิดเนื่องจากบางพื้นที่เริ่มมีฝนทิ้งช่วงทำให้ประชาชนและเกษตรกรขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรโดยได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่รัฐ และจิตอาสาไปติดตามความเดือดร้อนของประชาชนและให้ความช่วยเหลือเป็นรายพื้นที่
“นายกฯ ทราบว่าบางจังหวัดได้ประกาศเป็นเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัยแล้งจึงกำชับให้ลงไปตรวจสอบปัญหาและแก้ไขโดยเร่งด่วน ส่วนพื้นที่ใดมีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในช่วงนี้ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเร่งทำงานเชิงรุกอย่าปล่อยให้ประชาชนเดือดร้อน” พล.ท.วีรชนกล่าว
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า นายกฯ ยังฝากไปถึงเกษตรกรว่าให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ เช่น กักเก็บน้ำไว้ใช้ในแหล่งน้ำของตัวเอง ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้เพาะปลูกขอให้ชะลอการปลูกออกไปก่อนจนกว่าจะเข้าสู่สถานการณ์ที่มีฝนตกตามปกติซึ่งคาดว่าน่าจะหลังเดือนกันยายนไปแล้ว พร้อมทั้งกำชับให้หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ การสูบน้ำ การแจกจ่ายน้ำ ทั้งพลเรือนและทหาร จัดสรรน้ำและสร้างการรับรู้ถึงข้อควรปฏิบัติให้ประชาชนและเกษตรกรทราบอย่างต่อเนื่องด้วย
ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ขณะนี้ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์น้อยเนื่องจากฝนตกพื้นที่ตอนบนอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าค่าปกติ ส่งผลให้มีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำน้อย ปัจจุบัน (16 ก.ค.) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมกัน 36,613 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างรวมกันมีปริมาณน้ำใช้การได้คงเหลือประมาณ 12,698 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 39,400 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 52 ของความจุอ่างรวมกัน
ทั้งนี้กรมชลประทานได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำหรือแหล่งน้ำต้นทุนต่างๆ โดยให้เก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุดพร้อมกับวางแผนการใช้น้ำในพื้นที่อย่างรัดกุมรวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ลงไปสร้างความเข้าใจในเรื่องสถานการณ์น้ำ การขอความร่วมมือใช้น้ำตามรอบเวรอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญเน้นย้ำให้ร่วมกันรณรงค์เรื่องการประหยัดน้ำอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงต้นฤดูฝนที่ผ่านมา ซึ่งกรมชลประทานจะเน้นส่งน้ำให้เฉพาะการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ส่วนการเพาะปลูกข้าวนาปีได้ขอให้เกษตรกรทยอยทำการเพาะปลูกตามสภาพของฝนที่ตกแต่ละพื้นที่และให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก พร้อมกันนี้ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้สำหรับอุปโภคบริโภคมากที่สุดต่อเนื่องไปจนถึงฤดูฝนปีหน้า
อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอีกว่า กรมชลประทานยังคงเดินหน้าให้การช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน อาทิ สำนักงานชลประทานที่ 8 โดยส่วนเครื่องจักรกลได้นำเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง ติดตั้งและสูบน้ำช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปี จำนวน 1,000 ไร่ ในพื้นที่บ้านสะกาด ตำบลรังกา และบ้านวังหิน บ้านขี้เหล็ก ตำบลในเมือง อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในพื้นที่
ส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา โครงการชลประทานฉะเชิงเทรา สำนักงานชลประทานที่ 9 ได้สนับสนุนรถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร จำนวน 1 คัน เพื่อนำน้ำดิบไปจ่ายเข้าระบบผลิตน้ำประปาหมู่บ้านในพื้นที่หมู่ 9 บ้านเขาจันทร์ ตำบลทุ่งพระยา อ.สนามชัยเขต จำนวน 4 เที่ยว เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่มีอยู่ 154 ครัวเรือน ประชากร 523 คน ปัจจุบันมีปริมาณน้ำสะสมตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน-15 กรกฎาคม 2562 จำนวน 792,000 ลิตร โดยจะช่วยเหลือไปจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือขณะนี้ พบว่ามีปริมาณน้ำภาพรวม 4,344 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 33% โดยแหล่งน้ำขนาดใหญ่เฝ้าระวังน้ำน้อยกว่า 30% จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ 28% เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ 27% เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น 24% เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ 23% เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี 23% เขื่อนน้ำพุง จ.สกลนคร 21% เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา 15% ขณะที่แหล่งน้ำขนาดกลางปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% จำนวน 97 แห่ง ขณะที่ปริมาณฝนสะสม 15 วัน น้อยกว่า 30 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่ามีปริมาณฝนตกน้อยมีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำและสถานการณ์แล้งใน 105 อำเภอ 12 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองบัวลำพู กาฬสินธุ์ ยโสธร ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และนครราชสีมา
นายอดุลย์ ผลคำ ผู้ใหญ่บ้านน้อย หมู่ 4 ต.เชียงคาน อ.เชียงคาน จ.เลย เปิดเผยว่า สภาพของแม่น้ำโขงขณะนี้น่าเป็นห่วงเนื่องจากปริมาณน้ำลดลงอย่างรวดเร็วช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาเกือบ 2 เมตรแล้ว ปกติเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม น้ำโขงจะเต็มตลิ่ง แต่ปีนี้เชื่อว่าน้ำแห้งสุดในรอบ 10 ปี ไม่สามารถสูบขึ้นมาเพื่อใช้ในการเกษตรและเห็นสันดอนทรายโผล่กลางแม่น้ำตั้งแต่ช่วงอำเภอเชียงคานถึงอำเภอปากชม
“น้ำโขงปกติจะขึ้นเร็วลงเร็ว แต่ครั้งนี้ลดลงอย่างเดียวไม่มีขึ้น ส่วนเรื่องเกษตรชาวบ้านในอำเภอเชียงคานยังไม่มีใครปักดำนา หว่านข้าวไว้ก็แห้งตายไปหมดเพราะไม่มีน้ำ ปีนี้ถือว่าแล้งสุดๆ น้ำโขงแห้งมาก สูบขึ้นมาไม่ได้ ลดลงทุกวันจนน่าตกใจ เห็นหาดทรายเป็นทางยาวจนถึงอำเภอปากชมแล้ว ปีนี้เพิ่งได้เห็นแก่งคุดคู้ และหาดทรายอีกครั้งหลังไม่เคยเห็นมากว่า 10 ปี” นายอดุลย์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.พะเยา ว่าสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ยังทวีความรุนแรงขึ้นหลังปริมาณน้ำกว๊านพะเยาลดลงอย่างต่อเนื่องโดยล่าสุดปริมาณน้ำเหลือเพียง 9.67 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณความจุ 33 ล้านลบ.ม. หากไม่มีฝนตกลงมาในช่วงสัปดาห์นี้จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งการผลิตน้ำประปา ทั้งนี้สภาพสันดอนที่เกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้างในกลางกว๊านพะเยาสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนและกินพื้นที่หลาย 1,000 ไร่ คาดการณ์ว่าหากไม่มีฝนตกลงมาในพื้นที่ในช่วงสัปดาห์นี้ปริมาณน้ำกว๊านพะเยาก็จะลดลงและจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศรวมทั้งการผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดพะเยา ซึ่งจะต้องดำเนินการขอแหล่งน้ำสำรองจากอ่างเก็บน้ำแม่ต๋ำ เพื่อเข้ามาเติมกว๊านพะเยาเหมือนเช่นปี 2559 ที่เกิดภาวะวิกฤติกว๊านพะเยาจนปริมาณน้ำลดลงแทบแห้งขอดและกระทบต่อระบบนิเวศและการผลิตประปา
นอกจากนี้สถานการณ์ภัยแล้งยังส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตรใน จ.พะเยา เป็นบริเวณกว้าง รวมทั้งน้ำในการอุปโภคบริโภคจำนวนหลายแห่งที่เริ่มจะได้รับผลกระทบแล้วโดยหลายหน่วยงานได้เร่งเข้าแก้ไขเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่