ข่าว

แฉเขื่อนยักษ์จีน-ลาวทำน้ำโขงแล้งผันผวน

แฉเขื่อนยักษ์จีน-ลาวทำน้ำโขงแล้งผันผวน

19 ก.ค. 2562

ที่มา : หน้า 1 หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันศุกร์ที่ 19 กรกฏาคม 2562

 

          วิกฤติแม่น้ำโขงแล้ง-ผันผวนหนัก เครือข่ายชาวบ้านแฉเขื่อนจีนกักน้ำจนแห้ง-เขื่อนไซยะบุรีทดลองผลิตไฟฟ้าทำให้น้ำขึ้น-ลงผิดปกติ ขณะที่กรมชลฯ จับตาเขื่อนเจ้าพระยาหลังฝนทิ้งช่วง กำชับจัดสรรน้ำตามรอบเวรอย่างเคร่งครัด

 

          วันที่ 18 กรกฎาคม  เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดแม่น้ำโขง รายงานสถานการณ์ของแม่น้ำโขงว่ายังคงผันผวนมาก ทั้งบริเวณที่แม่น้ำโขงไหลผ่านในภาคเหนือและภาคอีสาน นอกจากนี้ยังเกิดภาวะความแห้งแล้งอย่างหนัก สาเหตุสำคัญที่ทำให้กลายเป็นปัญหาของภูมิภาคโดยรวม คือการลดการระบายน้ำจากเขื่อนจิงหงในยูนนาน ระหว่างวันที่ 5-17 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ขณะที่เขื่อนไซยะบุรีในลาวซึ่งดำเนินการโดยบริษัท ช. การช่าง ของไทยได้ทดลองการเปิดใช้งาน โดยเมื่อ 17 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มีประกาศจากทางการลาว เรื่องการทดลองเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าหัวที่ 5 ของเขื่อนไซยะบุรี เป็นเวลา 72 ชั่วโมง เริ่มในเวลาเที่ยงวันของเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

 

 

          ก่อนหน้านี้เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง โดยทนายความ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ได้ส่งจดหมายสอบถามการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะหน่วยงานรัฐไทยที่ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี เรื่องมาตรการบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดน จากการระบายน้ำและการกักเก็บน้ำเขื่อนไซยะบุรี ซึ่ง กฟผ. ได้ตอบจดหมายมีเนื้อหา ระบุว่า ข้อมูลการกักเก็บน้ำและการปล่อยน้ำของโครงการไม่มีระบุในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และมิได้เป็นข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของกฟผ. ดังนั้น กฟผ.จึงไม่มีข้อมูลดังกล่าว


          ส่วนข้อมูลการบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดนนั้น เนื่องจากเงื่อนไขในสัญญาระบุว่าการเปิดเผยข้อมูลจะต้องได้รับความยินยอมจากคู่สัญญา ซึ่งเมื่อได้รับความยินยอมแล้ว กฟผ.จะดำเนินการเปิดเผยให้ทราบ ต่อมา กฟผ.ได้มีหนังสือไปยังโครงการเพื่อขอให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว และโครงการมีหนังสือแสดงความยินยอม กฟผ.จึงนำส่งข้อมูลและรูปประกอบ


          ในข้อมูลประกอบดังกล่าว เป็นจดหมายจากบริษัททีมคอลซัลติ้ง เอ็นจิเนียริ่ง ถึงผู้จัดการบริษัทไซยะบรีพาวเวอร์ ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2554 โดยเป็นจดหมายภาษาอังกฤษ มีเนื้อหาสรุปได้ว่า สำหรับผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี บริษัทมีความมั่นใจว่าผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจะอยู่ในบริเวณรอบๆ เขื่อนเท่านั้น และเป็นเพียงเล็กน้อย ดังนั้นจึงจะไม่เกิดผลกระทบข้ามพรมแดน


          ขณะที่เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดแม่น้ำโขง มีความเห็นว่า กฟผ.มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี เป็นไปเพื่อขายไฟฟ้าให้แก่กฟผ. ซึ่งแต่เดิมจะเริ่มวันซื้อขายไฟฟ้าอย่างเป็นทางตามสัญญา 29 ปี ในเดือนตุลาคม 2562 ทั้งนี้การผลิตไฟฟ้าในระยะทดลองนี้ดำเนินไปโดยไม่มีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน และไม่มีมาตรการเยียวยาผลกระทบข้ามพรมแดนต่อประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง


          ทั้งนี้ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ จ.เชียงราย ลงมาจนถึง จ.เลย และจังหวัดภาคอีสาน ตามประกาศทางเว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงว่าเขื่อนจิงหงลดปริมาณการระบายน้ำลงครึ่งหนึ่ง เนื่องจากการซ่อมแซมระบบสายส่งระหว่างวันที่ 5-17 กรกฎาคม 2562 และต่อมามีประกาศอย่างเป็นทางการของสปป.ลาว มีหนังสือแจ้งเตือนว่า ในวันที่ 17 กรกฎาคม เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป ทางโครงการเขื่อนไฟฟ้าน้ำไซยะบุรีจะทดสอบเครื่องจักรปั่นไฟฟ้าหน่วยที่ 5 ใช้เวลาต่อเนื่อง 72 ชั่วโมง หรือ 3 วัน ซึ่งการทดสอบในครั้งนี้จะต้องปล่อยน้ำจากทางเหนือเขื่อนมากกว่าปกติ ตามระดับการไหลของแม่น้ำโขง โดยจะส่งผลให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนของโครงการลดระดับจาก 273.3 เมตร เป็น 271 เมตร น้ำจะลดลงประมาณ 0.75 เมตรต่อวัน และระดับน้ำท้ายเขื่อนจะเพิ่มขึ้นระดับสูงสุดประมาณ 237.5 เมตร ซึ่งอาจจะทำให้ระดับน้ำไม่ปกติเหนือเขื่อน ท้ายเขื่อน และเมื่อสิ้นสุดการทดสอบ ทางโครงการจะปล่อยน้ำให้ไหลเป็นปกติ




          นอกจากนี้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาและการบริหารจัดการแม่น้ำโขงที่ยั่งยืน รวมทั้งผลกระทบจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน หรือที่รู้จักกันในชื่อการศึกษาของคณะมนตรีแม่น้ำโขง ซึ่งผลการศึกษาชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าแผนการพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้า 11 โครงการบนแม่น้ำโขงตอนล่าง และเขื่อนอีก 120 แห่งในแม่น้ำสาขาภายในปี 2583 เป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อนิเวศวิทยาและเศรษฐกิจของภูมิภาค รวมทั้งกระทบต่อการเข้าถึงอาหารของประชาชนในท้องถิ่น


          ด้านนายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 กล่าวว่า ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาขณะนี้อยู่ที่ 14.85 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (เมตร รทก.) ซึ่งระดับที่เหมาะสมควรไม่ต่ำกว่า 15.00 เมตร รทก. ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีฝนตกในลุ่มเจ้าพระยาทั้งตอนบนและตอนล่างมา 3 สัปดาห์ อีกทั้งน้ำในเขื่อนหลัก 4 เขื่อน ได้แก่ ภูมิพล สิริกิติ์ ป่าสักชลสิทธิ์ และแควน้อยบำรุงแดน มีน้ำใช้การน้อยกว่าร้อยละ 30 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ไม่มีน้ำไหลลงอ่าง มีแต่การระบายออกจากอ่าง เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม น้ำที่ไหลมายังเขื่อนเจ้าพระยาจึงมีปริมาณน้อยลง โดยระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยามีความสัมพันธ์กับการจัดสรรน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานเหนือเขื่อนเจ้าพระยา เนื่องจากเขื่อนเจ้าพระยาเป็นเขื่อนทดน้ำ หากระดับน้ำหน้าเขื่อนต่ำจะทำให้การไหลของน้ำเข้าสู่คลองชลประทานต่างๆ น้อยกว่าปกติ


          “อธิบดีกรมชลประทาน (นายทองเปลว กองจันทร์) กำชับให้โครงการชลประทานทุกแห่งในลุ่มเจ้าพระยาจัดสรรน้ำตามรอบเวรอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่ท้ายเขื่อนหลักทั้ง 4 เขื่อนให้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าสูบน้ำตามรอบเวร เช่น ลำน้ำปิงไหลผ่านจังหวัดตากและกำแพงเพชรให้สูบน้ำปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้น้ำที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์มายังเขื่อนเจ้าพระยาจังหวัดชัยนาทไม่ลดจนเกินไป” นายสุรชาติ กล่าว


          ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 กล่าวอีกว่า พื้นที่ที่ต้องดูแลใกล้ชิด คือลุ่มรับน้ำจากคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง ซึ่งน้ำไหลเข้าคลองน้อยกว่าปกติ แต่คลองยาวถึง 104 กิโลเมตร จากอำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ถึงอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี พื้นที่เกษตร 250,000 กว่าไร่นั้น แปลงนาที่อยู่ท้ายคลองซอยอาจได้รับน้ำไม่เพียงพอ จึงให้เจ้าหน้าที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา-ท่าโบสถ์ไปติดตามการสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำบริเวณด้านท้ายของคลองมะขามเฒ่า-อู่ทองในเขตของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดอนเจดีย์ โดยการสูบน้ำจากลำห้วยโตนดและคลองระบาย 3 ขวา–1 ขวา (บึงกระจับ) ลงสู่คลองมะขามเฒ่า-กระเสียว (คลองม.-ก.) พร้อมกับสูบน้ำจากปลายคลอง ม.-ก. (ก.ม.47+290) ลงสู่คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง ส่งไปช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำบริเวณดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง


          “การส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรในความรับผิดชอบของสำนักชลประทานที่ 12 ยังสามารถบริหารจัดการให้เพียงพอเพื่อไม่ให้มีนาข้าวเสียหาย แต่เกษตรกรต้องใช้น้ำอย่างประหยัดและรักษากติกาสูบน้ำตามรอบเวร ส่วนการป้องกันความขัดแย้งจากการแย่งน้ำทางชลประทานได้ให้ผู้นำชุมชน คณะกรรมการผู้ใช้น้ำในพื้นที่ ฝ่ายปกครองและทหารเข้ามาช่วยดูแลด้วยเพื่อให้ทุกคนได้รับน้ำอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม” นายสุรชาติ กล่าว