จากเอกสารลับปานามาสู่เอกสารลับมอริเชียส
โดย..บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์
นับตั้งแต่นักข่าวสายสืบสวนสอบสวนกลุ่มหนึ่งได้เผยแพร่เอกสารลับชิ้นแรกที่เรียกว่า สวิส ลีคส์ หรือเอกสารลับสวิส เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เปิดโปงวิธีการเลี่ยงภาษีครั้งใหญ่ของบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่และนักธุรกิจชื่อดังภายใต้การสนับสนุนจากธนาคารเอชเอสบีซี ธนาคารข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของอังกฤษที่ทำผ่านธนาคารสาขาที่สวิตเซอร์แลนด์ ด้วยการให้บริการพิเศษทั้งการให้คำปรึกษาด้านการลงทุน การจัดสัดส่วนการลงทุน ฯลฯ ที่ออกแบบเฉพาะสำหรับกลุ่มลูกค้าคนสำคัญ
จากนั้นเป็นต้นมา วงการสื่อมวลชนก็ให้ความสำคัญกับการนำเสนอข่าวแนวใหม่ ด้วยการนำข้อมูลมาใช้ในการค้นหาความจริงที่มีมูล เรียกว่าเป็นการทำข่าวสืบสวนสอบสวนด้วยข้อมูล เริ่มด้วยการรวมตัวตั้งเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ไอซีไอเจ) ช่วยกันวิเคราะห์และเผยแพร่เอกสารลับชิ้นที่ 2 เมื่อปี 2559 นั่นก็คือ เอกสารลับปานามา ที่ทำให้โลกธุรกิจถึงกับสั่นสะเทือนไปทั่ว รวมไปถึงนักการเมือง คนดัง และมหาเศรษฐีในไทยเกือบ 600 ราย ที่มีชื่อว่าเป็นเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขตหรือบริษัทออฟชอร์ ในดินแดนที่ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี จนได้ฉายาว่าเป็น “สวรรค์ของการฟอกเงินและเลี่ยงภาษี” อย่าง หมู่เกาะเวอร์จินของอังกฤษ เกาะเคย์แมน ฮ่องกง มอริเชียส แม้กระทั่งที่สหรัฐซึ่งหลายรัฐก็ใช้วิธีนี้โดยรัฐบาลกลางอ้างว่าไม่มีสิทธิเข้าไปแทรกแซง เป็นต้น
ตามด้วย เอกสารลับพาราไดซ์ เมื่อปี 2560 เว้นมาร่วม 2 ปี ไ อซีไอเจก็ได้เปิดเอกสารลับฉบับที่ 3 เรียกว่า เอกสารลับมอริเชียส ( Mauritius Leaks ) โดยนักข่าว 54 คนจาก 18 ประเทศที่เป็นพันธมิตรไอซีไอเจได้ร่วมกันวิเคราะห์เอกสารลับกว่า 200,000 ชิ้น ที่ผู้หวังดีได้แอบฉกมาจากสำนักงานกฎหมายต่างชาติคอนเวย์ ดิลล์ แอนด์ เพียร์แมน ที่เชี่ยวชาญในการให้บริการด้านการทำธุรกรรมออฟชอร์ในมอริเชียสและเบอร์มิวดา ย้อนหลังไปถึงช่วงทศวรรษ 2533 ถึง 2560
ในบรรดาเอกสารลับที่ได้มานี้รวมไปถึงอีเมล การทำสัญญา ใบแจ้งยอดของธนาคาร บันทึกการประชุม การบันทึกเสียง ตลอดจนการวางแผนธุรกิจ ได้เปิดเผยข้อมูลที่หาได้ยากยิ่งเกี่ยวกับการเลี่ยงภาษีของบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่และนักลงทุนเอกชนในประเทศแถบเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ซึ่งส่วนหนึ่งมีชื่อติดใน 500 บริษัทยักษ์ใหญ่จากการจัดอันดับของฟอร์จูน โดยอาศัย “ประโยชน์จากกฎเกณฑ์ด้านภาษีที่เปิดช่องให้หลีกเลี่ยงภาระภาษีของประเทศต่างๆ เช่น อียิปต์ โมซัมบิก และประเทศไทย” ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องสูญเสียรายได้ถึงปีละแสนล้านดอลลาร์
ในรายงานของไอซีไอเจ เผยว่าการที่มอริเชียสมีอัตราการเก็บภาษีเงินได้ของบริษัทไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์ ประกอบกับได้ลงนามในสนธิสัญญาหรือข้อตกลงว่าด้วยการหลีกเลี่ยงการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อนกับประเทศต่างๆ รวม 46 ประเทศ ในจำนวนนี้ 18 ประเทศอยู่ในทวีปแอฟริกา ทำให้บริษัทข้ามชาติที่เปิดบริษัทนอกอาณาเขตในมอริเชียส ใช้เป็นทางผ่านของเงินลงทุน เพื่อให้สามารถลดหรือหลีกเลี่ยงภาระในการจ่ายภาษีในประเทศที่ลงทุนได้ที่เก็บภาษีสูงหรือมีภาษีซ้ำซ้อน
นิรมล สิทธารมัน รัฐมนตรีคลังและกิจการบริษัทอินเดีย ได้นำเสนอรายงานชิ้นหนึ่งระหว่างร่วมประชุมผู้นำกลุ่มจี 20 ที่ญี่ปุ่นว่า 30 ปีมาแล้วที่บรรดาบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของประเทศตะวันตกได้หอบเงินมาตั้งบริษัทบังหน้าเพื่อเลี่ยงภาษีที่มอริเชียส นอกเหนือไปที่เกาะเคย์แมน บาฮามาส์ เนื่องจากประเทศนี้มีนโยบายต้องการเป็นสวรรค์ของนักลงทุนที่ต้องการเลี่ยงภาษี โดยบริษัทนอกอาณาเขตในมอริเชียสได้หอบเงินลงทุนมาที่อินเดีย ซึ่งได้ลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการยกเว้นภาษีหรือยกเว้นการเก็บภาษีซ้ำซ้อนกับมอริเชียสเมื่อปี 2525 แต่ต่อมาเมื่อปี 2559 รัฐบาลอินเดียได้เปิดเจรจารอบใหม่กับมอริเชียส เพื่อทบทวนกฎหมายห้ามเก็บภาษีซ้ำซ้อน ทำให้การลงทุนในอินเดียผ่านบริษัทจดทะเบียนที่มอริเชียสวูบลงอย่างเห็นได้ชัด
( ICIJ )
อย่างไรก็ดี มอริเชียสยังคงเป็นสวรรค์ของบริษัทในอินเดียที่ต้องการเลี่ยงภาษี จากเอกสารลับของไอซีไอเจเผยว่า หนึ่งในสี่ของบริษัทที่มีชื่อในเอกสารลับเป็นบริษัทที่มีฐานปฏิบัติการอยู่ที่อินเดีย
มอริเชียส อดีตอาณานิคมฝรั่งเศสแถวมหาสมุทรอินเดียติดกับทวีปแอฟริกา ได้ผันตัวเองเป็นศูนย์กลางการเงินโลกและสวรรค์ของการเลี่ยงภาษี ซึ่งเท่ากับต้องก้าวข้ามศพของประเทศเพื่อนบ้านและประเทศด้อยพัฒนา อย่างอูกานดา ที่ประชาชนกว่า 40% มีรายได้วันละไม่ถึง 60 บาท
ในเอกสารลับชิ้นล่าสุดนี้เผยให้เห็นถึงระบบการเงินอันทันสมัยของมอริเชียสที่ออกแบบมาเพื่อดัดแปลงรายได้จากภาษีของประเทศยากจนกลับไปให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของตะวันตกและผู้ทรงอิทธิพลในประเทศแถบแอฟริกา โดยมอริเชียสได้รับส่วนแบ่งนี้ 2% ในฐานะทางผ่านจากอัตราภาษีฐานต่อรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้ทำสนธิสัญญาหรือข้อตกลงด้านภาษีกับ 46 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจน ภายใต้การขับเคลื่อนจากสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของตะวันตกเมื่อช่วงทศวรรษ 2533 พิสูจน์ให้เห็นว่าข้อตกลงเหล่านี้ล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อบริษัทยักษ์ใหญ่ของตะวันตก รวมไปถึงที่ปรึกษาทางกฎหมายและที่ปรึกษาทางการเงินและต่อมอริเชียสในฐานะหุ้นส่วนจากข้อตกลงต่างๆ
สำหรับคนดังที่มีชื่ออยู่ในเอกสารลับมอริเชียสก็คือ เซอร์บ็อบ เกลดอฟ นักร้องนักประพันธ์เพลงชาวไอริชที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลก โดยเฉพาะจากการเป็นหัวเรือใหญ่จัดคอนเสิร์ตไลฟ์ 8 เมื่อปี 2548 ในประเทศกลุ่ม จี 8 และแอฟริกาใต้ อันเป็นส่วนหนึ่งของการณรงค์แก้ไขปัญหาความยากจน ด้วยการกดดันกลุ่มผู้นำโลก ให้ปลดเปลื้องหนี้แก่ประเทศยากจน รวมถึงเพิ่มหรือปรับปรุงการให้การช่วยเหลือ และเปิดการเจรจาเพื่อกฎเกณฑ์การค้าที่เสมอภาค เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ประเทศยากจนมากขึ้น
ในส่วนของไทย ไอซีไอเจได้ร่วมมือกับสถาบันอิศรา ตรวจสอบฐานข้อมูลสำนักกฎหมายในเกาะมอริเชียส พบรายชื่อบริษัทใหญ่หลายประเทศใช้ประโยชน์เลี่ยงภาระด้านภาษีรายได้จากการลงทุน รวมทั้ง บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย ในกรณีลงทุนเหมืองอัคราในประเทศไทย และบริษัท ไทยซัมมิท เชป คอร์ป จำกัด เป็นต้น ( ลิงค์ข่าว บริษัทบนเกาะมอริเชียส หุ้นส่วน ไทยซัมมิท-ธนาธร )