ข่าว

ไกลปืนเที่ยง?

ไกลปืนเที่ยง?

25 พ.ย. 2552

มีคนสงสัยว่า คำว่า “ไกลปืนเที่ยง” นั้น จริงๆ แล้วคือ "ไกปืนเที่ยง” ใช่หรือไม่ และอธิบายความตามที่คิดว่าน่าจะเป็นว่า “ไกปืนเที่ยง” คือคนที่ยิงปืนแม่น เพราะถ้าไกปืนไม่เที่ยงก็จะทำให้ยิงไม่แม่น

 จริงๆ แล้ว คำนี้ต้องเป็น “ไกลปืนเที่ยง” ครับ ซึ่งมีที่มาจากการยิงปืนบอกเวลาเที่ยงวันในสมัยโบราณ เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีนาฬิกาใช้กันอย่างแพร่หลายเช่นปัจจุบัน อาจารย์สังคีต จันนะโพธิ ได้เล่าไว้ในหนังสือ “ภาษาคาใจ” จัดพิมพ์โดย เนชั่นบุ๊ค อินเตอร์เนชั่นแนล เมื่อปี 2546 ว่า “ปืนเที่ยง เป็นส่วนหนึ่งของราชการ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยิงขึ้นในกรุงเทพฯ เพื่อเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าถึงเวลาครึ่งวันแล้ว ข้าราชการที่ทำงานหยุดครึ่งวัน พักเที่ยง จัดการกับอาหารมื้อกลางวัน บรรดาพระสงฆ์ที่กำลังจังหัน ฉันเพล ก็จะต้องยุติ ปืนเที่ยงคือสัญญาณให้ประชาชนรู้ว่าถึงเวลาเที่ยงวัน เป็นเวลาที่พระอาทิตย์อยู่ตรงศีรษะพอดี ปืนที่ใช้ยิงนี้เป็นปืนหลวง เป็นปืนที่บรรจุกระสุนหลอก หน่วยงานที่รับภาระในการยิงปืนเที่ยงเป็นประจำนั้น ได้แก่กองทัพเรือไทย กำหนดเวลายิงปืน คือตอนพระอาทิตย์ตรงหัว คือเที่ยงตรง แต่ในกรณีที่ว่าพระอาทิตย์ตรงหัว อาจไม่แน่นอนเสมอไป แต่สำหรับเวลาเที่ยงวันนั้นเป็นสิ่งแน่นอน เพราะทางราชนาวีไทยมีวิชาคำนวณทางดาราศาสตร์

 ....หลักการคำนวณนั้น กองทัพเรือไทยยึดถือเอาพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามเป็นหลัก คือวัดเงาจากแสงดวงอาทิตย์ที่คล้อยไปตามจักรวาล เหตุที่ถือเอาพระปรางค์วัดอรุณเป็นหลัก ว่ากันว่าพระปรางค์วัดอรุณสูงและอยู่ใกล้กับสถานที่ตั้งหน่วยงานของราชนาวีไทยด้วย”

 “สถานที่ที่ใช้ยิงปืนเที่ยงนั้นเป็นแถวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าราชวรดิฐบ้าง หรือไม่ก็เป็นกองเรือกล ปืนที่ใช้ยิงก็คือปืนบนเรือรบนั่นเอง หากแต่ถอดเอามาติดตั้งบนบก มีล้อเข็นไปมาได้สะดวก ขนาดของปืน (คาลิเบอร์) ก็คงไม่เกิน 4 นิ้ว เวลายิงก็เข็นออกมา มีนายทหารเรือควบคุมการยิง แต่งเครื่องแบบนายทหารเรือ มีพลยิงเป็นผู้ทำการยิง ปากลำกล้องปืนจะหันไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนที่จะทำการยิง ทหารเรือก็จะเอาธงแดง 2 ธง ไปปักไว้ทั้งทางเหนือและทางใต้ เพื่อให้เป็นที่สังเกตบรรดาเรือที่ผ่านบริเวณนั้น มีทหารเรือตระเวนคอยห้ามเรือ...กระสุนที่ใช้ยิงปืนเที่ยงนั้น เป็นกระสุนหลอกมีแต่ดินปืนไม่มีกระสุนจริง แต่ถึงกระนั้น เพื่อความปลอดภัย (เซฟตี้ เฟิร์สต์) เมื่อบรรจุกระสุนแล้ว พลและนายทหารเรือผู้ควบคุมการยิงก็จะต้องคอยดูสัญญาณทางฝั่งวัดอรุณ ซึ่งจะให้สัญญาณในการยิง ด้วยการชักธงขึ้นสู่ยอดเสา"

 “การยิงปืนเที่ยงในอดีตนั้น ไม่มีพิธีรีตองอะไรมากมายนัก และก็ไม่น่าตื่นเต้นอะไร เพราะเป็นการยิงเพียงนัดเดียว...(การยิงปืนเที่ยง) ยกเลิกเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เพราะเห็นว่าได้ประโยชน์น้อย เสียค่าใช้จ่าย ดินปืน เบี้ยเลี้ยงเวลาราชการของทหารเรือ”

 สำหรับคำว่า “ ไกลปืนเที่ยง” นั้น เป็นสำนวนซึ่งหมายถึง คนที่อยู่ห่างไกลจนไม่ได้ยินเสียงปืนที่ยิงบอกเวลาเที่ยงวันตามที่อาจารย์สังคีตได้เล่ามา ทำนอง “คนหลังเขา” หรือคนที่ห่างไกลความเจริญ ไม่รู้ความเป็นไปของบ้านเมือง

 ครับ แม้ว่าปัจจุบันนี้บ้านเมืองจะพัฒนาแล้ว มีระบบโทรคมนาคมและสื่อสารที่ทันสมัยเชื่อมโยงคนที่อยู่ห่างไกลให้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว และสามารถตรวจสอบความถูกต้องของข่าวต่างๆ ได้โดยง่าย แต่ก็อุตส่าห์มีนักการเมืองบางคนที่ยังนึกว่าประชาชนอยู่ไกลปืนเที่ยง และชอบเสกสรรปั้นข้าว หรือโกหกคำโตๆ อยู่เป็นประจำ