นำร่องพื้นที่ สน.ห้วยขวาง ใช้ AI ป้องกันอาชญากรรม
บก.น.1 จับมือ เอกชน ใช้ AI ดูแลพื้นที่สาธารณะ - ความปลอดภัยของประชาชน นำร่องพื้นที่ สน.ห้วยขวาง
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 25 ก.ค. 62 ที่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.เสนิต สำราญสำรวจกิจ ผบก.น.1 พ.ต.อ.ภูริส จินตรานันท์ ผกก.สน.ห้วยขวาง พร้อมด้วย น.ส.บราลี ชุติมา กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์สเต็ปส์ จำกัด ดร.พีรวัฒน์ สุรเศรษฐ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ กรุงเทพฯ (กต.ตร.กทม.) ภาคประชาชน ร่วมกันแถลงข่าวพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการทดลองติดตั้งระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence) เพื่อการวิเคราะห์ตรวจตราความปลอดภัยและป้องกันปราบปรามอาชญากรรมในพื้นที่สาธารณะ (Artificial Intelligent System for Surveillance and Criminal Analysis in Public Area) เพื่อยกระดับความสามารถด้านการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
พล.ต.ต.เสนิต กล่าวว่า การป้องกันปราบปรามอาชญากรรม นอกเหนือจากความรู้ ความสามารถ ไหวพริบและปฏิภาณที่ได้รับจากการเรียนรู้ฝึกอบรม ตลอดจนประสบการณ์ที่สะสมจากการ ปฏิบัติหน้าที่แล้ว เทคโนโลยีก็เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญยิ่งที่ต้องนำมาใช้ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจสัมฤทธิ์ผลได้ อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ส่งผลให้เกิดความผาสุกแก่ประชาชนและความสงบเรียบร้อยของสังคม ซึ่งเป็นอีกหน้าที่หลักของกองบัญชาการตำรวจนครบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในอนาคตเมื่อโครงการนำร่องนี้สามารถดำเนินการได้ตรงวัตถุประสงค์ของทางราชการ และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในภาพรวม ก็จะนำเสนอถึงผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาขยายผลไปสู่สถานีตำรวจนครบาลอื่นต่อไป
พ.ต.อ.ภูริส กล่าวว่า ทาง สน.ห้วยขวาง ได้มีการทำงานร่วมกับบริษัท อินเตอร์สเต็ปส์ จำกัด มาแล้ว 4 - 5 เดือน โดยมอบหมายให้ทางหน่วยงานป้องกันและปราบปรามของ สน.ห้วยขวาง รับผิดชอบระบบดังกล่าวประสานงานกับวิทยุสื่อสารในการควบคุมพื้นที่ มีประสิทธิภาพค่อนข้างสูงตรวจจับอะไรได้ค่อนข้างมาก ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นชั้นความลับ สามารถตรวจสอบข้อมูลภาพของผู้ต้องสงสัยได้ทันที โดยเฉพาะข้อมูลหมายจับ จึงต้องมีตำรวจที่มีความรู้คอยตรวจสอบ หลังจากที่ได้สัมผัสกับเทคโนโลยีดังกล่าวถือว่ามีประโยชน์เป็นอย่างมากในการเฝ้าระวังในพื้นที่ สน.ห้วยขวาง โดยสถานทูตจีนให้ความสนใจพื้นที่รัชดาภิเษกเป็นอย่างมาก และในอนาคตมีความคิดจะทำเมืองให้กลายเป็นไชน่าทาวน์ 2 ด้วย เมื่ออยู่ในระบบคัดแยกหากเป็นฐานของมูลที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบก็จะทำให้ระบบมีเสถียรภาพ ช่วยคัดกรองกลุ่มเฝ้าระวังได้มากและรวดเร็ว รวมถึงสามารถนำมาใช้กับงานสืบสวนได้ด้วย เช่น บริเวณตลาดห้วยขวาง รอบสถานีตำรวจ จะได้มีการนำข้อมูลมาใช้ในการสืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดได้ในอนาคตอย่างแน่นอน
น.ส.บราลี กล่าวว่า ระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อการสอดส่องดูแลความปลอดภัยถือเป็นระบบพื้นฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนา Smart City เนื่องจากจะทำให้ประชาชนรู้สึกอุ่นใจในชีวิตและทรัพย์สินอันเป็นรากฐานที่สำคัญของคุณภาพชีวิตที่ดี และยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการและนักลงทุนที่ดำเนินธุรกิจกิจในพื้นที่นั้นๆ ในส่วนของระบบ AI ที่นำมาใช้ในโครงการนี้ มีการเชื่อมต่อกับกล้องวงจรปิดในจุดที่มีความสุ่มเสี่ยงที่อาจมีเหตุร้าย ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2 แสนตารางเมตร ภายใต้การดูแลของ สน.ห้วยขวาง นอกจากฟังก์ชั่น Facial Recognition หรือการวิเคราะห์เปรียบเทียบใบหน้ากับฐานข้อมูลหมายจับแล้ว ยังมีระบบวิเคราะห์ พฤติกรรม (behavior analysis) ที่สุ่มเสี่ยงจะเป็นการก่ออาชญากรรม เช่น การวิ่งราว การทะเลาะวิวาท เป็นต้น อีกทั้ง ยังมีระบบวิเคราะห์รูปพรรณสัณฐานซึ่งจะช่วยย่นระยะเวลาในการสืบหาเบาะแสของคนร้ายได้ นอกจากจะเพื่อลดปัญหาอาชญากรรมแล้ว ระบบยังสามารถนำมาใช้เพื่อการช่วยสืบหาบุคคล เช่น เด็กหรือผู้สูงอายุที่หลงทางได้อีกด้วย
น.ส.บราลี กล่าวต่อไปว่า ได้มีการติดตั้งอุปกรณ์เสร็จสิ้นทั้งหมดแล้วโดยได้มีการทดลองระบบประมาณ 4 เดือน ที่ผ่านมา ภายหลังจากที่มีการลงบันทึกข้อตกลงก็จะเริ่มเข้าไปประสานงานกับตำรวจ เพื่อฝึกการใช้งาน ซึ่งเรื่องความปลอดภัยหรือการวิเคราะห์พฤติกรรมต่างๆ (behavior analysis) ทำได้ค่อนข้างหลากหลาย แต่ระบบดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยการเรียนรู้เพิ่มเติมจากสภาพแวดล้อมจริง หากทางตำรวจมีกรณีหรือคดีที่เกิดขึ้น อาจจะนำมาฝึกระบบปัญญาประดิษฐ์ให้ตรวจสอบการกระทำความผิดลักษณะดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จำเป็นต้องมีการออกแบบระบบ และวางแผนขั้นตอนการปฏิบัติงานให้เหมาะสมและสอดคล้องระหว่างเทคโนโลยีกับเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติงานในองค์กรนั้น ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการทำงานขององค์กร ส่วนความคาดหวังเชื่อว่าระบบดังกล่าวจะสามารถช่วยแบ่งเบางานของเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วช่วยป้องกันอาชญากรรมได้ก่อนที่จะเกิดเหตุ และจุดเริ่มต้นโครงการนี้ จะสามารถนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดและขยายผลในวงกว้าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศได้อีกมาก