พิพากษากลับคุก ชาญชัย 16 เดือน หมิ่นคิงเพาเวอร์
"ชาญชัย" ยื่น 6 หมื่นประกันตัวสู้คดีชั้นฎีกา หลังศาลอุทธรณ์ พิพากษาคุกจริง 16 เดือนไม่รอลงอาญา สั่งลงโฆษณาคำตัดสินลง นสพ.7 ฉบับ
28 ส.ค.62 - ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง 63 ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.1567/2560 ที่ บริษัท คิงเพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวกรวม 3 คน (กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตรองประธานคณะอนุกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 , 328, 393 ประกอบ และ 332 (2) , 90
โดยคดีนี้โจทก์ฟ้องกรณีที่ นายชาญชัย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยเผยแพร่ข้อความให้ร้าย ทำให้เสียชื่อเสียง และมีผลกระทบต่อธุรกิจของโจทก์หลายประเด็น อาทิ กล่าวหาโครงการเช่าพื้นที่เพื่อประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากร และโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของโจทก์มีมูลค่าเงินลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท แต่ไม่ได้ดำเนินการ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535, กล่าวหาบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) และโจทก์ ไม่ได้ดำเนินการเชื่อมต่อระบบข้อมูลการซื้อขายสินค้าแบบ realtime หรือที่เรียกว่าระบบ Point of Sale (POS) ตามสัญญา ทำให้เกิดล่าช้ามานานถึง 9 ปี รวมทั้งกล่าวหาโจทก์จ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้กับ ทอท. ไม่ครบถ้วน ตามสัญญาบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ ทำให้ ทอท. ขาดรายได้ เป็นต้น
ซึ่งศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 ก.ย.61 เห็นว่าจำเลยมีหน้าที่ศึกษา ตรวจสอบ และจัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุง อันเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ใช่เรื่องที่แต่งเติมขึ้นมาใส่ร้ายแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ให้ยกฟ้อง
ต่อมา กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ โจทก์ ยื่นอุทธรณ์
ขณะที่ ศาลอุทธรณ์ ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า จำเลยในฐานะรองประธานอนุกรรมาธิการฯ มีอำนาจหน้าที่เพียงศึกษา วิเคราะห์ จัดทำแนวทาง แผนการปฏิรูป และข้อเสนอแนะเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเท่านั้น ห้ามไม่ให้อนุกรรมาธิการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน
ปัญหาว่าโจทก์ทั้งสาม ได้รับสัมปทานในสนามบินโดยมิชอบ มีการทุจริตและกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ใช่จำเลย และไม่ปรากฏว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินคดีต่อโจทก์ทั้งสาม โดยเฉพาะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติยกคำร้องกรณีที่มีการกล่าวหาการกระทำของจำเลย มีลักษณะจงใจกลั่นแกล้งให้ร้ายโจทก์ทั้งสาม ไม่ใช่การแสดงความเห็นโดยสุจริต จึงมีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย
ศาลอุทธรณ์ จึงพิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328, 393 รวม 2 กระทง ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 328 ฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาซึ่งเป็นบทหนักสุด ให้จำคุกจำเลย 2 กระทงๆ ละ 1 ปี รวม 2 ปี
ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 3 คงจำคุกกระทงละ 8 เดือน เป็นจำคุกทั้งสิ้น16 เดือน และให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาฉบับเต็มของศาลใน นสพ.ไทยรัฐ , เดลินิวส์ , ข่าวสด , มติชน , เดอะเนชั่น , สยามรัฐ , คมชัดลึก เป็นเวลา 15 วัน โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ ภายหลังฟังคำพิพากษาอุทธรณ์แล้ว นายชาญชัย จำเลย ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ 60,000 บาทขอปล่อยชั่วคราวนะหว่างฎีกาสู้คดี ซึ่งศาลพิจารณาแล้วก็อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนายชาญชัย
ขณะที่ นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ ทนายความของกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ โจทก์ กล่าวว่า ในการสืบพยาน โจทก์ได้อ้างส่งพยานเอกสารของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ศาลเห็นว่าโจทก์, ทอท. กรมศุลกากร, กรมสรรพากร, รายงานการประชุมของคณะอนุกรรมาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ สปท. ซึ่งมีจำเลยร่วมอยู่ในคณะอนุกรรมาธิการข้อเท็จจริงต่างๆ เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่ากลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์, ผู้บริหาร ทอท. และหน่วยงานต่างๆ มีมาตรการในการจัดเก็บผลประโยชน์เข้ารัฐ กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ไม่ได้หลีกเลี่ยงการส่งผลประโยชน์ให้แก่รัฐตามที่จำเลยแถลงข่าวต่อเนื่องตลอดมา ขอขอบคุณศาลอุทธรณ์ที่ได้พิจารณาข้อเท็จจริงและเอกสารโดยละเอียดครบถ้วน ให้ความเป็นธรรมกับกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จะเป็นขวัญกำลังใจให้กับกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่นำส่งผลประโยชน์เข้ารัฐตามกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของประเทศ