สั่ง4เขื่อนยักษ์ชะลอปล่อยน้ำรอช่วง ส.ค.-ก.ย.พายุฝนลดแล้ง
ที่มา : หน้า 1 หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม 2562
สทนช. ถกกรมชลฯ-กฟผ.-จิสด้า สั่งลดระบายน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ขณะที่อุตุฯ เผย 25-31 ก.ค. ทั่วไทยมีฝนเพิ่มขึ้น 30-60% ส่วน ส.ค.-ก.ย.มีพายุ 1-2 ลูกช่วยเติมน้ำ ด้าน ธ.ก.ส.เตรียมแสนล้านช่วยเหลือชาวนา
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ผลจากการคาดการณ์สภาพอากาศและสถานการณ์น้ำร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ในช่วงครึ่งหลังของฤดูฝนในเดือนสิงหาคม–ตุลาคม ปริมาณฝนจะมีค่าใกล้เคียงกับค่าปกติ แต่ยังคงมีบางพื้นที่ที่มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าปกติ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ซึ่งกระทบกับปริมาณน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่เป็นพื้นที่เฝ้าระวังที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำมากที่สุด โดยเฉพาะภาคเกษตรที่จะได้รับผลกระทบเนื่องจากปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำมากกว่าแผน
ดังนั้นสทนช.จึงได้ประชุมหารือด่วนร่วมกับ 4 หน่วยงานเกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันในการสร้างสมดุลน้ำใน 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีการจัดสรรน้ำมากกว่าแผนในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ในช่วงเวลาฤดูฝนที่เหลือยังคงมีความต้องการน้ำสุทธิจาก 4 เขื่อนหลักดังกล่าวรวม 2,066 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และมีความจำเป็นต้องสำรองน้ำไว้ใช้อย่างน้อยเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศตลอดฤดูแล้งที่จะถึง และช่วงต้นฤดูฝนปีถัดไปอีกไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านลบ.ม.
“ทั้งนี้เมื่อประเมินน้ำฝนที่ตกลงมาแล้วพบว่ามีความจำเป็นต้องปรับลดแผนการระบายน้ำ หรือประหยัดการใช้น้ำตลอดฤดูฝนที่เหลือมากกว่า 300 ล้านลบ.ม. และต้องวางแผนการปลูกพืชในฤดูแล้งถัดมาให้ชัดเจน หากไม่มีฝนตกมาในปริมาณมากหรือไม่มีพายุเข้าในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนตามที่คาดการณ์ ในฤดูแล้งหน้าที่อาจจะไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 62/63 ซึ่งที่ประชุมได้หารือร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ เร่งทำการสำรวจพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการลดการระบายน้ำในครั้งนี้และกำหนดมาตรการเยียวยาโดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวด้านท้ายน้ำที่คาดว่าจะเสียหายสิ้นเชิง พื้นที่เลี้ยงปลาในกระชัง เป็นต้น”
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า สทนช.จะติดตามตรวจสอบการคาดการณ์ฝนปริมาณน้ำไหลเข้าและการระบายน้ำใน 4 เขื่อนลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมถึงการส่งน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองเป็นรายวัน ตั้งแต่ 16 กรกฎาคม-31 สิงหาคม เพื่อพิจารณาปรับแผนการปรับสมดุลน้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์จริง รวมถึงพิจารณาวางแผนลักษณะเดียวกันในลุ่มน้ำหลักอื่นๆ ด้วย เช่น ลุ่มน้ำชี-มูล และลุ่มน้ำภาคตะวันออก เป็นต้น
นอกจากนี้เพื่อดำเนินการเชิงป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากน้ำ สทนช.ได้จัดตั้ง “ศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ” โดยมีนายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการ สทนช. เป็นผู้อำนวยการศูนย์ทำหน้าที่กำกับดูแลการบริหารจัดการระบบสารสนเทศทรัพยากรน้ำโดยวิเคราะห์ติดตามแนวโน้มและกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหา เพื่อเอกภาพเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนบรรเทาผลกระทบโดยเร่งต่อไปด้วย
ด้านนายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 12 กล่าวว่า ขณะนี้เขื่อนภูมิพลเพิ่มการระบายน้ำอีก 2 ล้านลบ.ม. เป็น 25 ล้านลบ.ม. อีกทั้งกรมชลประทานประสานผู้ว่าฯ จังหวัดท้ายเขื่อน ได้แก่ ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และสุโขทัย ขอความร่วมมือ อบต. หยุดสูบน้ำจากสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่าน รวม 400 สถานี เป็นเวลา 3 วัน เพื่อให้น้ำที่ไหลมาบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับสูงขึ้น ช่วยให้การทดน้ำเข้าระบบชลประทานช่วยเหลือพื้นที่เกษตรที่ขาดแคลนน้ำมีประสิทธิภาพ ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จากเดิมระบายวันละ 700,000 ลบ.ม. กำลังพิจารณาทยอยปรับลดเนื่องจากเริ่มมีฝนตกลงมาในพื้นที่ท้ายน้ำสามารถช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่เกษตร คาดว่าจะทำให้สถานการณ์น้ำของเขื่อนซึ่งขณะนี้มีน้ำใช้การได้เพียงร้อยละ 4 นั้นดีขึ้นตามลำดับ
วันเดียวกันที่ จ.พิจิตร นายวรพันธ์ สุวัณณุสส์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ลงพื้นที่เป็นคนกลางแก้ไขปัญหาการแย่งน้ำที่กรมชลประทานผันน้ำจากแม่น้ำปิงผ่านลำคลองสาขาที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำยมในพื้นที่ ต.หนองโสน อ.สามง่าม เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การทำนาปลูกข้าวกว่า 100,000 ไร่ ซึ่งกำลังประสบปัญหาขาดน้ำ แต่การส่งน้ำดังกล่าวปริมาณน้ำไหลไม่ถึงพื้นที่เป้าหมายตอนปลายของลำคลองสาขาเพราะตลอดเส้นทางมีชาวนาลักลอบสูบน้ำออกไปหล่อเลี้ยงต้นข้าวแปลงนาโดยผู้ว่าฯ พิจิตร กำหนดกติกาให้ส่งน้ำที่ผันมาให้ไหลไปถึงพื้นที่ตอนปลายของลำคลองสาขาก่อน ซึ่งจะใช้ระยะเวลาอีกไม่เกิน 2 วัน หลังจากนั้นให้ทุกฝ่ายเริ่มสูบน้ำออกไปหล่อเลี้ยงต้นข้าวในแปลงนาได้ พร้อมกับขอให้ตัวแทนชาวนาจัดเวรยามลาดตระเวนเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้มีการแย่งกันสูบน้ำก่อนกำหนด
ด้านนายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เปิดเผยภายหลังตรวจบึงบอระเพ็ดติดตามสถานการณ์น้ำจากฝนทิ้งช่วงว่า ปริมาณน้ำในบึงบอระเพ็ดลดลงมากแต่จากการรายงานของประมงจังหวัดและชลประทานแจ้งว่าปีนี้น้ำในบึงบอระเพ็ดลดลงไม่เท่ากับปี 2558 อย่างไรก็ตามเชื่อว่า จ.นครสวรรค์ จะสามารถรักษาระดับน้ำในพื้นที่เพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่ได้ เบื้องต้นอาจจะต้องสูบน้ำจากแม่น้ำน่าน แม่น้ำปิงและแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าสู่บึงบอระเพ็ดเพื่อรักษาระดับน้ำไว้ แม้ขณะนี้ยังไม่มีปัญหาและไม่ถึงขั้นวิกฤติซึ่งหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องน้ำเตรียมแผนบริหารจัดการไว้แล้ว ส่วนภาคการเกษตรเพื่อป้องกันความเสียหายและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นขอให้ชะลอการทำนาปรังไปก่อนหรือควรปลูกพืชระยะสั้นทดแทน
ผู้สื่อข่าวรายงานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ จ.ชัยนาท และกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำและชาวนาชัยนาทและนครสวรรค์ได้ช่วยกันระดมเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งไว้บริเวณปากคลองซอย 5 ขวา ระดมสูบน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสัก ส่งเข้าคลองซอย 5 ขวา ระยะทางกว่า 8 กิโลเมตร เพื่อส่งให้ไปช่วยนาข้าวในพื้นที่ ต.เสือโฮก อ.เมืองชัยนาท, ต.หาดอาษา ต.เขาแก้ว อ.สรรพยา จ.ชัยนาท และต.หนองหม้อ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ รวมกว่า 17,000 ไร่ ที่ต้นข้าวกำลังตั้งท้อง
นางใกล้รุ่ง สารีบดี ชาวนา ต.เสือโฮก อ.เมืองชัยนาท กล่าวว่า หลังฝนทิ้งช่วงนาข้าวที่ปลูกไว้ 120 ไร่ไม่มีน้ำไปหล่อเลี้ยง หากปล่อยไว้จะทำให้ข้าวไม่เติบโตและจะตายไปในที่สุด จึงต้องยอมเสียเงินค่าน้ำมันไปแล้วเกือบแสนบาทเพื่อสูบน้ำต่อกันถึง 3 ทอด
ส่วนสถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.ชัยนาท วันนี้ (25 ก.ค.) ปริมาณน้ำที่ไหลมาจากนครสวรรค์ ยังมีปริมาณเท่าเดิม 219 ลบ.ม.ต่อวินาทีเท่ากับเมื่อวานนี้ (24 ก.ค.) แต่ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลดลงจากเมื่อวานนี้ 9 ซม.อยู่ที่ระดับ 14.19 เมตร ระดับน้ำท้ายเขื่อน 5.38 เมตร น้ำระบายท้ายเขื่อน 60 ลบ.ม.ต่อวินาที ขณะที่น้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่ผันเข้าระบบชลประทาน 2 ฝั่ง มีปริมาณรวมกัน 208 ลบ.ม.ต่อวินาที ลดลงจากเมื่อวานนี้ 6 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งที่ประตูระบายน้ำมโนรมย์ส่งน้ำเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก มีปริมาณน้ำผ่านเข้าประตู 62 ลบ.ม.ต่อวินาที ลดลงจากเมื่อวานนี้ 3 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลให้ระดับในคลองชัยนาท-ป่าสัก ลดลงจากตลิ่งจนน้ำไม่สามารถไหลเข้าประตูส่งน้ำตามคลองซอยต่างๆ ได้ต้องใช้เครื่องสูบน้ำสูบเข้าคลอง
นายกฤษฎา ศรีเพิ่มพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 เปิดเผยว่า ผลกระทบจากฝนทิ้งช่วงทำให้หลายพื้นที่เกิดความแห้งแล้งรวมถึง จ.ลพบุรี โดยเฉพาะเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำน้อยสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา ขณะนี้ระดับน้ำกักเก็บมีเพียง 40.69 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 4.24 อีกทั้งยังมีการระบายน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศพื้นที่ท้ายเขื่อนวันละ 0.69 ล้านลบ.ม. นอกจากนี้ได้รับรับการร้องขอจากเกษตรกรให้ช่วยเหลือพื้นที่นาข้าว 3 อำเภอ คือ โคกสำโรง โคกเจริญ และสระโบสถ์ เนื่องจากขาดแคลนน้ำและยืนต้นตาย 7,145 ไร่ ทางเขื่อนป่าสักฯ ได้เร่งขุดคลองชักน้ำช่วยเหลือโดยสูบน้ำมายังสถานีสูบน้ำไฟฟ้ามะกอกหวานส่งไปยังสระพักน้ำ 6 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นมา แต่ขณะนี้ได้เพิ่มติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 4 เครื่อง อัตราการสูบวันละ 48,000 ลบ.ม. เร่งสูบน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรเทาความเสียหายของพืชผล
ขณะที่สถานการณ์แม่น้ำโขง ที่ จ.นครพนม ในช่วงนี้ถึงแม้จะมีฝนตกแต่ปริมาณน้ำฝนสะสมต่ำทำให้ระดับน้ำโขงที่แห้งขอดยังคงผันผวนสุดในรอบกว่า 50 ปี มีระดับทรงตัวที่ประมาณ 1.80-2 เมตร ห่างจากจุดวิกฤติล้นตลิ่งที่ประมาณ 13 เมตร ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในลำน้ำสาขาสายหลัก คือ ลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม และลำน้ำก่ำ ที่ไหลระบายน้ำลงน้ำโขง มีปริมาณน้ำเก็บกักต่ำอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10-20 ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร ข้าวนาปีที่เพิ่งเริ่มปักดำ รวมถึงอาชีพประมงหาปลาน้ำโขงของชาวบ้าน
จากการที่มีฝนตกหนักในพื้นที่ จ.หนองคาย ตั้งแต่เมื่อวานนี้ ส่งผลดีกับนาข้าวของเกษตรกรและส่งผลมีน้ำไหลเติมลำห้วยสาขาของแม่น้ำโขงที่มีประตูระบายน้ำบางแห่งไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำสำรองเข้าในลำห้วย ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ส่วนหนึ่ง โดยลำห้วยโมงที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมงที่ได้สูบน้ำโขงด้วยเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเข้าสำรองในระบบมานานนับเดือน วันนี้ไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำโขงเข้าในลำห้วย ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำในลำห้วยโมงสูงกว่าระดับน้ำโขงอยู่ถึง 7.37 เมตร ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ไหลผ่าน จ.หนองคาย ที่ขณะนี้ยังมีระดับต่ำลงอีก ล่าสุดที่ส่วนอุทกวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ มีระดับอยู่ที่ 1.54 เมตร ลดลงจากช่วงเดียวกันของเมื่อวานนี้ 1 ซม. ต่ำกว่าตลิ่งถึง 10.66 เมตร และยังมีแนวโน้มลดลงอีก
ด้านนายภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ในช่วงวันที่ 25-28 กรกฎาคม มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน ภาคใต้ และอ่าวไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 29-31 กรกฎาคม ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาร์ ลาว และเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนเพิ่มมากขึ้น สำหรับภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ประกอบด้วย ภาคเหนือ บริเวณแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน พิษณุโลก กำแพงเพชร และตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณหนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ และนครราชสีมา ภาคกลาง บริเวณราชบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา รวมถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออก ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด และภาคใต้บริเวณประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา
อย่างไรก็ตามการเข้าสู่ครึ่งหลังของฤดูฝนของปีนี้ คาดว่าสถานการณ์ฝนน้อยในช่วงนี้จะค่อยๆ คลี่คลาย โดยจะมีฝนเพิ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม-กันยายน บริเวณด้านรับลมมรสุมคือด้านตะวันตกของประเทศ ภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก นอกจากนี้ยังอาจจะมีพายุหมุนเขตร้อน 1-2 ลูกเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยหรือเคลื่อนเข้าใกล้และส่งผลกระทบในช่วงดังกล่าว ซึ่งจะทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นได้อีกและช่วยเพิ่มประมาณน้ำในแหล่งเก็บน้ำต่างๆ รวมทั้งพื้นที่การเกษตรได้บ้าง สำหรับปริมาณฝนรวมตลอดช่วงฤดูฝนทั้งประเทศจะสูงขึ้นกว่าปัจจุบัน แต่จะยังคงต่ำกว่าค่าปกติประมาณร้อยล่ะ 5-10
ส่วนนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากปัญหาภายแล้งและฝนทิ้งช่วงกระทบต่อเกษตรกรหลายพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ปลูกข้าวที่ต้องใช้น้ำจำนวนมาก จึงสั่งการให้กระทรวงการคลังและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ศึกษามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทั้งเรื่องปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน การปล่อยสินเชื่อใหม่เงื่อนไขผ่อนปรน และสินเชื่อหมุนเวียน และแผนช่วยเหลือด้านต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรผ่านพ้นปัญหาภัยแล้งไปได้ เมื่อบอร์ดธ.ก.ส.ประชุมพิจารณาแล้ว กระทรวงการคลังเตรียมเสนอ ครม.พิจารณาเร็วๆ นี้ เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องให้การช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ
มีรายงานแจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการธ.ก.ส.เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เห็นชอบมาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบปัญหาภัยแล้งปี 2562 เตรียมวงเงินสินเชื่อกว่า 100,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร 1.7 ล้านคน เตรียมเสนอ ครม.วันที่ 30 กรกฎาคมนี้ พิจารณา 4 มาตรการโดยการใช้งบอุดหนุนกว่า 7,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 3 รองรับเกษตรกรรายย่อยวงเงินกู้ไม่เกิน 300,000 ล้านบาทในช่วง 1 ปี นอกจากนี้ยังพร้อมขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้เป็นเวลา 2 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้ถึง 31 กรกฎาคม 2564 และยังเตรียมสินเชื่อฉุกเฉินให้กู้ 50,000 บาทต่อราย รวมวงเงิน 50,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ย 0% ปีแรก เป็นเวลา 1 ปี รวมทั้งสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติกู้ต่อรายสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท