"ปิยบุตร" ตั้งข้อสังเกต ศาลรธน. ทำหน้าที่พิทักษ์รัฐประหาร
"ปิยบุตร" ตั้งข้อสังเกต ศาลรธน. ทำหน้าที่พิทักษ์รัฐประหาร -ประกาศแก้รธน. ให้คำสั่งคสช.บางฉบับขัดรธน. หวังช่วยศาลรธน.ทำหน้าที่พิทักษ์รธน.
"ปิยบุตร" ตั้งข้อสังเกต ศาลรธน. ทำหน้าที่พิทักษ์รัฐประหาร - ประกาศแก้รธน. ให้คำสั่งคสช.บางฉบับขัดรธน. หวังช่วยศาลรธน.ทำหน้าที่พิทักษ์รธน. "ส.ส." วิจารณ์หลักสูตรศาลรธน. เอื้อประโยชน์-เพิ่มเหลื่อมล้ำ แนะทบทวน
วันที่ 14 ส.ค. 62 - ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระพิจารณารายงานประจำปี 2560 ของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกำหนด ทั้งนี้ในการพิจารณารายงานดังกล่าว มีส.ส.อภิปรายต่อเนื้อหาและเสนอแนะต่อการปฏิบัติงานของศาลรัฐธรรมนูญ
นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่าบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญคือต้องพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่ที่ผ่านมาหลังการรัฐประหารปี 2557 พบว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญได้ ทำให้รายงานประจำปี 2560 ของศาลรัฐธรรมนูญที่รายงานต่อการรับคดีตั้งแต่ปี 2557 - 2559 มีจำนวนที่น้อยลง ซึ่งตนเข้าใจว่าการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยนั้นมีความสัมพันธ์กับการยึดอำนาจ เมื่อปี 2557 ตั้งแต่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจ อย่างไรก็ตามตนแปลกใจในคราวแรกที่ คสช. ไม่ยุบศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญคือต้องเป็นองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญและต่อสู้กับการรัฐประหาร
"คณะรัฐประหารบีบบังคับให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ส่วนจะพิทักษ์รัฐประหารหรือไม่ เป็นอีกเรื่อง เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นคือ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 บัญญัติรับรองการกระทำ ประกาศ และคำสั่ง คสช. นั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับมาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่รับรองการกระทำของคณะรัฐประหารถูกต้องไว้ทั้งหมด ดังนั้นมาตราดังกล่าวต้องถูกแก้ไข เพื่อให้เกิดการตรวจสอบว่าบรรดาคำสั่ง ประกาศและการกระทำของ คสช. นั้นขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพื่อให้บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญทำได้เต็มที่" นายปิยบุตร กล่าว
ด้าน นายรังสิมัน โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยกเลิกทีมงานสนับสนุนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้สิทธิตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่งตั้ง ที่ปรึกษา เลขานุการ ผู้ช่วยเลขานุการ ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งใช้งบประมาณจ่ายเป็นค่าตอบแทนรวมทั้งสิ้น 28.3 ล้านบาทต่อไป นอกจากนั้นขอให้ทบทวนที่ศาลรัฐธรรมนูญจัดหลักสูตรนิติธรรมประชาธิปไตย ที่ให้ผู้มีตำแหน่งในหน่วยงานรวมถึงนักการเมืองเข้าไปอบรม ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดการมีเส้นสายและบางกรณีอาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อจริยธรรมได้
ขณะที่ประเด็นว่าด้วยหลักสูตรของศาลรัฐธรรมนูญมี ส.ส. ที่แสดงความไม่เห็นด้วยและต้องการให้ทบทวน อาทิ นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากการจัดหลักสูตรของศาลนั้น จัดไว้เฉพาะผู้บริหารระดับสูง ที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม และสร้างเครือข่ายที่ช่วยเหลือกันได้ เช่น กรณีบุคคลในกระบวนการยุติธรรมเข้าอบรมร่วมกับนักธุรกิจจะเกิดอะไรขึ้น ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีผลผูกพันกับทุกองค์กร จึงเป็นองค์กรสูงสุด ดังนั้นต้องทำให้เป็นหน่วยงานที่เป็นหลักของบ้านเมือง.