เปิดเอกสารการบินพลเรือนเซ็นทรัลวิลเลจตั้งอยู่ในเขตปลอดภัย
ด่วนเปิดเอกสารการบินพลเรือน ยอมรับแล้วเซ็นทรัลวิลเลจ ตั้งอยู่ในเขตปลอดภัยการบิน
13 ก.ย.62-ด่วนเปิดเอกสารการบินพลเรือน ยอมรับแล้วว่า เซ็นทรัลวิลเลจ ตั้งอยู่ในเขตปลอดภัยการบิน มีความเสี่ยงต่อการถูกแทรกแซงโดยมิชอบด้วยกฎหมายระดับต่ำ แต่ดันให้ห้างฯทำรายงานผลกระทบความปลอดภัยในการเดินอากาศ พร้อมถามหาความเชี่ยวชาญด้านการบิน ระบุสนามบินสุวรรณภูมิศูนย์กลางการบินภูมิภาครองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคน ไม่ควรมีความเสี่ยงในการนำเครื่องขึ้น-ลง
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ กพท.17/7911 ลงวันที่ 6 กันยายน 2562 เรื่องการตรวจสอบผลกระทบจากการก่อสร้างภายในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ ณ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถึง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)(ทอท.) โดยระบุข้อความน่าสนใจเกี่ยวกับ โครงการก่อสร้างห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล วิลเลจ โดยระบุในข้อ 2.7 ความเสี่ยงต่อความปลอดภัยทางการบิน กรณีที่อาจจะถูกแทรกแซงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ขณะอากาศยานร่อนลงสู่สนามบินในระดับต่ำ
ในหนังสือข้อดังกล่าวอ้างถึง การฝึกอบรมของ กพท. กับ Transportation Security Administration ของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 14-23 สิงหาคม 2562 พบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการถูกแทรกแซงโดยมิชอบด้วยกฎหมายขณะเดินอากาศยาน Take Off และ Landing ในระดับต่ำ (Low Risk) และมีข้อแนะนำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อบรรเทาความเสี่ยงต่อการถูกแทรกแซง
ต่อมา มีหนังสือของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ที่ กพท.17/7491 ลงวันที่ 5 ก.ย. 2562 เรื่องการปฏิบัติตามข้อกฎหมายการเดินอากาศ ไปที่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีเอ็น วิลเลจ จำกัด เนื้อความโดยสรุปคือ จากกรณีที่ มีการปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ. การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 โดยฉบับล่าสุดมีผลใช้บังคับ เมื่อ 26 พ.ค. 2562 มีหลักเกณฑ์ใหม่เข้ามาดูแลความปลอดภัยภายในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ ตามมาตรา 59/1 และ 59/2 กพท. พิจารณาแล้วพบว่า ทั้งของโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ อยู่ในพื้นที่เขตปลอดภัยในการเดินอากาศ บริเวณใกล้เคียงสนามบินสุวรรณภูมิ และอาจจะมีการดำเนินกิจกรรมซึ่งอาจอยู่ในข่ายของการห้ามดำเนินการตามมาตรา 59/1 และ 59/2 กพท.จึงขอให้ บริษัท ซีพีเอ็น วิลเลจ จำกัด ดำเนินการประเมินความเสี่ยงของการดำเนินงานต่างๆ ที่อาจมีผลต่อการห้ามดังกล่าว และเสนอมาตรการต่างๆ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดความเสี่ยงที่ได้จากการประเมิน ทั้งนี้อาจจะทำในรูปแบบการประเมินผลกระทบต่อความปลอดภัยในการเดินอากาศและจัดส่งรายการดังกล่าวให้ กพท. พิจารณาภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ระบุในหนังสือ
แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน ตั้งข้อสังเกตในหนังสือ 2 ฉบับนี้ว่า กพท. ยืนยันแล้วว่า พื้นที่โครงการเซ็นทรัลวิลเลจ อยู่ในเขตความปลอดภัยการเดินอากาศ โดยโครงการเซ็นทรัลวิลเลจ อยู่ในพื้นที่มีความเสี่ยงต่อการถูกแทรกแซงโดยมิชอบด้วยกฎหมายอากาศยาน Take Off และ Landing ในระดับต่ำ แล้วให้โครงการเซ็นทรัล วิลเลจ มาก่อสร้าง อยู่ในเขตความปลอดภัยการเดินอากาศ ได้อย่างไร
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 ส.ค.62 นายจุฬา ยืนยันว่า กพท.เคยตรวจสอบและแจ้ง ทอท.ไปแล้วว่าโครงการเซ็นทรัลวิลเลจ ไม่มีผลต่อความปลอดภัยทางการบิน อยู่ในระยะที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการขึ้นลงของเครื่องบิน
ซึ่งขัดแย้งกับข้ออ้างที่ว่า การทดสอบของ กพท. กับ Transportation Security Administration เมื่อวันที่ 14-23 สิงหาคม 2562 นั้น เป็นระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์ ก่อนที่โครงการเซ็นทรัล วิลเลจ จะเปิดให้บริการ และมาทดสอบ เมื่อโครงการก่อสร้างเสร็จแล้ว โดยมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อมาตรการรักษาความปลอดภัยของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แม้จะเป็นระดับต่ำ แต่ เป็นข้อมูลใหม่ที่เพิ่งปรากฏในหนังสือของ กพท. ที่ 17/7911 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562
“ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีความเสี่ยงที่จะถูกแทรกแซง โดยมิชอบด้วยกฎหมายอากาศยาน แม้จะเป็นระดับต่ำก็ไม่ควรมี เนื่องจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นท่าอากาศยานนานาชาติ ที่มีผู้ใช้บริการ มากกว่า 60 ล้านคนต่อปี และเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคเอเซีย การที่มีผลการศึกษาในระดับสากลจากองค์กรที่ทั่วโลกยอมรับ ระบุว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีความเสี่ยงต่อการถูกแทรกแซง ย่อมจะมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับความปลอดภัยของท่าอากาศสุวรรณภูมิ ก่อนหน้าที่จะมีโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ มาตั้งอยู่ในพื้นที่เขตปลอดภัยทางอากาศ และเปิดให้บริการ เช่นในปัจจุบันนี้ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับท่าอากาศยานนานาชาติ เป็นความเสี่ยงที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น แม้แต่ 1%” แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญทางการบิน ระบุ
ทั้งนี้ สำนักงานการบินพลเรือน ยังไม่ได้บอกว่า ความเสี่ยงระดับต่ำ คือ ความเสี่ยงระดับใด คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ และ ความเสี่ยงระดับต่ำนั้น เป็นความเสี่ยงที่องค์กรการบินนานาชาติ ยอมรับได้หรือไม่ การที่ กพท. แนะนำให้ ทอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำมาตรการรักษาความปลอดภัย เพื่อบรรเทาความเสี่ยงต่อการถูกแทรกแซง เป็นข้อแนะนำที่มีความจริงจังมากน้อยเพียงใด จะต้องทำมาตรการรักษาความปลอดภัยด้านใดบ้าง เพราะในหนังสือของกพท. ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่า ความเสี่ยงที่เกิดขึ้น คือ ความเสี่ยงด้านใดบ้าง โอกาสที่จะถูกแทรกแซงด้านใดบ้าง
รวมทั้งค่าดำเนินการในการจัดทำมาตรการรักษาความปลอดภัย ของทอท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรเทาความเสี่ยง ที่เกิดขึ้นจากการเกิดขึ้นของเซ็นทรัล วิลเลจ เป็นค่าใช้จ่ายที่ ทอท. กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องแบกรับภาระด้วยหรือไม่
แหล่งข่าว ทอท. ระบุว่า การจัดทำมาตรการรักษาความปลอดภัยของ ทอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยืนยันได้อย่างไรว่า จัดทำแล้ว จะเป็นการทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กลับมาเป็นท่าอากาศยานที่ไม่มีความเสี่ยงได้หรือไม่ การไม่มีความเสี่ยงย่อมเป็นประโยชน์ต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และประเทศไทย มากกว่ามีความเสี่ยงในระดับต่ำ
“การที่ กพท. ทำหนังสือให้ ซีพีเอ็น วิลเลจ จัดทำรายงานผลกระทบความปลอดภัยในการเดินอากาศ เพื่อประเมินความเสี่ยง และบริหารจัดการ เพื่อป้องกันความเสี่ยง ส่งให้ กพท.ให้ความเห็นชอบ เป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ เนื่องจาก ซีพีเอ็น วิลเลจ ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านมาตรการความปลอดภัยการเดินอากาศ และเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ทั้งที่ กพท.ในฐานะผู้กำกับมาตรฐานความปลอดภัยการเดินอากาศ ควรจะเชิญทอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันเป็นคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา และกำหนดแนวทางให้ ซีพีเอ็น วิลเลจ เป็นผู้ปฏิบัติ ไม่ใช้ให้ ซีพีเอ็น วิลเลจ จัดทำมาตรการ และผลกระทบด้วยตนเอง เนื่องจาก ซีพีเอ็น วิลเลจ เป็นผู้ก่อให้เกิดผลกระทบ และก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อยู่ในขณะนี้” แหล่งข่าวใน ทอท. ตั้งข้อสงสัยในการทำงานของ กพท.