ด่วน ปิดระบายน้ำเขื่อนสิริกิติ์
กรมชลฯปิดระบายน้ำเขื่อนสิริกิต์ ลดปริมาณน้ำลงแม่น้ำน่าน เปิดทางเร่งระบายพื้นที่อุทกภัยไหลลงลำน้ำสาขาได้เร็วขึ้น พายุโพดุล อาละวาดวันสุดท้าย ถล่มท่วม 19 จังหวัด
1 กันยายน 2562 นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า อิทธิพลของพายุ “โพดุล” ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักบริเวณพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำน่าน บริเวณจังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งเมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา
โดยน้ำในลำน้ำธรรมชาติต่างๆ ไหลลงสู่แม่น้ำน่านอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนสิริกิติ์ บริเวณจังหวัดพิษณุโลก มีฝนตกหนักและมีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำหลายแห่ง ซึ่งปริมาณน้ำนี้จะไหลลงสู่ลำน้ำธรรมชาติ ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำน่านตามลำดับ ทั้งนี้หลายจังหวัดในภาคเหนือเกิดน้ำท่วม กรมชลประทานต้องเร่งระบายน้ำ จึงประสานไปยังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเขื่อนสิริกิติ์ให้ปิดการระบายน้ำของเขื่อนสิริกิตติ์จนถึงวันที่ 2 ก.ย. นี้เพื่อลดปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำน่าน ซึ่งจะทำให้น้ำที่ระบายจากลำน้ำสาขาต่างๆ ไหลลงสู่แม่น้ำน่านได้สะดวกมาก
นายทองเปลว กล่าวว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาที่ระบุว่า พายุโพดุลจะส่งผลให้มีฝนตกหนักวันนี้ (1 กันยายน 2562) เป็นวันสุดท้าย ขณะนี้โครงการชลประทานทุกแห่งทั่วประเทศระดมแก้ปัญหาอุทกภัย ล่าสุดมีน้ำท่วม 19 จังหวัดได้แก่ จังหวัดแพร่ พิจิตร น่าน พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม อุดรธานี อุบลราชธานี อำนาจเจริญ มุกดาหาร สกลนคร สระแก้ว ชุมพร และระนอง
ทั้งนี้ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) รายงานสถานการณ์น้ำท่วมรายจังหวัดดังนี้
- จังหวัดแพร่เกิดฝนตกหนักที่อำเภอร้องกวางวัดได้ 100 มิลลิเมตร ทำให้เกิดน้ำท่วมขังและเกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมโรงเรียนบ้านผาตารางวังหม้อ ตำบลทุ่งศรี นอกจากนี้
อ่างเก็บน้ำแม่คำปองมีน้ำล้นทางระบายน้ำล้น (Spillway) ลงลำน้ำเดิม โครงการชลประทานแพร่ได้ส่งเครื่องจักรเครื่องมือเข้าช่วยเหลือในพื้นที่ คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม สถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 2 วัน
- จังหวัดพิจิตรมีน้ำป่าจากอำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก
ไหลเข้าท่วมพื้นที่ในเขตอำเภอสากเหล็ก รวมทั้งเกิดน้ำป่าเทือกเขาเพชรบูรณ์ไหลล้นตลิ่งจากคลองธรรมชาติเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนและถนนสาย 11 ตำบลเขาทราย เทศบาลตำบลทับคล้อ อำเภอทับคล้อ ซึ่งโครงการชลประทานพิจิตรผันน้ำผ่านอาคารท่อระบายน้ำคลองร่องกอกใหญ่ไปยังตำบลวังหลุม อำเภอตะพานหินและส่งเครื่องสูบน้ำ 23 เครื่องเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่
- จังหวัดน่าน ฝนที่ตกหนักทำน้ำในอ่างเก็บน้ำน้ำแหง อำเภอนาน้อยไหลล้นทางระบายน้ำล้นเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรประมาณ 300 ไร่ของตำบลเชียงของและเกิดพื้นที่น้ำท่วมในตำบลสันทะ ศรีสะเกษ บัวใหญ่ และสถานของอำเภอนาน้อย รวมทั้งมีน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนราษฎรด้วย โครงการชลประทานน่านได้ส่งเครื่องสูบน้ำ 11 เครื่องเร่งสูบน้ำออกและใช้รถตักหน้าขุดหลัง 1 คันขุดขยายทางระบายน้ำแล้ว
- จังหวัดพิษณุโลกมีน้ำไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือน ส่งผลให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 3 อำเภอได้แก่ อำเภอเนินมะปราง วังทอง และนครไทย โครงการชลประทานพิษณุโลกได้ส่งเครื่องจักรเครื่องมือเข้าช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
- จังหวัดอุตรดิตถ์มีน้ำท่วมขังในบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำเนื่องจากการะบายน้ำในพื้นที่ไม่ทันและมีน้ำป่าไหลหลาก ล่าสุดพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมเหลือที่อำเภอน้ำปาด ส่วนอำเภอพิชัย สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โครงการชลประทานอุตรดิตถ์ส่งเครื่องสูบน้ำ 10 เครื่องเพื่อให้ความช่วยเหลือและยังเฝ้าระวังภัยอย่างใกล้ชิด โดยแนวโน้มจากการสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่จะเข้าสู่สภาวะปกติ หากไม่มีฝนตกหนักเพิ่มเติม
- จังหวัดยโสธร น้ำจากลำเซบายล้นตลิ่งเข้าท่วมที่ลุ่มต่ำและพื้นที่การเกษตรบ้านกุดสำโรง ตำบลศรีฐาน ชุมชนบ้านโพธิ์ไทร ตำบลโพธิ์ไทร และบ้านแซซ่ง ตำบลเซียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว โครงการชลประทานยโสธรติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 3 เครื่องเร่งระบายน้ำออก
-จังหวัดร้อยเอ็ดมีน้ำท่วมจากห้วยเหนือและคลองคูเมือง น้ำล้นบ่าเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน ถนนทางหลวง ถนนเทศบาล เขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ระดับน้ำลึก 50 เซนติเมตร - 1.20 เมตร ซึ่งทางระบายน้ำออกจากจังหวัดมีจุดเดียวที่ปากห้วยกุดขวางทำให้ระบายไม่ทัน โครงการชลประทานร้อยเอ็ดติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 4 เครื่องช่วยเร่งระบายน้ำให้ออกจส่งลงห้วยกุดขวางและแม่น้ำชีโดยเร็ว ส่วนน้ำที่ท่วมด้านฝั่งซ้ายของลำน้ำยังสูงประมาณ 2.20 ม. พื้นที่รวม 53,253 ไร่ใน 2 อำเภอคือ อำเภอโพนทอง 12,730 ไร่และอำเภอเสลภูมิ 40,523 ไร่
ทั้งนี้จะมีพื้นที่น้ำท่วมขยายตัวเพิ่มอีกประมาณ 27,000 ไร่ จากเหตุการณ์คันพนังกั้นน้ำยัง กม.12+000 ขาดจากน้ำไหลล้นข้าม เมื่อเวลา 07.45 น. ของวานนี้ (31 ส.ค. 62) โครงการชลประทานร้อยเอ็ด และส่วนเครื่องจักรกลติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 15 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 8 เครื่อง และสนับสนุนกระสอบทรายประมาณ 2,950 ใบเข้าเสริมพนังกั้นน้ำ
- จังหวัดกาฬสินธุ์มีพื้นที่น้ำท่วมอำเภอเขาวง 1,110 ไร่และในเขตบริเวณแก่งดอนกลางมีน้ำท่วมจากการเร่งพร่องน้ำอ่างฯ ห้วยสีทน โดยโครงการชลประทานกาฬสินธุ์และส่วนเครื่องจักรกลสำนักงานชลประทานที่ 6 ติดตั้งกาลักน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยสีทนเพื่อลดปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีระดับสูงขึ้น ป้องกันไม่ให้สูงกว่าระดับเก็บกัก
- จังหวัดชัยภูมิมีน้ำท่วม 3 อำเภอได้แก่ อำเภอแก้งคร้อ อำเภอคอนสวรรค์ และอำเภอเมือง โครงการชลประทานชัยภูมิส่งเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อเข้าช่วยเหลือแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง
- จังหวัดขอนแก่นมีพื้นที่น้ำท่วม 1 อำเภอคือ อำเภอบ้านไผ่ โดยท่วมบริเวณเทศบาลบ้านไผ่และถนนมิตรภาพ ส่งผลให้ถนนสายบ้านไผ่-บ้านเปือย ตำบลบ้านลานถูกน้ำกัดเซาะขาด ราษฎรไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ส่วนอ่างเก็บน้ำห้วยทรายซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง น้ำได้ล้นสันทางระบายน้ำล้นประมาณ 5 เซนติเมตร โครงการชลประทานขอนแก่นเร่งระบายน้ำเพื่อพร่องน้ำออกแล้ว
- จังหวัดมหาสารคามมีน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม เส้นทางหลวงหมายเลข 2322 (โกสุม-โสกขุ่น)
อำเภอโกสุมพิสัย ข้างโรงพยาบาล น้ำท่วมผิวจราจรเป็นระยะ 200 เมตร ต้องปิดการสัญจรแล้วเร่งสูบระบายลงแม่น้ำชี นอกจากนี้มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ชลประทานหนองหวาย รวม 2,700 ไร่ ตำบลหัวขวาง 300 ไร่ ตำบลเลิงใต้ 450 ไร่ ตำบลแห่ใต้ 1,800 ไร่ ตำบลยางน้อย 150 ไร่ ทางชลประทานเร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง
- จังหวัดอุดรธานีมีน้ำท่วมบริเวณโรงเรียนบ้านหมากแข้งและบริเวณสะพานคลองผันน้ำ อำเภอเมือง น้ำกัดเซาะทำให้คอสะพานฝั่งขวาชำรุด รถไม่สามารถสัญจรไปมาได้ โครงการชลประทานอุดรธานีนำรถแบ็คโฮ 2 คันมาเปิดทางน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำลงอ่างเก็บน้ำหนองสำโรง
- จังหวัดอุบลราชธานีเกิดน้ำป่าไหลหลากจากเทือกเขาพนมดงรักไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 2 อำเภอได้แก่ อำเภอดอนมดแดงและอำเภอตระการพืชผล โดยลำเซบกและลำห้วยสาขาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ และน้ำกัดเซาะคอสะพานข้ามลำเซบกทรุดตัว โครงการชลประทานอุบลราชธานีเข้าช่วยราษฎรขนย้ายสิ่งของขึ้นสู่ที่สูงและเร่งสูบระบายน้ำ
จังหวัดอำนาจเจริญน้ำท่วมสูงในเขตชุมชนเมืองอำนาจเจริญประมาณ 20-30 เซนติเมตร โดยสำนักงานชลประทานที่ 7 เร่งสูบน้ำออกอย่างต่อเนื่องเพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจ
- จังหวัดมุกดาหารมีน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนใน 2 อำเภอได้แก่ อำเภอนิคมคำสร้อยและอำเภอเมือง โครงการชลประทานมุกดาหาร ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่องเพื่อเร่งการระบายน้ำ
- จังหวัดสกลนครเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนรวม 2 อำเภอได้แก่ อำเภอโพนนาแก้วและโคกศรีสุพรรณ โครงการชลประทานสกลนครติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 4 เครื่องบริเวณสะพานบ้านด่านม่วงคำ อำเภอโคกศรีสุพรรณเพื่อเร่งระบายน้ำในลำน้ำก่ำสู่พื้นที่ด้านท้ายน้ำและเรียงกระสอบทรายบริเวณพนังกั้นน้ำต่ำที่เป็นจุดเสี่ยงต่อการไหลข้ามคันเข้าสู่พื้นที่การเกษตรอำเภอโพนนาแก้วแล้ว
- จังหวัดสระแก้วเกิดฝนตกหนักบริเวณอุทยานแห่งชาติปางสีดา วัดได้ 174.4 มิลลิเมตรทำให้มีน้ำท่วม 2 จุดได้แก่ บริเวณสะพานคลองโป่งดาวเรือง กม.16+450 สูงประมาณ 40 เซนติเมตร ปริมาณน้ำยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจุดนี้อยู่ท้ายอ่างเก็บน้ำห้วยกระบากที่รับน้ำจากอุทยานแห่งชาติปางสีดา นอกจากนี้บริเวณบ้านโป่งดาวเรืองมีน้ำท่วมสวนยูคาลิปตัสประมาณ 100 ไร่และบ้านเรือน 3 หลัง ขณะนี้น้ำลดลงแล้ว หากไม่มีฝนตกจะเข้าสู่ปกติใน 1 วัน
- จังหวัดชุมพรเกิดฝนตกหนักบริเวณต้นน้ำคลองชุมพรทำให้ได้เกิดน้ำล้นตลิ่งที่คลองชุมพร โครงการชลประทานชุมพรติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 4 ชุด บริเวณตำบลวังไผ่และอีก 4 ชุดที่บริเวณตำบลตากแดด อำเภอเมืองชุมพร
- จังหวัดระนองนั้น น้ำในคลองน้ำจืดไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมชุมชนหน้าตลาด บ้านน้ำจืด ตำบลน้ำจืด อำเภอกระบุรี เกิดผลกระทบกับราษฎรประมาณ 100 หลังคาเรือน โครงการชลประทานระนองติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่องทางฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของชุมชน เพื่อช่วยเร่งการระบายน้ำออกจากพื้นที่
“ได้กำชับให้โครงการชลประทานทุกพื้นที่เร่งสูบระบายน้ำที่ท่วมขังให้คลื่คลายเร็วที่สุด โดยจะดำเนินการจนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติตามข้อห่วงใยของนายกรัฐมนตรีและคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หากไม่มีฝนตกมาเพิ่ม พื้นที่ลุ่มต่ำมากจะใช้เวลาระบายน้ำไม่เกิน 1 สัปดาห์ แต่พื้นที่ส่วนใหญ่จะระบายออกได้หมดภายใน 2-3 วัน”นายทองเปลว กล่าว