วาติกันประกาศ พระสันตะปาปา เสด็จเยือนไทยอย่างเป็นทางการ
ภายใต้พันธกิจเพื่อสันติภาพ-เยี่ยมคริสตชน-พบผู้นำศาสนา-ผู้นำเยาวชน-เยี่ยมงานสาธารณสุข
เวลา 14.00 น. วันที่ 13 กันยายน 2562 ที่อาคารรวมจิตเพียรธรรม โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ อาร์ชบิชอบอพอล ชาง อิน นัม เอกอัครสมณทูตนครรัฐวาติกันประจำประเทศไทย และพระคาร์ดินัล ฟรังซิสเเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช อ่านประกาศวาติกัน เรื่อง สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส เสด็จราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของรัฐบาลไทย และสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย เนื่องในโอกาส เชิญเฉลิมฉลอง 350 ปีแห่งการสถาปนามิสซังสยามและฉลองฉลอง 50 ปี แห่งสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยและนครรัฐวาติกัน ระหว่างวันที่ 20-23 พ.ย. 2562
มงซินญอร์ ดร.วิษณุ ธัญญอนันต์ รองเลขาธิการ สภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในการเสด็จเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงมีความโสมนัสอย่างยิ่ง สำหรับการจาริกเพื่อสันติภาพและเสวนาระหว่างศาสนา กับผู้นำศาสนาต่างๆ ในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้อง และจะทรงออกเยี่ยมงานทางด้านสาธารณสุขในประเทศไทย รวมถึงผู้นำเยาวชน ซึ่งในการนี้ จะทรงประกอบพิธีมิสซา 2 ครั้ง คือ พิธีมิซซาสำหรับคริสตชนคาทอลิกทั่วประเทศซึ่งมีอยู่จำนวน 388,468 คน จาก 11 เขตศาสนปกครอง(มิสซัง) อีกทั้งทรงเยี่ยมเยียนคริสตชนในประเทศไทยเป็นระยะเวลา 4 วัน ระหว่างวันที่ 20-23 พ.ย. ก่อนที่จะเสด็จต่อไปเยือนประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 23-26 พ.ย.โดยจะเสด็จเยือนกรุงโตเกียว เมืองนางาซากิและเมืองฮิโรชิมา กำหนดการต่างๆ ของการเสด็จเยือนโดยละเอียดจะประกาศให้ทราบต่อไป ทั้งนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเป็นประมุขโรมันคาทอลิกองค์ที่ 2 ที่เสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการในรอบ 35 ปีนับจาก สมเด็จสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 เสด็จเยือนราชอาณาจักรไทย ในฐานะพระราชอาคันตุกะ เมื่อวันที่ 10 พ.ค. พ.ศ.2527
ดร.วิษณุ กล่าวต่อว่า ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในประเทศไทย ปรากฏหลักฐานว่ามิชชั่นนารีคณะโดมินิกันได้เข้าสู่ประเทศไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตั้งแต่ปี ค.ศ.1511 และได้ตั้งรากฐานอย่างมั่นคงถาวร เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 4 ทรงสถาปนามิสซังสยามขึ้น เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ค.ศ. 1664 มีชชันนารีและศาสนิกชนคาทอลิกได้นำวิทยาการจากตะวันตกมาช่วยเสริมในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ อีกทั้งยังประกอบกิจเมตตาสาธารณกุศลแก่ประชาชนโดยทั่วไป
ทั้งนี้ คริสตศาสนิกชนยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์มาตลอดระยะเวลาอันยาวนานโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากราชวงศ์จักรี ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทย และสันตะสำนักแห่งนครรัฐวาติกันนั้น การติดต่อทางพระราชไมตรีระหว่างพระมหากษัตริย์สยาม และสมเด็จพระสันตะปาปาแห่งวาติกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมาจนถึงปี ค.ศ. 1469 นักบุญเปาโลที่ 6 พระสันตะปาปาจึงทรงสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทย และสันตะสำนักแห่งนครรัฐวาติกันในระดับเอกอัครราชทูต ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย - วาติกัน จึงได้กระชับแน่นแฟ้นขึ้นจนถึงปัจจุบัน สำหรับการเยือนระหว่างประมุขแห่งรัฐระหว่างราชอาณาจักรไทยและสันตะสำนักแห่งนครรัฐวาติกันนั้น มีขึ้นครั้งแรกเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินทวีปยุโรป เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินมาเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 11 เมื่อวันที่ 21 มี.ค. พ.ศ. 2477 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินมาเข้าเฝ้านักบุญยอห์นที่ 23 พระสันตะปาปา เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2503
สำหรับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ทรงเป็นพระสันตะปาปา ลำดับที่ 266 มีพระนามเดิมว่า ฮอร์เก มาริโอ แบร์โกลิโอ ประสูติเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ค.ศ. 1936 ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาเคมี จากมหาวิทยาลัยบัวโนสไอเรส และประกาศนียบัตรสาขาวิชาปรัชญา จากวิทยาลัย แม็กซิโม ซานโฮเซ่ ทรงเป็นอาจารย์วิชาวรรณกรรมและจิตวิทยา ทึ่ Colegio de la Inmaculada และ Colegio del Salvador ทรงศึกษาวิชาเทววิทยาและถวายพระองค์เป็นนักบวชบาทหลวงในคณะแห่งพระเยซูเจ้า (เยสุอิต) ในปี ค.ศ.1969 จากนั้น ทรงดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ทางเทววิทยา สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซานมิเกลพระองค์ทรงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอาร์ชบิชอปแห่งเขตศาสนปกครองกรุงบัวโนสไอเรส และได้รับการสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระคาร์ดินัล เมื่อปี ค.ศ. 2001ต่อมา ภายหลังที่สมเด็จพระสันตะปาปากิตติคุณเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงสละสมณศักดิ์ เมื่อ ค.ศ. 2013 จึงทรงได้รับเลือกตั้งจากคณะพระคาร์ดินัล ในการประชุม "คอนเคล็ฟ" ให้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ค.ศ. 2013 ทรงเลือกใช้พระนามว่า "ฟรังซิส" ซึ่งมาจากนามของนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี ผู้ก่อตั้งคณะนักบวชฟรังซิสกัน ผู้ถือความยากจน สนใจและเอาใจใส่ผู้ด้อยโอกาส ส่งเสริมสันติภาพ และรักษ์สิ่งแวดล้อม