ข่าว

17 ก.ย. 2562

การโจมตีกล่องดวงใจอุตสาหกรรมน้ำมันซาอุเมื่อสุดสัปดาห์ สะท้อนถึงการใช้โดรนและขีปนาวุธในเชิงยุทธศาสตร์ และพัฒนาการด้านอาวุธของอิหร่านอย่างไร



การโจมตีโรงน้ำมันใน ซาอุดีอาระเบีย เมื่อเช้ามืดวันเสาร์ ( 14 ก.ย.) ที่ผ่านมา ทำให้ผลผลิตน้ำมันจากประเทศส่งออกอันดับหนึ่งของโลกหายไปครึ่งหนึ่ง ซึ่งหมายถึงปริมาณน้ำมัน 5% ที่หายไปจากตลาดโลก ไม่ผิดคาดที่ราคาน้ำมันจะพุ่งทะยาน กระนั้น สถานการณ์ความผันผวนของราคา น่าจะเป็นแค่ระยะสั้น  แต่ผลพัวพันจากเหตุการณ์นี้มากกว่าที่น่าสนใจ 

 


โรงน้ำมันอับกออิก  ในจังหวัดตะวันออกของซาอุฯ  หนึ่งในสองเป้าหมายที่ถูกโจมตี  เป็นหัวใจการผลิตน้ำมันของประเทศ ในอดีต เคยตกเป็นเป้าโจมตีจากกลุ่มอัลกอดิดะห์มาแล้วเมื่อปี 2549 ด้วยรถบรรทุกระเบิด แต่สกัดได้ก่อน ครั้งนั้น ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น 2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

 


ซาอุดีอาระเบียจึงได้ทุ่มเงินมหาศาลต่อปีเพื่อปกป้องท่าเรือ ท่อน้ำมันและโรงน้ำมัน แต่การโจมตีล่าสุดที่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ทราบความเสียหายต่อสถานที่อย่างชัดเจน  ตอกย้ำความวิตกที่มีมานานว่า การปกป้องสถานที่สำคัญและอ่อนไหวเช่นนี้ในโลกยุคปัจจุบันไม่ง่ายอีกต่อไป  ด้วยเทคโนโลยีจากโดรน และการโจมตีไซเบอร์ ที่กลุ่มหรือกองกำลังแสวงหาได้ เช่น กลุ่มกบฏฮูตี ที่เชื่อกันว่าได้รับการสนับสนุนจากคู่ปรับซาอุฯตลอดกาลอย่างอิหร่าน และหากจะตอบโต้กลุ่มลงมือที่ไม่ใช่รัฐ หรือ non-state actor อย่างฮูตีด้วยแล้ว สหรัฐอเมริกา หรือซาอุดีอาระเบีย ก็คงทำได้อย่างจำกัด

 

แต่งานนี้ ผู้ร้ายตัวจริงในสายตาสหรัฐและซาอุดีอาระเบีย คืออิหร่าน  ขณะที่ ประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี แห่งอิหร่าน ปฏิเสธเกี่ยวข้อง แต่บอกด้วยว่า ชาวเยเมนมีสิทธิ และการโจมตีครั้งนี้คือการป้องกันตัวอย่างชอบธรรมและสมน้ำสมเนื้อกับการที่ซาอุฯเข้าแทรกแซงโจมตีเป้าหมายในเยเมน

 


นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงหลายรายเชื่อว่า โครงการโดรน ขีปนาวุธและจรวดล้ำสมัย ซึ่งการผลิตค่อนข้างถูก เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศของอิหร่าน  รวมถึงการถ่ายโอนอาวุธบางอย่างให้กองกำลังพันธมิตรในภูมิภาค ใช้ป้องปรามศัตรูและสนับสนุนกองกำลังตัวแทน ให้ลงมือโจมตีในนามของตน 


สถาบันบรูกกิงส์ ระบุว่า อิหร่านกลายเป็นผู้ส่งออกขีปนาวุธรายสำคัญ ด้วยศักยภาพการผลิต และเทคโนโลยีมิสไซล์ รวมถึงครูซ มิสไซล์ ยิงจากภาคพื้นดินพิสัยไกลที่สหรัฐเชื่อว่าอาจนำมาใช้โจมตีโรงน้ำมันซาอุฯร่วมด้วย 


แม้ฮูตีเคยใช้โดรนโจมตีตอบโต้ซาอุฯมาก่อน แต่ครั้งนี้ โจมตีเป้าหมายอยู่ลึกเข้าไปในแดนซาอุฯ 800 กม. ไกลกว่าทุกครั้ง สอดคล้องกับรายงานคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติเมื่อมกราคมปีนี้ ที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า นับจากกลางปี 2561 กองกำลังฮูตี มีอาวุธอย่างโดรนทรงอาณุภาพกว่าที่เคย บินเป็นระยะทางไกลว่าเดิม ได้มาครอบครองด้วยความร่วมมือกับอิหร่าน  ที่ส่งส่วนประกอบสำคัญ เช่น เครื่องยนต์ ระบบนำวิถีไปให้   

 

อิหร่านอ้างสอยโดรนสอดแนมสหรัฐล้ำน่านฟ้า 
เพนตากอนเผยคลิปโดรนแย้งพิกัดอิหร่าน-จับตาก้าวต่อไปสหรัฐ
กบฏเยเมนอ้างส่งโดรนโจมตีโรงน้ำมันสำคัญของซาอุฯไฟลุกท่วม 

 

 

โดรน-มิสไซล์อิหร่าน เขย่าตะวันออกกลาง

 


หนึ่งในนั้น คือโดรน  UAV-X อากาศยานบังคับระยะไกล ที่มีชื่อเล่น โดรนพลีชีพ หรือโดรนกามิกาเซ่  ที่จะทำลายตัวเองไปพร้อมกับการทำลายเป้าหมาย มีพิสัยบิน 1,500 กม. การส่งหุ่นยนต์บินได้จากเยเมนไปโจมตีถึงที่ตั้งทางอุตสาหกรรมน้ำมันในซาอุดีอาระเบียจึงอยู่ในวิสัยที่ทำได้  

 


โดรน UAV-X  มีเครื่องยนต์แรงกว่าโดรนรุ่น กอเซฟ-1  ที่เดิม ฮูตีเคยใช้ แต่ไปไกลได้แค่จากพื้นที่ยึดครองของกลุ่มกบฏถึงชายแดนทางใต้ของซาอุฯเท่านั้น

 

นอกจากเป็นอากาศยานติดหัวรบออกแบบโจมตีระยะไกล หัวรบที่ใช้ยังบรรทุกระเบิดผสม บอล แบร์ริง หนัก 18 กก. ได้   

 


กระนั้น การโจมตีล่าสุดที่โฆษกฮูตีอ้างว่าใช้โดรน 10 ลำนั้น  ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐระบุว่า ไม่พบหลักฐานว่าปล่อยจากเยเมน และเป็นไปได้ว่าอาจมีการใช้มิสไซล์ร่วมด้วย 

 


จากคลิปเหตุการณ์เมื่อวันเสาร์ ได้ยินเสียงรัวปืนกล บ่งว่า กองกำลังความมั่นซาอุฯพยายามจะสอยโดรน แต่ไม่สำเร็จ ความล้มเหลวในการตรวจจับขีปนาวุธหรือโดรน ด้านหนึ่งเผยจุดอ่อนของซาอุฯ ที่น่าจะหาหนทางป้องกันไว้ก่อนหน้านี้ แต่จัสติน บล็องค์ นักวิจัยสถาบัน รอยัล ยูไนเต็ด เซอร์วิส ในอังกฤษ แสดงความเห็นว่าการโจมตีแบบผสมผสานใช้ทั้งโดรน และขีปนาวุธ (กรณีใช้จริง ) ในทางทฤษฎี อาจลวงและทำให้ระบบป้องกันทำงานหนัก สร้างความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ให้กับผู้โจมตี  ขณะที่มาร์คุส มุลเลอร์ นักวิเคราะห์จากกลุ่มความมั่นคงและการทหาร ฟราวน์โฮเฟอร์ ในเยอรมนี ระบุว่า ระบบเรดาร์โดยทั่วไป ระบุตัวตนโดรนที่บินอยู่เหนือพื้นที่กว้างใหญ่ได้ บนพื้นผิว นอกเมือง หรือแม้แต่ในพื้นที่ภูเขาได้ แต่สิ่งท้าทายก็คือ ความสามารถในการมองเห็นและป้องกันโครงสร้างพื้นฐานอ่อนไหวได้แบบทันที

 


น่ากลัวกว่ายังคงเป็นมิสไซล์

 
อิหร่านมีขีปนาวุธครูซที่วิจัยโดยใช้วิศวกรรมย้อนกลับขีปนาวุธโจมตีภาคพื้นดินสหภาพโซเวียต KH-55 กับเทคโนโลยีขีปนาวุธต่อต้านเรือของจีน เสริมเขี้ยวเล็บตนเองและกองกำลังตัวแทนในภูมิภาค  เช่นในปี 2549 กลุ่มฮิซบุลเลาะห์ที่อิหร่านหนุนหลังในเลบานอน ยิงจรวดโจมตีเรืออิสราเอล โดยใช้อาวุธที่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเป็น ซี-802 เทคโนโลยีของจีน    

 

ในรายงานประเมินภัยคุกคามทั่วโลก ปี 2561 ระบุว่า กลุ่มกบฏฮูตีเคยพยายามยิงครูซมิสไซล์ โจมตีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ยังสร้างไม่เสร็จ ในอาบู ดาบี เมืองหลวงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หนึ่งในพันธมิตรซาอุฯที่ร่วมแทรกแซงสงครามเยเมน 

 

ราวัน ชาอิฟ ทีมสอบสวนของ Belliingcat เวบไซต์ที่เชี่ยวชาญขุดคุ้ยเชิงลึกจากแหล่งข้อมูลเปิด กล่าวว่า ขีปนาวุธลักษณะนั้นตรวจจับและป้องกันได้ยากกว่าโดรน เพราะจะมีความแม่นยำหากคนที่กำกับรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ และการโจมตีในซาอุฯก็แม่นยำ หากเป้าหมายของพวกเขาคือโครงสร้างพื้นฐานน้ำมัน 

 

ขณะที่ เฮนรี โรม นักวิเคราะห์ ยูเรเซีย กรุ๊ป บริษัทวิเคราะห์ความเสี่ยงทางการเมืองนิวยอร์ก กล่าวว่า หากอิหร่านอยู่เบื้องหลังการโจมตีครั้งนี้ ยุทธศาสตร์ของอิหร่านย่อมหนีไม่พ้นการแตะเบรคมาตรการคว่ำบาตรของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และสร้างความได้เปรียบ ปูทางสู่การเจรจากับวอชิงตันในท้ายที่สุด 

 

 

 

(  เยเมน เป็นประเทศยากจนสุดในอาหรับ สงครามกลางเมืองที่ปะทุในปี 2558 ลุกลามเป็นสงครามตัวแทน  และเป็นหายนะด้านมนุษยธรรมใหญ่ที่สุดในโลก ประเมินกันว่ามีผู้เสียชีวิตเกือบ 9 หมื่นคนจากความขัดแย้งนี้ สหประชาชาติรายงานเมื่อปีที่แล้วว่า การบาดเจ็บล้มตายของพลเรือนส่วนใหญ่ เป็นผลจากการโจมตีทางอากาศของแนวร่วมอาหรับนำโดยซาอุฯ มากกว่าปฏิบัติการของกลุ่มกบฏฮูตี กระนั้น  ไม่มีฝ่ายใดในสงครามนี้ที่พยายามจะลดความสูญเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์ ) 

 

 

ที่มา  https://www.washingtonpost.com/world/irans-strategic-use-of-drones-and-missiles-rattles-middle-east-rivals/2019/09/16/64bb8894-d886-11e9-a1a5-162b8a9c9ca2_story.html?noredirect=on

https://www.businessinsider.com/kamikaze-drones-believed-used-in-saudi-arabia-oil-field-strike-2019-9