ล้นทะลักแต่ไม่แตก กรมชลสยบข่าวเขื่อนพัง
กรมชลฯแจงเร่งระบายน้ำเขื่อนห้วยสีทน จ.กาฬสินธุ์ ลงลำน้ำปาว ยันไม่ได้ล้นสันเขื่อนหรือเสี่ยงที่จะแตก วอนประชาชนอย่าตื่นตระหนก
4 กันยายน 2562 นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 6 กล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่า จ.กาฬสินธุ์ได้เตือนพี่น้องประชาชนให้อพยพ และข้าวของขึ้นในที่สูงเนื่องจากชลประทานต้องเร่งระบายน้ำที่ล้นอ่างเก็บน้ำห้วยสีทนออกสู่แม่น้ำลำปาว จนล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำ
ยืนยันว่า สาเหตุที่ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปาวสูงขึ้นเกิดจากฝนที่ตกต่อเนื่องวัดได้กว่า 300 มิลลิเมตร ไม่ใช่เกิดจากอ่างห้วยสีทนล้นอ่างจนต้องเร่งระบายน้ำออก ทั้งนี้อ่างเก็บน้ำห้วยสีทนเดิมก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูฝนมีน้ำอยู่ 20 % แค่นั้นเอง แต่เมื่อฝนตกหนักมากใน 4-5 วันที่ผ่านมา น้ำในอ่างเก็บน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากที่ปริมาตรเก็บกัก 3.5 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำเพิ่มไปถึง 5 ล้านกว่าลูกบาศก์เมตร โดยระดับน้ำสูงกว่าทางระบายน้ำล้น 50 เซนติเมตร แต่ยังต่ำกว่าสันทำนบดิน 1.5 เมตร ระบายน้ำออกวันละ 350,000 ลูกบาศก์เมตร
โครงการชลประทานกาฬสินธุ์ร่วมกับสำนักเครื่องจักรกลติดตั้งกาลักน้ำขนาด 8 นิ้ว 5 แถว เร่งระบายน้ำออกจากอ่างห้วยสีทน ซึ่งมีระดับน้ำสูงกว่าทางระบายน้ำล้น (Spillway) ออกสู่แม่น้ำลำปาวเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ปฎิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) ขณะนี้ระดับน้ำยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ได้ปิดบานอาคารบังคับน้ำเพื่อเพิ่มการระบายน้ำออกจากอ่างห้วยสีทน ส่วนน้ำที่ล้นตลิ่งแม่น้ำลำปาว เข้าท่วมพื้นที่เกษตร
ขอให้ประชาชนอย่าตระหนกตกใจเนื่องจากการระบายน้ำผ่านทางระบายน้ำล้นเป็นกลไกปกติของอ่างเก็บน้ำ กรณีระดับน้ำในอ่างสูง แต่อ่างเก็บน้ำมั่นคงและแข็งแรงดี ไม่ได้ล้นหรือเสี่ยงที่จะแตก ปัจจุบันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยสีทนไหลลงไปบรรจบกับลำน้ำปาวซึ่งมีความจุอยู่ที่ประมาณ 300 ลูกบาศก์เมตร./วินาที แต่น้ำไหลผ่านประมาณ 350 ลูกบาศก์เมตร./วินาที
ดังนั้นน้ำส่วนนี้จะล้นตลิ่งขึ้นบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ ทางชลประทานกำลังเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำลำปาวที่ไหลลงสุ่ลำน้ำชี แต่ด้านท้ายลำน้ำชีมีระดับน้ำสูงจึงคาดว่า จะใช้เวลา 7-10 วันน้ำลำน้ำปาวจึงจะต่ำกว่าตลิ่ง ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำจากทางราชการอย่างใกล้ชิดและอย่าเชื่อข่าวลือใดๆ ทั้งสิ้น
สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางมีฝนตกหนักจากอิทธิพลจากพายุโพดุล แล้วต่อเนื่องด้วยพายุโซนร้อนคาจิกิ ส่งผลอุทกภัยเป็นบริเวณกว้าง โดยเขตชุมชนที่มีน้ำท่วมได้แก่ เขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด และเทศบาลบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น สำหรับพื้นที่การเกษต มี 4 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมรวม 581,576 ไร่ได้แก่ ขอนแก่น 68,079 ไร่ มหาสารคาม 206,475 ไร่ ร้อยเอ็ด 213,476 ไร่ และกาฬสินธุ์ 93,546 ไร่
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-กรมอุตุฯชี้แจงข่าวลือ คลื่นความหนาวและพายุฤดูร้อนเข้าไทย
-อุตุฯ เตือนฉบับ 9 คาจิกิอ่อนกำลัง เปลี่ยนทิศทาง
-ชาวโซเชียลฮาลั่นกรมอุตุฯไลฟ์พายุเอฟเฟกต์การ์ตูน
-อุตุฯ เตือนฉบับ 10 คาจิกิลงทะเลจีนใต้