ข่าว

ป.ป.ช. เชือด "สุเทพ" ทุจริตสร้างโรงพักทดแทน

ป.ป.ช. เชือด "สุเทพ" ทุจริตสร้างโรงพักทดแทน

06 ส.ค. 2562

"ป.ป.ช." เชือด "สุเทพ" ผิด ม.157 ทุจริตสร้าง "โรงพักทดแทน" หลังเปลี่ยนวิธีจัดจ้าง โดยไม่ผ่าน "ครม."

 

          วันที่ 6 ส.ค. 62 - ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้รับความเสียหาย เป็นเงิน จำนวน 1,728 ล้านบาทนั้น เรื่องนี้มีการกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับพวก ว่าอนุมัติให้ สตช.เปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง จากเดิมจัดจ้างแบบรวมการที่ส่วนกลางโดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1 – 9) จำนวนหลายสัญญา เป็นรวมการจัดจ้างก่อสร้างที่ส่วนกลางในครั้งเดียวและเป็นสัญญาเดียวโดยไม่เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างก่อสร้างเสียก่อน โดยรู้อยู่แล้วว่าแนวทางที่อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงดังกล่าวการก่อสร้างจะไม่แล้วเสร็จนั้น

 

          คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริง ได้ดำเนินการไต่สวนรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องจนเสร็จสิ้นแล้ว สรุปผลการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ ดังนี้ คณะทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอก ศึกษาและพิจารณาแนวทางการจัดจ้างเพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการและประชาชนที่มาใช้บริการ ได้ข้อสรุปว่าวิธีการที่เหมาะสมต้องให้ สตช.เป็นผู้ดำเนินการเอง โดยวิธีจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี จึงเสนอแนวทางการจัดจ้างดังกล่าวต่อนายสุเทพ และครม.ให้ความเห็นชอบและให้ดำเนินการตามที่เสนอ แต่ปรากฏว่าต่อมา พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐจเรตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มีบันทึกลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 ถึงนายสุเทพ ขออนุมัติเปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดจ้างจากเดิมที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้กระจายการจัดซื้อ จัดจ้างไปตามตำรวจภูธรภาค หรือตำรวจภูธรจังหวัด เปลี่ยนเป็นกองโยธาธิการ สำนักงานส่งกำลังบำรุง เป็นหน่วยงานจัดจ้างก่อสร้างทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียว โดยอ้างว่าเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปโดยถูกต้องตาม ซึ่งนายสุเทพ พิจารณาแล้วได้อนุมัติให้ สตช. เปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดจ้าง โดยไม่นำเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงเสียก่อน จึงเป็นการอนุมัติโดยไม่มีอำนาจ และโดยรู้อยู่แล้วว่าแนวทางที่ตนอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงดังกล่าวการก่อสร้างจะไม่แล้วเสร็จ

 

          ต่อมา สตช.ได้ดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงิน 6,298,000,000 บาท ตามประกาศ สตช. ซึ่งตามประกาศประกวดราคาดังกล่าวแบบรูปรายการละเอียดกำหนดขนาดความยาวเสาเข็มตอกซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างที่มีนัยสำคัญต่อคดีนี้ไว้ที่ความยาว 21 เมตร ต่อต้น ปรากฏว่าบริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา โดยเสนอราคาต่ำที่สุด เป็นเงิน 5,848,000,000 บาท และได้จัดทำบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคา (BOQ) ส่งให้คณะกรรมการประกวดราคาภายใน 3 วัน ตามที่กำหนดไว้ในประกาศประกวดราคา

 

          โดยในส่วนของเสาเข็มตอกขนาดความยาว 21 เมตรนั้น บริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ระบุราคา จำนวน 2,520 บาท ต่อต้น ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตามท้องตลาด โดยตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ ราคาต้นละ 8,151.15 บาท และต่ำกว่าราคากลางของ สตช. ซึ่งกำหนดไว้ต้นละ 6,360 บาท ซึ่งการระบุราคาเสาเข็มตอกให้ต่ำกว่าราคา ตามท้องตลาดและราคากลางดังกล่าว โดยมีเจตนาจะให้ สตช.หักลดค่าเสาเข็มที่ตอกไม่ครบถ้วนตามแบบได้น้อย หรือต่ำกว่าราคาที่แท้จริงและตนได้ประโยชน์จากการกระทำดังกล่าว จึงเป็นการเอาเปรียบผู้เสนอราคารายอื่น ซึ่งต้องเสนอราคาตามความเป็นจริง ทำให้การเสนอราคาไม่มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม

 

          คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาแต่ละรายแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 8 เสียง (น.ส.สุภา ไม่ได้เข้าร่วมพิจารณา) ดังนี้ 1.การกระทำของนายสุเทพ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และการกระทำของ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6) 2.การกระทำของคณะกรรมการประกวดราคา ได้แก่ การกระทำของ พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ และ พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2552 มาตรา 10 และมาตรา 12 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6)

 

          2.1.การกระทำของ พ.ต.อ.จิรวุฒิ จันทร์เพ็ญ พ.ต.อ.สุทธี โสตถิทัต พ.ต.อ.พิชัย พิมลสินธุ์ พ.ต.อ.ณัฐเดช พงศ์วรินทร์ และ พ.ต.อ.ณัฐชัย บุญทวี มีมูลความผิดทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 78 (1) (2) และ (9) 3.บริษัท พีซีซี ดีเวลล๊อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด โดยนายวิษณุ วิเศษสิงห์ กรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท และนายวิษณุ ในฐานะส่วนตัว มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐพ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ถูกกล่าวหาอื่นได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ดามาพงศ์ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว พล.ต.ท.ธีรยุทธ กิติวัฒน์ และ พล.ต.ท.สุพร พันธุ์เสือ ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

 

          ทั้งนี้ ให้ส่งเรื่องรายงาน เอกสารหลักฐาน พร้อมความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษา ตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และส่งรายงาน เอกสารหลักฐานพร้อมความเห็น ไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย ตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 92 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 แล้วแต่กรณีต่อไป

 

          นายวรวิทย์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี กับพวกทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย (แฟลต) จำนวน 163 หลัง เป็นเหตุให้ สตช.ได้รับความเสียหายเป็นเงิน จำนวน 3,994 ล้านบาท นอกจากนั้น ปรากฏมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกรับเงินจากผู้รับจ้าง เป็นเงินจำนวน 91,678,000 บาทนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาแต่ละรายแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 8 เสียง ดังนี้ 1.การกระทำของนายสุเทพ เป็นกรรมเดียวกันกับกรณีอนุมัติให้ สตช.เปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดจ้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน)จำนวน 396 แห่ง ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้วินิจฉัยแล้วว่าการกระทำดังกล่าวมีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 2.การกระทำของคณะกรรมการประกวดราคา ได้แก่ พล.ต.ท.ธีรยุทธ กิติวัฒน์ พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ พ.ต.อ.ปัทเมฆ สุนทรานุยุตกิจ พ.ต.อ.จิรวุฒิจันทร์เพ็ญ พ.ต.ต.สิทธิไพบูลย์ คำนิล พ.ต.ต.พิชัย พิมลสินธุ์ และพ.ต.ต.สมานสุดใจ มีมูลความผิดทางอาญา ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6)

 

          3.การกระทำของดาบตำรวจ สายัณ อบเชย มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 มาตรา 151 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6) 4..การกระทำของ พ.ต.ท.คมกริบ นุตาลัย คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติด้วยคะแนนเสียง 5 เสียง ต่อ 3 เสียง ว่ามีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 มาตรา 151 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6) 5.การกระทำของ บริษัท พีซีซีฯ โดยนายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล กรรมการผู้จัดการ ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทฯ และนายพิบูลย์ ในฐานะส่วนตัว มีมูลความผิดทางอาญา ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 10 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

 

          ให้ส่งเรื่องรายงาน เอกสารหลักฐาน พร้อมความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษา ตามมาตรา 97 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และส่งรายงาน เอกสารหลักฐานพร้อมความเห็น ไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย ตามมาตรา 92 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 92 ประกอบพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 แล้วแต่กรณีต่อไป.