ฝนฟ้าพาแล้งหรือภัยแล้งการเมือง?
ฝนฟ้าพาแล้งหรือภัยแล้งการเมือง?
22 กรกฎาคม 2562 แม้ว่าจะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนแต่ในหลายพื้นที่ยังคงประสบภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำมาอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นภาพจากทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็นการซื้อน้ำเพื่อบริโภค รถน้ำเข้าให้บริการในเขตชนบทต่าง ๆ
หรือแม้กระทั่งน้ำประปาไม่ไหล รวมทั้งพื้นที่การเกษตรที่ขาดน้ำส่งผลให้พืชผลได้รับผลกระทบตามไปตาม ๆ กัน ทั้งเหี่ยวแห้ง บ้างก็ยืนต้นตาย ไม่เว้นแต่ละวัน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ระดมความช่วยเหลือ มาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "กรมฝนหลวงและการบินเกษตร" หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ระดมขึ้นบินทำฝนหลวงด้วยหลากหลายภาระกิจหน้าที่ ทั้งดับไฟป่า ไล่หมอกควันที่ปัญหาเหล่านี้ได้ผ่านไปแล้ว แต่สภาพฝนแล้ง น้ำลำคลองแห้งขอด น้ำในเขื่อนลดลง ในขณะนี้ เที่ยวแล้วเที่ยวเล่าหลายร้อยเที่ยวบินทำฝนหลวงได้ช่วยบรรเทาปัญหาได้ในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตามสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นส่วนที่เข้าเสริมเติมเต็ม ช่วยเหลือบรรเทาปัญหาเป็นการเฉพาะหน้าหรือเหตุปัจจุบันทันด่วนแทบทั้งสิ้น แต่อย่าลืมว่าเป็นที่ทราบโดยทั่วกันอยู่แล้วว่า ฤดูกาลเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยทั้งร้อน หนาว ฝน มีวาระหมุนเวียนให้เราได้รับรู้อยู่แล้วว่าทั้งหมดจะเข้าสู่ในแต่ละช่วงฤดูเวลาใด เพียงแต่การเตรียมพร้อมรับมือเราทำได้มากเพียงไร โดยเฉพาะมีความกังวลจากบางหน่วยงานว่าหน้าแล้งในปี 2562 จะหนักกว่าทุกปี ในรอบ 30 ปี จากปรากฏการณ์เอลนิโญ
"การเปลี่ยนแปลงของอากาศจะมีผลหรือแม้เป็นส่วนหนึ่ง ของภาวะภัยแล้ง ขาดน้ำ ในพื้นที่ต่าง ๆ แต่นั่นเป็นสิ่งที่เราไม่อาจพยากรณ์ได้ แต่ด้วยที่ประเทศไทยมีระบบการจัดการน้ำเพื่อความเหมาะสมในแต่ละสภาพการณ์ช่วงนั้น ๆ การจัดสรรปันส่วนน้ำเพื่อใช้ด้านต่าง ๆ จึงมีการวางแผนเพื่อให้แต่ละปีไม่เกิดปัญหา แต่ทว่า ช่วงใดจะมีการขาดน้ำ ช่วงใดน้ำไหลหลาก ช่วงใดฝนตกหนัก ยังมีหลายพื้นที่ประสบปัญหาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยกตัวอย่างเช่น "แล้งซ้ำซาก" พื้นที่ไหนแล้งก็แล้งแล้วแล้งอีก ราวกับว่าไม่ได้รับการดูแลแต่อย่างใดหรือถูกสาปให้ต้องแล้งอยู่อย่างนั้น" หรือมีคนต้องการให้แล้งหรือไม่ ?
ประเด็นนี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นมา"แล้ง"ด้วยภาวะอากาศ เอญนิโญ่หรือความล้มเหลวของการบริหารจัดการ ???
18 มิถุนายน 2562 ครม.เห็นชอบแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี พ.ศ.2561 - 2580 ประกอบด้วย 6 ด้านคือ 1.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2.การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต 3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4.การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ
5.การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน และ 6.การบริหารจัดการ ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศ เปรียบเสมือนแผนที่นำทางให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติภารกิจหน้าที่ได้อย่างสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
แผนแม่บทฯเป็นส่วนหนึ่งของ 3 เสาหลักในการบริหารจัดการทัรพยากรน้ำของประเทศ เสาแรก คือ กฎหมาย ที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2562 เสาที่สอง แผนแม่บท ครม.ได้ผ่านความเห็นชอบแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำดังกล่าว
เสาที่สาม หน่วยงานหลักในการบริหารจัดการน้ำที่มีเอกภาพ คสช.มีคำสั่งที่ 46/2560 จัดตั้ง สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขึ้นมา ให้เป็นหน่วยงานหลักด้านนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานด้านน้ำที่มีอยู่กว่า 40 หน่วยงานใน 7 กระทรวง
ซึ่งขณะนี้ได้มีการปรับปรุงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเพิ่มเสาหลักที่ี่สี่ คือ การพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนแผนแม่บทให้ไปสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ คือ “ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน"
อีกหนึ่งบทพิสูจน์ประเทศไทยจะก้าวผ่าน"แล้งซ้ำซาก"ได้หรือไม่???