รัฐ"ลดค่าครองชีพ"อุ้มฐานราก
ที่มา : หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 23 กรกฎาคม 2562
“สนธิรัตน์” สั่งเจรจา ปตท. ยืดอุ้มราคาแอลพีจีกลุ่มหาบเร่แผงลอย พร้อมตรึงราคาเอ็นจีวีรถโดยสารสาธารณะอีก 2 เดือนถึง ก.ย.นี้ ก่อนดันช่วยเหลือผ่านบัตรคนจน ขณะ “คลัง” ระดมสมองถกโครงสร้างภาษีใหม่ รื้อภาษีบุคคลธรรมดา ด้าน ธอส. เตรียมวงเงิน 2.7 หมื่นล้าน ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำคงที่ 3 ปี 2.5%
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ต่างเรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงนั้นๆ เพื่อผลักดันนโยบายเร่งด่วน ให้สอดรับกับนโยบายหลักของรัฐบาลทั้ง 12 ข้อ โดยกระทรวงพลังงานเน้นไปที่การผลักดันวาระเร่งด่วน 2 เรื่อง มุ่งช่วยเหลือประชาชนระดับฐานราก ขณะที่ กระทรวงการคลัง ระดมสมองปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ โดยเฉพาะภาษีบุคคลธรรมดา เพื่อเป็นไปตามนโยบายที่หาเสียงไว้ โดยย้ำว่าการปรับโครงสร้างภาษีจะต้องไม่กระทบต่อรายได้และฐานะการคลังของภาครัฐ
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า มีแผนผลักดันวาระเร่งด่วนระยะสั้น 2 เรื่อง คือ 1.ให้กระทรวงพลังงานเจรจากับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่สนับสนุนงบดูแลราคาก๊าซแอลพีจีกลุ่มหาบเร่แผงลอย และราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) กลุ่มรถโดยสารสาธารณะ ที่จะสิ้นสุดระยะเวลาช่วยเหลือเดือน ก.ค.นี้ ให้ขยายเวลาออกอีก 2 เดือน หรือถึงเดือนก.ย.นี้ เพื่อช่วยเหลือลดค่าครองชีพให้ผู้มีรายได้น้อย ขณะเดียวกันกระทรวงพลังงานจะประสานกระทรวงการคลัง เพื่อวางแนวทางเชื่อมโยงการช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต่อไป
2.สถานการณ์ภัยแล้งให้พลังงานจังหวัดสำรวจพื้นที่ภัยแล้งและพื้นที่เดิมที่เคยช่วยเหลือในการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์บ่อบาดาล (โซลาร์สูบน้ำ) ในแต่ละจังหวัดเพื่อพิจารณาแนวทางช่วยเหลือ ซึ่งปลายสัปดาห์นี้จะนำเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งด้วย
รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงานระบุว่าการอุดหนุนราคาแอลพีจีกลุ่มหาบเร่แผงลอยนั้น ปตท.ช่วยเหลือผู้ใช้ก๊าซถัง 15 กิโลกรัมไม่เกิน 75 กิโลกรัมต่อเดือนในราคาส่วนลด 37.50 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่การช่วยเหลือเอ็นจีวีกลุ่มรถสาธารณะให้ส่วนลด 6 บาทต่อกิโลกรัม และให้ปรับขึ้นราคา 3 บาทต่อกิโลกรัมโดยทยอยปรับขึ้นทุกไตรมาสละ 1 บาทต่อกิโลกรัมโดยปตท.รับภาระดูแลราคาแอลพีจีให้กับผู้มีรายได้น้อยและแผงลอย2 แสนราย ตั้งแต่ก.พ.2558 ถึง 30 มิ.ย.2562 รวมเป็นเงิน 1,887 ล้านบาท
สุริยะดันนโยบาย100วัน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า นโยบายเร่งด่วนที่เร่งให้เห็นผลใน 100 วัน ได้แก่ 1.ดึงดูดการลงทุน โดยเน้นบริษัทที่อยู่ในจีนและได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ซึ่งจะไปโรดโชว์ที่จีนและญี่ปุ่น และล่าสุดจากการสำรวจของของนิเคอิ เอเชีย รีวิว ระบุว่ามีบริษัทขนาดใหญ่ในจีนที่มีแนวโน้มมาลงทุนในไทย เช่น คาสิโอ ,ริโก้ ผู้ผลิตเครื่องถ่ายเอกสาร ปริ้นเตอร์ ,ซิตี้เชน ผู้ผลิตนาฬิกา และไซหลุน ผู้ผลิตยางรถยนต์
2.หารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ปรับสิทธิประโยชน์การลงทุนให้ตรงกับความต้องการที่แตกต่างในแต่ละอุตสาหกรรม โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะหารือกับนักลงทุนต่างชาติเพื่อนำมาปรับสิทธิประโยชน์
3.ผลักดันให้โครงการเมกะโปรเจคให้ใช้วัสดุสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ โดยเฉพาะโครงการระบบรางที่มีมูลค่าการลงทุนสูง เช่น สนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 สนามบินอูตะเภา เพราะในสนามบินมีระบบและวัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตภายในประเทศ 4.การหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมาสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างแท้จริง
‘คลัง’วางนโยบายสอดรับ12ข้อ
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้เรียกประชุมผู้บริหารหน่วยงานกระทรวงการคลังทั้งหมด เพื่อสั่งการให้ทุกหน่วยงานเตรียมข้อมูลเพื่อรองรับการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภาผู้แทนราษฎรในช่วงปลายสัปดาห์นี้ โดยข้อมูลที่ต้องเตรียมจะเป็นเรื่องการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานที่ผ่านมาว่า ทำอะไรไปบ้าง และ มีแผนงานอะไรที่จะสอดรับกับนโยบายรัฐบาลทั้ง 12 ข้อ
นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเกี่ยวกับนโยบายที่รัฐบาลจะแถลงวันที่ 25 ก.ค.2562 นี้ โดยขณะนี้ได้ให้หน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบกลับไปทบทวนมาตรการที่แต่ละกรมดำเนินการอยู่ รวมทั้ง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเริ่มดำเนินการหลังรัฐบาลแถลงนโยบายเสร็จสิ้นให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นเช่น มาตรการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% มาตรการลดความเหลื่อมล้ำด้านต่างๆ มาตรการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น
เร่งศึกษานโยบายปรับโครงสร้างภาษี
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)กล่าวว่า สศค.จะเร่งศึกษานโยบายการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้ให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด หลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอุตตม สาวนายน ได้สั่งการให้ศึกษาการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่พรรคพลังประชารัฐได้หาเสียงไว้ โดยจะต้องประกอบการพิจารณากับการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีอื่น เพื่อไม่ให้กระทบต่อรายได้และฐานะการคลังของรัฐบาล
“ท่านรัฐมนตรีว่าการคลังได้มอบการบ้านให้เราศึกษาเรื่องดังกล่าว ก็จะเร่งทำให้เสร็จโดยเร็ว โดยการศึกษาเรื่องการปรับลดภาษีเงินได้ดังกล่าว จะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อรายได้รัฐบาลเป็นหลัก ซึ่งหากปรับลดแล้ว จะมีรายได้ส่วนไหนมาทดแทน ฉะนั้น ก็ต้องศึกษาให้รอบคอบ”
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า กรมสรรพากรได้ศึกษาแนวนโยบายการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่พรรคพลังประชารัฐได้หาเสียงไว้ โดยศึกษาทั้งโจทก์ที่จะปรับลดอัตราภาษีเงินได้ 10%จาก 35%เหลือ 25%และ ปรับลด 10%ใน 35%ซึ่งทั้งสองแนวทางนั้น ต้องยอมรับว่า ได้ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จำนวนมาก
ธอส.เล็งปล่อยกู้ดบ.2.5%
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส.จะนำเงินฝากสลากธอส.ที่จะออกงวดแรกวงเงิน 2.7 หมื่นล้านบาท ไปปล่อยกู้ตามนโยบายรัฐบาลในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยธอส.ประเมินต้นทุนการออกสลากดังกล่าวโดยรวมที่ประมาณ 2.3%แบ่งเป็น อัตราดอกเบี้ยที่ 1.4%ที่เหลือเป็นต้นทุนการดำเนินงาน ดังนั้น หากนโยบายรัฐบาลต้องการให้ธอส.ปล่อยสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยต่ำ ก็จะสามารถคิดอัตราดอกเบี้ยได้ที่ราว 2.5%โดยธอส.จะมีผลกำไรที่ราว 0.2%หรือ หากรัฐบาลต้องการให้ปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำกว่านั้น ธอส.ก็จะคิดในอัตราที่ไม่มีผลกำไรเลย
ททท.จ่อสรุปมาตรการหนุนท่องเที่ยว
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ได้รับทราบนโยบายเร่งด่วนและนโยบายหลักด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาลแล้ว ซึ่งตามนโยบาย ททท.จะเร่งหาทางสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ ทั้งเมืองหลัก เมืองรอง และชุมชน โดยเน้นการสร้างรายได้ การกระจายรายได้ และการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงการขยายตลาดกลุ่มคุณภาพกลุ่มต่างๆ คำนึงถึงความปลอดภัย และสร้างความยั่งยืน
ส่วนสัปดาห์หน้า ททท.เตรียมสรุปมาตรการระยะสั้นเพื่อกระตุ้นรายได้ท่องเที่ยวปีนี้ให้ได้ตามเป้าหมาย 3.38 ล้านล้านบาท เติบโต 9.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เสนอต่อนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อส่งเสริมตลาดในประเทศและรักษาเป้าตลาดประเทศ หลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเสร็จสิ้น