สารพัดประโยชน์จากราชาต้นไม้"ยางนา"
สารพัดประโยชน์จากราชาต้นไม้"ยางนา"ต่อยอดอาชีพสร้างรายได้สู่ชุมชน"ดงน้อย"
บ้านดงน้อย ตำบลพระธาตุ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เป็นหมู่บ้านที่ปกคลุมไปด้วยป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะต้นยางนา ที่มีทั้งต้นเล็กและต้นใหญ่รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 40,000 ต้น ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันชาวบ้านได้อาศัยใช้ประโยชน์จากต้นยางนาอย่างนับไม่ถ้วน ทั้งการนำยางไม้มาอุดเครื่องจักสานเพื่อทำเป็นภาชนะในการตักน้ำ การนำน้ำมันยางนาไปผสมกับขี้เลื่อยไว้จุดไฟ ทำเป็นไต้ หรือ ขี้ไต้,ขี้กะบอง
สำหรับส่องสว่างในสมัยก่อน กิ่งไม้ยางนาที่แห้งแล้วก็นำมาทำฟืนได้ดี เนื้อไม้นำไปแปรรูปสำหรับสร้างบ้านเรือน แถมบริเวณรอบ ๆ ต้นยางนายังเหมาะต่อการเจริญเติบโตของเห็ดได้ดีไม่ว่าจะเป็น เห็ดระโงก , เห็ดปลวก , เห็ดแดง , เห็ดหน้าขาว , เห็ดไค , เห็ดเผาะ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเห็ดราคาแพงและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค
ที่สำคัญไปกว่านั้นต้นยางนายังให้ร่มเงา เป็นแอร์ธรรมชาติ หากร้อน ๆ เข้าไปซุกใต้ร่มยางนาจะเห็นได้ว่าอุณหภูมิลดลงทันตาเห็น ใบแห้งที่ร่วงลงมาก็เป็นปุ๋ยช่วยปรับระบบนิเวศน์ให้สมบูรณ์ นอกจากนั้น สรรพคุณทางยาของต้นยางนา ตั้งแต่โบร่ำโบราณ ยางนาเป็นยาบำรุงร่างกาย ฟอกเลือด บำรุงโลหิต แก้ตับอักเสบ แก้ปวดตามข้อ ห้ามหนองและสมานแผล ใช้ทาแผลเน่าเปื่อย แผลมีหนอง แผลเรื้อน แก้โรคหนองใน
สรรพคุณสารพัดเช่นนี้เอง ทำให้ชาวบ้านดงน้อยได้นำเอาต้นยางนากลับมาใช้ประโยชน์อย่างหลากหลายอีกครั้ง โดย สุรพงษ์ เผิ่งจันดา กำนันบ้านดงน้อย เล่าว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้เลยว่าต้นยางนาจะมีประโยชน์มากมายเพียงนี้ เห็นแต่คนเฒ่าคนแก่ในสมัยก่อนจะเฉือนต้นยางนาแล้วเอาไฟเผาที่ต้น เพื่อเอาน้ำมันมาทำเป็นขี้กระบอง หรือขี้ไต้เพื่อใช้เป็นแสงส่องสว่างในยามค่ำคืน
ปัจจุบันหมู่บ้านของเราได้จัดตั้งเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ระยะที่ 5 ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยทางสำนักงานเกษตรจังหวัดได้เชิญนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยให้เอาต้นยางนามาใช้ประโยชน์ พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างอาชีพ เสริมเศรษฐกิจให้ชุมชน จากนั้นได้ศึกษาต้นยางนาอย่างจริงจัง จนนำไปสู่กระบวนการวิจัยต่าง ๆ และสร้างองค์ความรู้ให้กับชุมชนในการเรียนรู้ ทั้งการเจาะน้ำมันยางนา เจาะเสร็จแล้วก็ได้น้ำมันยางมาและต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ ชาวบ้านจึงได้รู้ว่าน้ำมันยางนามีประโยชน์หลายอย่างจึงได้ตั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์จากน้ำมันยางนาขึ้นมา และต่อยอดเป็นอาชีพของคนในชุมชนมากมาย
เสถียร หล้าสุดตา วัย 57 ปี ชาวบ้านดงน้อย บอกว่า สำหรับชาวบ้านดงน้อยแล้ว ต้นยางนามีประโยชน์มหาศาล มีค่าดั่งทองคำ ยางนาสามารถนำมาผลิตน้ำมันดิบใช้เติมรถไถนาแทนน้ำมันดีเซลได้เลย หรือนำไปสกัดเป็นน้ำมันดีเซล เบนซิน ต้นยางนาที่จะเจาะเอานำมันได้คือ ต้องมีอายุราว 15-20 ปีขึ้นไป เริ่มจากการนำสว่านไฟฟ้าเจาะลงไปเนื้อไม้ยาง เฉลียงขึ้น 45 องศา ลึกประมาณ 10-20 เซนติเมตร
จากนั้นใช้ขวดพลาสติกที่ต่อกับจุกสายยางเสียบเข้ากับเนื้อไม้ ใช้ดินน้ำมันปิดกันอากาศเข้า ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน จะได้น้ำมันยางนาเต็มขวดราว 500 มิลลิลิตร แต่ละต้นสามารถเจาะได้หลายจุดในเวลาเดียวกัน เมื่อจะเปลี่ยนจุด ให้นำกิ่งไม้ยางดิบนำมาตอกเข้าไปตรงที่เจาะ เพื่อสมานแผลก็จะคืนสภาพเนื้อไม้อย่างสมบูรณ์ ไม่เป็นการทำลายต้นยางนาแต่อย่างใด น้ำมันดิบต้นยางนาขายได้ลิตรละ 80 บาทเลยทีเดียว และนอกจากขายที่ชุมชนแล้วยังมีร้านค้าสั่งให้ชุมชนผลิตให้เพื่อนำไปจำหน่ายอีกด้วย
ในขณะที่ มาริษา แก้วมหาวงษ์ อายุ 45 ปี ชาวบ้านดงน้อยอีกราย เป็นสมาชิกกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำมันยางนา บอกว่า ใบยางนาและน้ำมันยางสามารถจะนำไปสกัดทำเป็นสบู่ เพื่อลดการเกิด สิว ฝ้า ลบเลือนจุดด่างดำ โดยผ่านการวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาแล้วภายใต้แบรนด์ชื่อว่า อาลาทัช
ซึ่งจากผลการศึกษาจากต้นไม้ยางนา แล้วก็พบว่าสารสกัดจากน้ำมันยางนาสามารถดูดซึมเข้าสู่ผิวได้ดีกว่าครีมบำรุงผิวหรือมอยเจอร์ไรเซอร์ทั่วไป สบู่สกัดจากยางนาเหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาสิวที่รักษาเท่าไหร่ก็ไม่หาย อีกทั้งสารสกัดจากต้นยางนามีประสิทธิภาพมากกว่าอัลฟาอาร์บูติน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ลดการสร้างเมลานิน สีผิว ถึง 12 เท่า ซึ่งสารดังกล่าวมักผสมอยู่ใน เครื่องสำอางบนห้างที่มีราคาแพง
โดยการทำสบู่ยางนานั้น มาริษา บอกว่า ใช้ส่วนผสม กรีเซอรีน 1 ก.ก น้ำมันยางนา 2 ช้อนโต๊ะ สารสกัดจากใบยางนา 2 หยด ใบบัวบกสกัด 4-5 ช้อนโต๊ะ ส่วนขั้นตอนการทำนั้นเริ่มจากกระบวนการผลิตโดยการต้มละลายสารที่ใช้ทำสบู่ด้วยอุณหภูมิที่พอเหมาะ เสร็จแล้วนำไปผสมจากสารสกัดจากยางนาตามสูตรแล้วก็คนให้เข้ากัน จากนั้นเทลงในแบบพิมพ์สบู่ตามรูปแบบที่ต้องการปล่อยทิ้งไว้ให้เย็นประมาณ 2 ชั่วโมงแล้วก็แกะก้อนสบู่ออกจากแม่พิมพ์นำไปบรรจุในซอง หุ้มด้วยสูญญากาศก็จะได้สบู่รักษาสิวฝ้าจากน้ำมันยางนาได้แล้ว โดยราคาจำหน่าย ก้อนละ 35-100 บาท
ถึงวันนี้ชาวบ้านดงน้อย ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านที่มีผลิตภัณฑ์ที่ได้จากต้นยางนาแบบครบวงจร ที่เอาไว้จำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวที่ไปเยือน เพราะหมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านโอท็อปนวัตวิถีที่มีคนไปเยือนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 300 คน และมีรายได้จากการท่องเที่ยวและขายผลิตภัณฑ์ยางนาปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท
โดยยางนาถือเป็นราชาต้นไม้ ที่มีคุณประโยชน์มากมายหลายอย่าง และสร้างระบบนิเวศน์ของป่าเป็นอย่างดี เป็นทั้งแหล่งอาหาร แหล่งพลังงาน รวมทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนบ้านดงน้อยเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทำให้คนในชุมชนรู้รักและห่วงแหนของทรัพยากรที่มีอยู่ นำมาใช้ให้เกิดคุณค่า ทำให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ เป็นชุมชนต้นแบบในการพัฒนาที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน พัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
สำหรับยางนามีชื่อวิทยาศาสตร์ Dipterocarpus alatus Roxb. ex G.Don จัดอยู่ในวงศ์ยางนา (DIPTEROCARPACEAE) มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ยางกุง (เลย), ยางควาย (หนองคาย), ชันนา ยางตัง (ชุมพร), ยางขาว ยางแม่น้ำ ยางหยวก (ภาคเหนือ), ยางใต้ ยางเนิน (ภาคตะวันออก), ยาง (ภาคกลาง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), กาตีล (เขมร-ปราจีนบุรี), ขะยาง (ชาวบน-นครราชสีมา), จะเตียล (เขมร), เยียง (เขมร-สุรินทร์), จ้อง (กะเหรี่ยง), ทองหลัก (ละว้า), ราลอย (ส่วย-สุรินทร์), ลอยด์ (โซ่-นครพนม), ด่งจ้อ (ม้ง), เห่ง (ลื้อ) เป็นต้นและเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลของจังหวัดอุบลราชธานี
ยางนา จัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบหรือผลัดใบระยะสั้น มีความสูงของต้นได้ถึง 50 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ โคนต้นมักเป็นพูพอน ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง เปลือกต้นเกลี้ยงเป็นสีออกเทาอ่อน หลุดลอกออกเป็นชิ้นกลม ๆ เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลแดง เสี้ยนตรง เนื้อหยาบ ส่วนตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนและมีรอยแผลใบเห็นได้ชัด ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด
เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินแทบทุกชนิด ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 50-400 เมตร ในต่างประเทศพบได้ที่บังกลาเทศ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนามใต้ และมาเลเซีย