วอน รมว.คมนาคม เห็นแก่ชีวิตคนไทยเปลี่ยนรถตู้เป็นมินิบัส
ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย วอน รมว.คมนาคม ไตร่ตรองนโยบายรถตู้ไม่ต้องเปลี่ยนเป็นรถมินิบัสในทันทีอย่างรอบคอบอีกครั้ง
ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ภาควิชาวิศวกรรมขนส่ง คณะวิศวกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย Thailand Accident Research Center วอน ฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ที่ชีวิตต้องขึ้นอยู่กับการเดินทางด้วยรถตู้โดยสารสาธารณะ หลัง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายกำหนดให้รถตู้ไม่ต้องเปลี่ยนเป็นรถมินิบัสในทันที แต่เปลี่ยนเป็นภาคสมัครใจ และขยายการบังคับใช้รถตู้ที่หมดอายุการใช้งาน 10 ปี ขยายเวลาเป็น 12 ปี เหตุใดไม่เปลี่ยน รถตู้ เป็น มินิบัส หวั่นเอื้อ ใครบางคน (อ่านต่อ...) ยก เคสอุบัติเหตุรถตู้มักจะมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก พร้อมเผย รูปแบบการเดินทางด้วยรถโดยสารขนาดเล็กในประเทศที่เห็นความสำคัญของความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน
จากนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่กำหนดให้รถตู้ไม่ต้องเปลี่ยนเป็นรถมินิบัสในทันที แต่เปลี่ยนเป็นภาคสมัครใจ และขยายการบังคับใช้รถตู้ที่หมดอายุการใช้งาน 10 ปี ขยายเวลาเป็น 12 ปี นั้นสร้างความฮือฮาแก่คนที่ทำงานทางด้านความปลอดภัยทางถนน และประชาชนผู้ใช้รถตู้เป็นอย่างมาก ก่อนอื่นอยากให้ท่านฟังเสียงจากพวกเรารวมถึงประชาชนส่วนใหญ่ที่ชีวิตต้องขึ้นอยู่กับการเดินทางด้วยรถตู้โดยสารสาธารณะดูบ้าง
- เป็นเรื่องจริงที่ท่านบอกว่า อุบัติเหตุทางถนนเกิดจากผู้ขับขี่บกพร่อง มากกว่าเกิดจากยานพาหนะ แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุรถตู้คืออะไร คำตอบคือ การใช้ความเร็วของผู้ขับขี่ เนื่องมาจากคนขับรถตู้ต้องการวิ่งทำรอบ หรือไม่ก็เป็นพฤติกรรมส่วนตัวในการขับรถเร็วของคนขับ แต่..เมื่อเทียบรถตู้ กับรถมินิบัส ที่มาตรการเดิมจะให้เปลี่ยนไปใช้นั้น ท่านทราบหรือไม่ว่า ด้วยสมรรถนะของรถตู้ ทำให้สามารถทำความเร็วได้มากกว่ารถมินิบัส (นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่มาตรการเดิมจะให้เปลี่ยนไปใช้รถมินิบัส) รถตู้จะทำความเร็วได้เหมือนรถเก๋ง เราจะเห็นกันเสมอว่า ขับรถไปอยู่บนถนน ก็จะมีรถตู้แซงขวาพรวดขึ้นไปอยู่เสมอ (นี่ยังไม่อยากจะนึกถึง นโยบายใหม่ที่ท่านจะให้เพิ่มความเร็วจำกัดเป็น 120 กม.ต่อชม.) ดังนั้น จะพูดว่า อุบัติเหตุรถตู้ ไม่เกี่ยวกับยานพาหนะ จึงไม่ใช่ข้อสรุปที่ถูกต้องนัก
- สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถตู้ ท่านลองหลับตาแล้วนึกภาพตามว่าจะเกิดอะไรขึ้น ภายในรถตู้ที่มักมีการติดตั้งที่นั่งเรียงเป็นแถวๆ ถ้าเป็นรถโดยสารสาธารณะทั่วไป จะมี 4 แถวตอนหลังจากที่นั่งคนขับ ถ้านั่งกันเต็มรถ จะจุคนด้านหลังได้ 12-13 คน แล้วถ้าพูดถึงความเป็นจริงเรื่องเข็มขัดนิรภัย บอกได้เลยว่า น้อยมากที่ผู้โดยสารจะคาดเข็มขัดนิรภัยขณะนั่งรถตู้ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าไปสำรวจดีๆ จะพบว่า มีรถตู้หลายคัน ที่ไม่มีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัย หรือติดตั้งก็ไม่สามารถใช้งานได้ ผูกไว้ด้านหลังบ้าง ที่เสียบเสียบ้าง เมื่อรถตู้เกิดคว่ำหรือแค่พลิกขึ้นมา คนทั้งหมดในรถจะกองไปรวมกันอยู่ข้างใดข้างหนึ่งของรถ ก่อนอื่นเลย ต้องมีการบาดเจ็บแน่ๆ เพราะจะกระแทกกันเองก่อน ถ้ารถพลิกคว่ำด้านซ้ายทับประตูสไลด์ ก็จบกัน จะออกทางไหนได้ นอกจากช่องหน้าต่างเล็กๆ กับประตูหลัง คนตัวเล็กๆ เท่านั้น ที่จะปีนออกทางช่องหน้าต่างรถตู้ได้ ส่วนประตูหลัง บอกได้เลยว่ายากมากที่จะหนีออกมาได้ เพราะกว่าจะปีนข้ามเบาะสูงๆ เพื่อไปเปิดประตูหลังออกมา
- ซ้ำร้ายไปกว่านั้น จากหลายๆ เคสอุบัติเหตุรถตู้ที่ทางศุนย์วิจัยฯ ได้เคยไปเก็บข้อมูลมา พบว่า เมื่อเกิดการชนเกิดขึ้น ถังน้ำมันซึ่งอยู่ค่อนไปทางด้านหน้า ท่อน้ำมันมักจะแตก พอชนก็จะเกิดประกายไฟ ไฟจะเริ่มลุกไหม้จากทางด้านหน้ารถ ลามไปด้านหลัง คนขับอาจจะรอด เพราะหนีได้จากประตูคนขับ (แต่หลายรายก็ไม่รอด เพราะถ้าชนด้านหน้าเต็มๆ รถตู้หน้าสั้น คนขับก็อาจตายก่อน) ส่วนผู้โดยสารที่กองไปอยู่ด้านใดด้านหนึ่งของรถ เมื่อเกิดการชน ผู้โดยสารที่กำลังอยู่ในสภาพที่บาดเจ็บอยู่แล้ว เมื่อมีไฟลามมาจะหนีไปทางไหนได้ เรียกได้ว่าเหมือนปลากระป๋องอัดแน่นกันอยู่ในรถ ไม่มีทางออกเลยทีเดียว ท่านลองนึกภาพตามว่าเวลาไฟไหม้นี่มันจะลามไปเร็วขนาดไหน ยิ่งมีเบาะที่นั่งเป็นเชื้อเพลิงอีก รับรองได้เลยว่าหนีออกมาไม่ทันแน่ๆ เราเลยมักเห็นเคสอุบัติเหตุรถตู้หลายๆเคส ที่ถ้ามีไฟไหม้ขึ้นมา มักจะมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
- ถ้าพูดถึงรถมินิบัสล่ะ เห็นภาพก็รู้แล้วว่ารถมินิบัส มีพื้นที่ภายในรถมากกว่า มีช่องทางเดินตรงกลาง หน้าต่างมีขนาดใหญ่กว่า มีประตูฉุกเฉินทางด้านขวา และส่วนใหญ่มักจะมีประตูฉุกเฉินบนหลังคารถด้วย เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะสามารถหนีออกมาได้เร็วกว่า ท่านลองทดสอบดูก็ได้ว่า เอาผู้โดยสาร 12-13 คน ให้นั่งบนรถตู้ กับ นั่งบนรถบัส รถประเภทไหนผู้โดยสารจะใช้เวลาหนีลงมาได้เร็วกว่ากัน
- เมื่อพูดถึงเรื่องความเร็ว กับเรื่องเข็มขัดนิรภัย ไม่อยากให้ท่านคิดว่าการควบคุมความเร็วโดยการติดตั้ง GPS หรือการใช้มาตรการทางด้านกฎหมายบังคับให้คาดเข็มขัดนิรภัยจะใช้ได้ผลเสมอไป การติดตั้ง GPS นั้นก็ยังมีความจำเป็นอยู่ แต่ในความเป็นจริง ยังมีรถตู้อีกหลายคันที่ติดตั้ง GPS แล้วแต่ก็ไม่ได้เชื่อมข้อมูลไปที่กรมขนส่งทางบก หรือเมื่อตรวจสอบว่ารถตู้คันนี้มีการใช้ความเร็วเกินกำหนด การเตือนก็ไม่ได้ทำได้ทันที คือถ้าขับเร็วๆ อยู่ คงไม่มีใครโทรไปแจ้งให้คนขับคันนั้นขับรถช้าลง อย่างมากก็เป็นการเตือนเมื่อรถตู้ถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ส่วนเรื่องการบังคับให้คาดเข็มขัด ผู้เขียนไม่อยากให้ทุกอย่างไปขึ้นอยู่กับการบังคับผู้โดยสาร เพราะแน่นอนว่าเราทำไม่ได้ 100% เอาง่ายๆ เรื่องหมวกกันน๊อค เราเห็นๆ กันอยู่บนถนนทั่วไป ยังไม่สามารถบังคับให้คนขี่มอเตอร์ไซค์สวมหมวกกันน๊อคได้ 100% เรื่องเข็มขัดบนรถตู้นี่จะไปตรวจสอบได้ยากมาก
- สรุป สุดท้ายอยากให้ท่านรัฐมนตรี พิจารณาไตร่ตรองถึงนโยบายนี้อย่างรอบคอบอีกครั้ง กว่ามาตรการการเปลี่ยนรถตู้เป็นรถมินิบัสจะออกมาได้นี้ เราต้องสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินไปมากมายขนาดไหนเพื่อจะแลกกับนโยบายด้านความปลอดภัยนี้ออกมาได้ มีการศึกษาและมีข้อมูลทางด้านวิชาการมากมายที่สนับสนุนแนวคิดการเปลี่ยนแปลงการใช้รถตู้นี้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เริ่มต้นมาจากการเสียชีวิตเป็นจำนวนมากของคนไทยจากการโดยสารรถตู้ในอดีตที่ผ่านมา อยากให้ท่านพิจารณาว่า ความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นหมื่นล้านในการนำเข้ารถมินิบัสที่ท่านอ้างถึง (ซึ่งผู้เขียนยังไม่ค่อยอยากจะเชื่อนัก ว่ารถมินิบัสต้องใช้วิธีการนำเข้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น) เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าชีวิตคนไทย ที่ต้องมาเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ จากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้กำกับดูแล (ซึ่งก็มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยด้วยเช่นเดียวกัน) อย่างไหนเราควรให้ความสำคัญมากกว่ากัน
อีกเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจก็คือ ในการยกระดับความปลอดภัยของการเดินทางด้วยรถตู้โดยสารสาธารณะ เราต้องทำให้องค์ประกอบทุกด้านของการเดินทางด้วยรถตู้นั้นปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็น คนขับรถตู้ ยานพาหนะ อุปกรณ์นิรภัย ผู้โดยสาร สภาพถนนและสิ่งแวดล้อม ขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่ง การยกระดับความปลอดภัยจะล้มเหลวทันที ดังนั้นเราจึงไม่สามารถที่จะไปมุ่งหวังเฉพาะตัวคนขับรถเพียงอย่างเดียวได้ แนวคิดนี้ได้ถูกพิสูจน์มาแล้วในหลายๆ ประเทศที่เค้าประสบความสำเร็จในการพัฒนาทางด้านความปลอดภัยทางถนน ถ้าประเทศไทยอยากจะไปสู่จุดๆ นั้น อาจต้องถึงเวลาเปลี่ยนความคิดที่ว่าสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนมาจากผู้ขับขี่เท่านั้น..