ข่าว

11 หน่วยฝนหลวงขึ้นบินเติมน้ำเขื่อน 143 แห่ง

11 หน่วยฝนหลวงขึ้นบินเติมน้ำเขื่อน 143 แห่ง

18 ก.ค. 2562

ฝนหลวง 11 หน่วย ช่วยพื้นที่ภัยแล้งประสบผลสำเร็จ ทำให้มีฝนตกพื้นที่เกษตร เติมน้ำเขื่อน 143 แห่ง

 

18 กรกฎาคม 2562 นายปนิธิ เสมอวงษ์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและ การบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ เปิดเผยว่า ผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ (16 ก.ค. 2562) หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 11 หน่วยปฏิบัติการ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค

 

ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่บางส่วนของ จ.พะเยา ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนลำแชะ เขื่อนลำปลายมาศ เขื่อนลำนางรอง อ่างเก็บน้ำห้วยหนองโรง และอ่างเก็บน้ำคลองโพธิ์ ขณะที่หน่วยปฏิบัติการฯ จ.ขอนแก่น อุบลราชธานี สุรินทร์ และสระแก้ว ไม่มีฝนตกจาก การปฏิบัติการ เนื่องจากกลุ่มเมฆไม่สามารถพัฒนาตัวต่อเป็นเมฆฝนได้

 

สำหรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 17 กรกฎาคม 2562 ตามประกาศเขตพื้นที่ ภัยแล้งจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ยังคงมีจำนวน 1 จังหวัด (2 อำเภอ 11 ตำบล 79 หมู่บ้าน) ได้แก่ จ.มหาสารคาม ขณะที่สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำที่เก็บกัก เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 18 แห่ง โดยเพิ่มขึ้นมาที่ภาคเหนือ และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 143 แห่ง

 

ด้านข้อมูลคาดการณ์พื้นที่ประกาศเสี่ยงฝนตกหนักถึงหนักมากจากกรมอุตุนิยมวิทยาวันนี้ คือ พื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักคาดการณ์ว่าจะเกิดที่บริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกที่ จ.ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ที่ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส พื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักมาก คาดการณ์ว่าจะเกิดที่บริเวณพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกแถบ จ.ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล

 

สำหรับแผนที่ปริมาณฝนตกสะสมของวันที่ 16 ก.ค.2562 จากสถาบันสารสนเทศและทรัพยากรน้ำ พบว่าบริเวณที่มีฝนตกสะสมเฉลี่ย 10 มิลลิเมตร ส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับแผนที่แสดงพื้นที่ฝนตกจากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พื้นที่ที่มีฝนตกต่ำกว่า 10 มิลลิเมตร อยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคตะวันออก

 

ส่วนบริเวณภาคใต้มีฝนสะสมปริมาณ 10-15 มิลลิเมตรขึ้นไป ซึ่งสอดคล้องกับแผนที่ที่ทาง กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจัดทำขึ้น โดยแสดงให้เห็นพื้นที่ทั่วภูมิภาคของประเทศไทยที่มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 10 มิลลิเมตร เนื่องจากอยู่ในช่วงฝนทิ้งช่วงตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้