เวทีเสวนาถอดบทเรียนชุมชนต้นแบบกู้วิกฤติความรุนแรงในครอบครัว
ถอดบทเรียนชุมชนต้นแบบ กู้วิกฤติความรุนแรงในครอบครัว ย้ำ ความร่วมมือชุมชน-สหวิชาชีพคือปัจจัยความสำเร็จ จัดพื้นที่ "ปลดทุกข์" เกาะติดปัญหาต่อเนื่อง
24 ก.ย.62-ถอดบทเรียนชุมชนต้นแบบ กู้วิกฤติความรุนแรงในครอบครัว ย้ำ ความร่วมมือชุมชน-สหวิชาชีพคือปัจจัยความสำเร็จ จัดพื้นที่ “ปลดทุกข์” เกาะติดปัญหาต่อเนื่อง ไม่ปล่อยผ่านเพียงแค่เรื่องเล็กน้อยแก้ก่อนลุกลามบานปลาย
ที่โรงแรมรามา การ์เดนส์ กรุงเทพมหานคร ในเวทีนำเสนอโครงการแนวทางพัฒนาต้นแบบในการลดปัญหาความรุนแรงต่อสตรีที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช)
นางสาวอังคณา อินทสา มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า เราทำงานแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงทางเพศ 2-3 ส่วน คือ 1. การช่วยเหลือเคสที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงทางเพศ รวมถึงการฟื้นฟูเยียวยา ซึ่งบางเคสต้องใช้เวลานานเพราะต้องใช้กลไกทางกฎหมายหรือมาตรการอื่นๆ เข้ามาช่วยเหลือ 2.วิธีการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีเครือข่ายประชาชน ชุมชนให้ความร่วมมือทั้งในเชิงการป้องกันและประสานการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดแนพลัง และ 3.การสื่อสารประชาสัมพันธ์ โดยนำเอาประสบการณ์จากข้อ 1 และข้อ 2 มาถอดบทเรียนและเผยแพร่เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่อไป
นางสาวอังคณา กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าเรื่องทัศนคติชายเป็นใหญ่ เป็นเจ้าเข้าเจ้าของทำให้เกิดปัญหาการฆ่ากันตายในครอบครัวมากขึ้น ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงมากขึ้น แน่นอนว่าปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงขึ้น คือเหล้าอย่างกรณีพริตตี้สาว ลันลาเบล ที่เสียชีวิตไปนั้น ผลการชันสูตรก็ชัดเจนที่มีแอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่า 400 มิลกรัมเปอร์เซ็นต์ ถือว่าสูงมาก นอกจากนี้ เรื่องยาเสพติดก็นับเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นการทำงานร่วมกับชุมชนสิ่งสำคัญคือต้องทำให้ชุมชนเกิดความเข้าใจเรื่องความรุนแรง เรื่องทัศนคติชายเป็นใหญ่ เรื่องความแตกต่างทางเพศ เป็นต้น เป็นต้น เมื่อแกนนำมีความรู้ความเข้าใจแล้ว จะต้องส่งเสริมให้มีพื้นที่สำหรับให้คนในชุมชนได้พูดคุย ปรึกษาหารือ โดยทางมูลนิธิฯ พยายามดึงกลไกสหวิชาชีพเข้ามาช่วยแกนนำชุมชนได้ทำงานแก้ไขปัญหาความรุนแรงได้มากขึ้น เป็นระบบเชื่อมโยงกัน และเมื่อเคสกลับเข้ามาอยู่ในชุมชน ชุมชนก็สามารถดูแลเยียวยา และช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงทีด้วย
“การแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเราต้องเข้าไปสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องทัศนคติที่ถูกต้องก่อน เมื่อแกนนำมีความรู้ความเข้าใจก็จะสามารถดึงศักยภาพออกมาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ซึ่งในพื้นที่เมืองกับชนบทจะมีบริบทที่แตกต่างกัน แต่การทำงานที่ต่อเนื่องเข้มข้นทำให้แกนนำที่อาจจะไม่ได้เข้าใจในตอนแรกมีความเข้าใจได้มากขึ้น และต่อยอดในการทำงาน สร้างเศรษฐกิจในครอบครัวดีขึ้น ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวลดลง รวมถึงปัญาหาอื่นๆ ในชุมชนลดลง”นางสาวอังคณา กล่าว
ด้าน นายนรินทร์ แป้นประเสริฐ ผู้แทนชุมชนวัดโพธิ์เรียง กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การทำงานเพื่อลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวนั้นยืนยันว่าทำคนเดียวไม่ได้ แต่ต้องเป็นความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งในสังคมและครอบครัวเอง อย่างที่ชุมชนวัดโพธิ์เรียงนั้นมีการตั้งคณะกรรมการชุมชนที่มีไฟในการทำงานขึ้นมาดูแล และทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ ประสานการทำงานร่วมกันอย่างเป็นมิตร อีกทั้งยังต้องมองไปถึงชุมชนข้างๆ ด้วย มีการวางแผน 1 แผน 2 เอาไว้ด้วย ทั้งนี้ในการทำงานระยะแรก เน้นการแก้ปัญหาเรื่องเหล้า โดยส่งเสริมให้มีร้านค้าปลอดเหล้า ขายเป็นเวลา ไม่ขายให้เด็ก หรือคนเมาเป็นต้น อย่างไรก็ตามตนคิดว่าจะทำอย่างไรก็เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ จึงได้เช่าห้องว่างแห่งหนึ่งแล้วทาเป็นสีชมพู เพื่อใช้เป็นสถานที่ให้ความรู้ให้คำปรึกษาแก่ผู้มีปัญหา ซึ่งระยะหลังห้องสีชมพูได้กลายมาเป็นศูนย์รวมกิจกรรมของชุมชน
“ปัญหาแม้เพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะเรื่องความรุนแรง หากมีคนแจ้งเข้ามาเราต้องรีบเข้าไปแก้ไขอย่างเร่งด่วนก่อนที่ปัญหาจะบานปลาย หากตอนนั้นมีคนแจ้งมาที่ผมแล้วผมไม่ว่างก็จะต้องแจ้งไปยังกรรมการที่เหลือให้เข้าไปจัดการ แม้แต่ภรรยาก็มีความสำคัญสามารถทำงานตอนที่ผมไม่สะดวกได้ เรื่องความรุนแรงตอนนี้แม้กระทั่งพ่อจะตีลูกอย่างต้องคิดหนัก แต่ทุกวันนี้มองยาก การเกิดเหตุความรุนแรงไม่ได้บอกล่วงหน้า ในชุมชนที่เจอคือเครียดและลงมือเลยไม่มีลางบอกเหตุเพราะฉะนั้นคิดว่าทางมูลนิธิต้องให้ความรู้ต่อไป” นายนริทนร์ กล่าว
นายนรินทร์ กล่าวต่อว่า การทำงานเรื่องนี้ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวันนี้สิ่งที่ตนและกรรมการชุมชนรุ่นนี้ถือว่าเดินหน้าไปได้ระดับหนึ่ง สิ่งที่ต้องทำต่อคือเรื่องสุขภาพ และสัมมาชีพยังต้องทำต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการถ่ายทอดการทำงานแก้ปัญหาความรุนแรงสู่แกนนำรุ่นหลัง เช่นตอนนี้ลูกชายของตนก็เริ่มเข้ามาดำเนินการสร้างแนวทางเป็นของตัวเองที่เป็นไปตามกรอบที่สามารถทำได้ แต่ก็มีความยืนหยุ่น เช่น มีการทำสวนเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น ซึ่งตนไม่ได้ห้ามอะไร เป็นการสานต่อการทำงานรุ่นสู่รุ่น ตนมองว่าสิ่งสำคัญของคนทำงานทางด้านนี้คือต้องไม่ทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว
ขณะที่ นายพรณรงค์ ปั้นทอง ผู้แทนชุมชนบ้านคำกลาง จังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า ตนก็เป็นคนหนึ่งที่เคยใช้ความรุนแรงในมาก่อน เคยดื่มเหล้ามาก่อน ก่อนจะมาทำงานตรงนี้โดยเชื่อมโยงกับเครือข่ายผู้หญิงจังหวัดอำนาจเจริญ และเข้าสู่ระบบการวิจัยเรื่องสุรามีผลกระทบกับความรุนแรงในชุมชนหรือไม่ และนำสู่การรณรงค์ ลด ละ เลิกเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และลดความรุนแรงในผู้หญิงและเด็ก ทั้งนี้การทำงานจะใช้ตัวคนต้นแบบ ซึ่งเป็นคนที่เข้าร่วมโครงการลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สำเร็จมาร่วมกันรณรงค์ และใช้มาตรการแผนที่เดินดิน คือสำรวจจุดเสี่ยงที่มีปัญหาเรื่องแอลกอฮอล์ ยาเสพติด ความรุนแรงทั้งร่างกาย และทางเพศ มีการตั้งศูนย์ช่วยเหลือปกป้องคุมครองในชุมชน ซึ่งนอกจากจะตั้งรับให้คำปรึกษาคนที่เดินเข้ามาปรึกษาแล้วยังออกไปค้นหา พูดคุยตามบ้าน คนที่มีปัญหาเขาสะดวกตรงไหนก็ให้คำปรึกษาตรงนั้น
นายพรณรงค์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีการทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ 2 ระดับ คือ 1.ระดับตำบล ประกอบด้วย ผู้นำชุมชน เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ศูนย์แพทย์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 2. สหวิชาชีพระดับจังหวัดคือเชื่อมโยงไปยังพมจ. บ้านพักเด็ก และศูนย์คนไร้ที่พึ่ง อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ ตนมองว่า ทีมที่ดีหากทีมไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตัวเองการขับเคลื่อนงานก็จะไปต่อไม่ได้ รวมถึงระบบพี่เลี้ยง อย่างที่มูลนิธิฯ เปิดเวทีถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ทำให้เกิดการนำเอาจุดดีของหน่วยงานต่างๆ ไปปรับใช้ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การทำงานต้องเน้นการสร้างฐานที่แข็งแรง คือโดยเฉพาะฐานครอบครัว ต้องสร้างอาชีพ ฐานการศึกษาโดยจัดให้เรียนเพิ่มในระบบการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เป็นต้น