ข่าว

ชูผลสำเร็จ ศาสตร์พระราชา สร้างฝายชะลอน้ำประยุกต์

ชูผลสำเร็จ ศาสตร์พระราชา สร้างฝายชะลอน้ำประยุกต์

14 ส.ค. 2562

กรมชลฯชูผลสำเร็จศาสตร์พระราชา สร้างฝายชะลอน้ำประยุกต์ ชาวบ้านทำได้เอง ราคาถูก อายุใช้งานนาน-คงทน ต่อยอดระบบสูบด้วยพลังงานแสงอาทิตย์กระจายน้ำแบบน้ำหยด

 

14 สิงหาคม 2562 นายภัทรพล ณ หนองคาย ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 6 กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน โดยศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ  

 

 

ประสบผลสำเร็จ ในการน้อมนำศาสตร์พระราชา เกี่ยวกับการสร้างฝายชะลอน้ำ มาประยุกต์ใช้กับหลักวิศวกรรมชลประทาน ในการสร้างฝายซอยล์ซีเมนต์ (Soil Cement) ทดแทนฝายหินทิ้งแบบเดิม ซึ่งช่วยลดอัตรารั่วซึม เพิ่มปริมาณน้ำที่เก็บกักในตัวฝาย ราคาถูกกว่าฝายคอนกรีต ก่อสร้างไม่ยุ่งยากชาวบ้านทำเองได้ ที่สำคัญอายุใช้งานยืนยาว โดยนำไปทดลองใช้ในพื้นที่ลุ่มน้ำชีแล้วตั้งแต่ปี 2558

 

ทั้งนี้ หลังประสบผลสำเร็จในการสร้างฝายซอยล์ซีเมนต์ดังกล่าว ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำขึ้นเมื่อปี 2559 ที่จ.ขอนแก่น ช่วยเกษตรกรลุ่มน้ำชีใน 5 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด ที่ประสบปัญหาน้ำเป็นประจำ ซึ่งได้มีการพัฒนาสร้างนวัตกรรมช่วยเหลือเกษตรกรให้มีน้ำใช้เพื่อการเกษตรมาต่อเนื่อง

 

ล่าสุดพัฒนาสร้างชุดสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์และระบบกระจายน้ำแบบน้ำหยด พร้อมสร้างสระแบบซอยล์ซีเมนต์ช่วยเหลือเกษตรที่อยู่ในพื้นที่สูงกว่าฝายให้มีน้ำใช้ ผลที่ได้คือ สระแบบซอยซีเมนต์เก็บน้ำ ใช้น้ำได้เต็มประสิทธิภาพ เกษตรกรมีน้ำเพียงพอดูแลพืชสวนพืชไร่ตลอดปี ทำให้ภาวะฝนทิ้งช่วงปีนี้เกษตรกรในพื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ

 

นายสุภัทรดิศ ราชธา ที่ปรึกษาศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ เปิดเผยว่า ชุดสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์พร้อมระบบกระจายน้ำแบบน้ำหยด ช่วยเกษตรกรประหยัดไฟและน้ำซึ่งการสูบน้ำจากที่ต่ำขึ้นที่สูง โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์นั้นประหยัดค่าไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 30,000บาท แผงโซลาร์เซลล์ขนาด 1 นิ้ว สูบน้ำได้คราวละ 5 ลูกบาศก์เมตร ตัวแผงออกแบบมา เพื่อใช้กับระบบกระจายน้ำแบบน้ำหยด ช่วยให้เกษตรกรใช้น้ำน้อยกว่าการปลูกพืชแบบน้ำท่วมแปลงประมาณ 80% โดยใน 1 วัน ใช้น้ำเพียง 1 ลูกบาศก์เมตร ดูแลพื้นที่ปลูก 1 ไร่ แผงโซลาร์เซลล์อายุใช้งานประมาณ 25 ปี ราคาไม่แพง เกษตรกรประกอบ บำรุงรักษาได้เอง

 

“อยากให้เกษตรกรลองหันมาใช้พลังงานทดแทน เพราะราคาถูก เปรียบเทียบพื้นที่ทั่วไปใช้งบลงทุนต่อไร่ประมาณ 10,000 บาท แต่หากใช้นวัตกรรมที่กล่าวมาจะใช้งบลงทุน 2,500-6,000 บาทเท่านั้น ช่วยลดการแย่งชิงน้ำ ช่วยเหลือตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาภาครัฐทั้งหมด หากเกษตรกรสนใจ ติดต่อได้ที่ Facebook ชื่อ ศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ หรือ โทรศัพท์ 08-1260-0794 หรือที่สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 6 อ.เมือง จ.ขอนแก่น โทรศัพท์ 0-4322-7340” นายสุภัทรดิศ กล่าว