24 ส.ค. 2562

กรุงเทพโพลล์ เผยผลสำรวจแพ็คเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ด้าน ส่วนใหญ่ไม่รู้

 

24 สิงหาคม 2562 กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ  สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ความคิดเห็นต่อ แพ็คเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ด้าน”  โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,189 คน  

 

ทั้งนี้พบว่า ประชาชนร้อยละ 48.1 ทราบข่าวแพ็คเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ด้าน ของรัฐบาล ขณะที่ร้อยละ 51.9 ระบุว่าไม่ทราบ

 

เมื่อถามถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง พบว่า ด้านที่ส่วนใหญ่เห็นว่าสามารถช่วยได้ในระดับมากถึงมากที่สุดคือ การประกันรายได้ในพืชเศรษฐกิจหลัก (ร้อยละ 47.8) ด้านชดเชยการปลูกข้าว (ร้อยละ 41.6) และด้านเงินกู้ฉุกเฉินรองรับภัยแล้ง (ร้อยละ 38.8) ส่วนด้านที่ส่วนใหญ่เห็นว่าสามารถช่วยได้ในระดับปานกลางคือ ด้านการผ่อนคลายหนี้สินด้านดอกเบี้ยให้เกษตรกร (ร้อยละ 42.2) และด้านสนับสนุนสินเชื่อใหม่และต้นทุนการเพาะปลูก(ร้อยละ 40.5)

 

ทั้งนี้มาตรการเพิ่มเงินพิเศษผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ เป็นเวลา 2 เดือน (ส.ค.-ก.ย.)  จะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้มากน้อยเพียงใด พบว่า ด้านที่ส่วนใหญ่เห็นว่าสามารถช่วยได้ในระดับมากถึงมากที่สุดคือ การแจกเงินบรรเทาค่าใช้จ่ายผู้สูงอายุที่ถือบัตรคนจนเดือนละ 500 บาท (ร้อยละ 49.5) และแจกเงินให้แก่ผู้ถือบัตรคนจนที่ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดมีอายุ 0-6 ปี เดือนละ 300 บาท (ร้อยละ 39.5) ส่วนด้านการแจกเงินพิเศษผู้ถือบัตรคนจนเดือนละ 500 บาท ส่วนใหญ่เห็นว่าช่วยได้ในระดับน้อยถึงน้อยที่สุด (ร้อยละ 39.9)

 

สำหรับความเห็นต่อมาตรการกระตุ้นการอุปโภคบริโภคและการลงทุนในประเทศ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด พบว่า ด้านที่ส่วนใหญ่เห็นว่าสามารถช่วยได้ในระดับมากถึงมากที่สุดคือ ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ให้เข้าถึงแหล่งทุน/กู้เงินได้ง่ายขึ้น (ร้อยละ 44.5) ส่วนด้านกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช็อปใช้” โดยให้เงิน 1,000 บาท ต่อคน นั้น ส่วนใหญ่เห็นว่าช่วยได้ในระดับน้อยถึงน้อยที่สุด (ร้อยละ 52.5)

 

สุดท้ายประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้ง 3 ด้าน  มากที่สุดคือ เกิดการใช้จ่ายคล่องตัวขึ้น (ร้อยละ 42.4) รองลงมาคือ มีเม็ดเงินหมุนเวียนภายในประเทศดีขึ้น (ร้อยละ 40.5) และ มีความสุขในการดำเนินชีวิตไม่ติดขัด (ร้อยละ 34.5)