กลุ่มธุรกิจ TCP เปิดตัว "TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย"
กลุ่มธุรกิจ TCP เปิดตัว "TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย"พัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน
กลุ่มธุรกิจ TCP ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มภายใต้ แบรนด์กระทิงแดง (เรดบูล) เรดดี้ โสมพลัส สปอนเซอร์ แมนซั่ม เพียวริคุ และซันสแนค เปิดตัว โครงการ “TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย” มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน โดยมุ่งหวังให้ชุมชนได้มีแหล่งน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชน สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน
นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP เปิดเผยว่า “น้ำเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญ เป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต อีกทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมต่างมีความต้องการใช้น้ำที่มากขึ้นทุกปี รวมถึงปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อประเทศของเรา กลุ่มธุรกิจ TCP เป็นหนึ่งในองค์กรที่ใช้น้ำเป็นวัตถุดิบหลักในการดำเนินธุรกิจ จึงกำหนดให้การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำอยู่ในกรอบการทำงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กร โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย จึงเกิดขึ้น โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในทุกมิติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างความยั่งยืนให้กับแหล่งน้ำที่หลากหลายเพื่อการอุปโภคบริโภคของชุมชนทั้งน้ำบนดิน และน้ำใต้ดิน ตั้งเป้าภายใน 5 ปี (พ.ศ. 2562 – 2566) จะสามารถพัฒนาแหล่งน้ำให้กับชุมชนได้มีน้ำใช้เพิ่มขึ้นกว่า 12 ล้านลูกบาศก์เมตร”
โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย จึงได้ร่วมมือกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และ สสน. ดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำปราจีน ก่อนขยายไปสู่ลุ่มน้ำอื่นๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะทำงานร่วมกับองค์กรพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำที่หลากหลายทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการสนับสนุนการศึกษาเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำใต้ดิน และส่งผลให้น้ำผิวดินมีความอุดมสมบูรณ์อีกด้วย
“ถึงแม้ว่าน้ำใต้ดินไม่ได้เป็นแหล่งน้ำในการผลิตของกลุ่มธุรกิจ TCP แต่ด้วย ความห่วงใยในปัญหาทรัพยากรน้ำในทุกมิติ โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย จึงได้ทำงานร่วมกับ สถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัย ขอนแก่น ทำการศึกษา วิจัย รวมทั้งประเมินศักยภาพของพื้นที่ เพื่อหาแนวทางในการนำน้ำคืนสู่ชั้นใต้ดิน พร้อมกับให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องน้ำบาดาลอีกด้วย”
อย่างไรก็ตาม ตามแผนการดำเนินงาน 5 ปี ของโครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย และพันธมิตร เราคาดว่าจะสามารถช่วยให้ชุมชนในลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำปราจีน กว่า 16,000 ครอบครัว ใน 6 จังหวัด ได้เข้าถึงแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมากกว่า 12 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือกว่า 3 เท่าของปริมาณน้ำที่กลุ่มธุรกิจ TCP ใช้ในตลอดกระบวนการ และคาดว่าจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับชุมชนจากการมีน้ำใช้ในการเกษตรอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจ TCP ได้สนับสนุนเงินทุนในการดำเนินการไว้ราว 100 ล้านบาท
ดร. สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กล่าวเสริมว่า “สสน. และโครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย สานต่อการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ในการส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดความรู้ในการบริหารจัดการ และพัฒนาแหล่งน้ำ โดยนำวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในทุกพื้นที่ที่เราเข้าไป เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ส่งผลให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างน้ำ และการจัดการน้ำแบบพึ่งตนเองอย่างยั่งยืนแก่ชุมชน ทั้งนี้จะเริ่มใน 6 จังหวัดจากสองลุ่มน้ำ คือ จังหวัดแพร่ สุโขทัย พิจิตร สระแก้ว ปราจีนบุรี และนครนายก”
ดร.โพยม สราภิรมย์ ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “ปัจจุบันมีการใช้น้ำใต้ดินมากเกินสมดุล ส่งผลกระทบ 2 ด้าน ทั้งเรื่องปัญหาระดับน้ำบาดาลที่ลดต่ำลงไปเรื่อยๆ ทำให้ชุมชนมีต้นทุนสูงขึ้นกว่าเดิม 2-3 เท่าตัวในการสูบน้ำบาดาล เพราะต้องเจาะบ่อให้ลึกกว่าเดิมอีกเป็นเท่าตัวเพื่อให้ถึงระดับน้ำใต้ดิน อันกระทบต่อเศรษฐกิจชุมชมโดยตรง จึงนับเป็นโอกาสที่ดีที่สถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำใต้ดิน ได้ทำงานร่วมกับ โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย เพื่อทำการศึกษาแนวทางจัดการการเติมน้ำใต้ดิน ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ ลดปัญหาภัยแล้ง โดยการกักเก็บน้ำที่มีมากในฤดูฝนไว้ใช้ในฤดูแล้ง และลดการระเหยของน้ำที่กักเก็บไว้ใช้ในฤดูต่างๆ โดยมุ่งหวังให้ผลที่ได้จากการศึกษาจะเป็นองค์ความรู้สำหรับการเติมน้ำในดิน คืนความสมดุลให้กับแหล่งน้ำใต้ดินและยังเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการอนุรักษ์น้ำใต้ดินให้แก่ชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย”
ท่านสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมของกลุ่มธุรกิจ TCP ได้ที่ www.tcp.com และ https://www.facebook.com/TCPGroupThailand