เปิดเส้นทางชีวิตซีอีโอ.เวียตเจ็ท "เหวียน ถิ เฟือง เถา"
เปิดเส้นทางชีวิตซีอีโอ.เวียตเจ็ท เหวียน ถิ เฟือง จากผู้ก่อตั้งสายการบินแห่งเวียดนามสู่การเป็นหนึ่งในนักธุรกิจหญิงที่ทรงอิทธิพลสูงสุดของเอเชียประจำปี 2019
เปิดเส้นทางชีวิตซีอีโอ.เวียตเจ็ท เหวียน ถิ เฟือง เถา จากผู้ก่อตั้งสายการบินแห่งเวียดนามสู่การเป็นหนึ่งในนักธุรกิจหญิงที่ทรงอิทธิพลสูงสุดของเอเชียประจำปี 2019
ฟอบส์ เอเชีย (Forbes Asia) เปิดเผยรายชื่อนักธุรกิจหญิงที่ทรงอิทธิพลสูงสุดในภูมิภาคของปีนี้ ซึ่งประกอบด้วยสตรีที่ประสบความสำเร็จจำนวน 25 คนที่จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดสภาวะเศรษฐกิจของเอเชียในช่วง 2-3 ทศวรรษข้างหน้า สตรีเหล่านี้ได้รับการคัดเลือกโดยพิจารณาจากความสำเร็จและผลงานในอดีตที่ผ่านมา และเป็นตัวแทนของภาคธุรกิจที่หลากหลายในเอเชีย โดยให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการวิสาหกิจ นักลงทุน ผู้บริหารระดับสูง รวมถึงสตรีที่สามารถแปรรูปวิสากิจครอบครัวจนประสบความสำเร็จ โดยทั้งหมดล้วนมีภูมิหลังที่แตกต่างกัน หากสามารถท้าทายแบบแผนและทลายข้อจำกัดเดิม ๆ ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้อย่างน่าชื่นชม
แม้ผู้หญิงจะมีบทบาทในอุตสาหกรรมการบินมานานกว่า 116 ปีทั้งในฐานะนักบินและผู้บริหารระดับสูงของสายการบินก็ตาม แต่นางเหวียน ถิ เฟือง เถา ได้สร้างประวัตศาสตร์ใหม่ในธุรกิจนี้ที่ผู้ชายเป็นใหญ่มาช้านาน กล่าวคือเธอเป็นสตรีเพียงคนเดียวที่ก่อตั้งและดำเนินธุรกิจสายการบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ด้วยตัวเอง นั่นก็คือ สายการบินเวียตเจ็ท ดังนั้น เธอจึงเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของนักธุรกิจหญิงที่ทรงอิทธิพลในแง่มุมของผู้ประกอบการวิสาหกิจหญิงที่ฉีกกฎเกณฑ์เดิม ๆ และทลายข้อจำกัดที่เคยมีได้อย่างงดงาม
ความสำเร็จในธุรกิจเวียตเจ็ททำให้เธอมั่งคั่งอย่างมหาศาล จนกลายเป็นมหาเศรษฐีนีที่สร้างฐานะด้วยตนเองคนแรกของเวียดนามด้วยมูลค่าทรัพย์สินราว 2.5 พันล้านดอลลาร์ และยังเป็นสตรีผู้สร้างฐานะด้วยตนเองที่มั่งคั่งสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบัน เธอกำลังสั่งซื้อเครื่องบินเจ็ทลำใหม่เพื่อสร้างความได้เปรียบในอุตสาหกรรมการเดินทางทางอากาศของภูมิภาคที่กำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด และนำสายการบินเวียตเจ็ทสู่เวทีการแข่งขันระดับโลก เธอพร้อมก้าวไปข้างหน้าแม้ต้องฝ่าฟันกับปัญหาสาธารณูปโภคพื้นฐานของเวียดนามที่ค่อนข้างเก่า ภาวะขาดแคลนนักบิน และการปฏิบัติตามข้อกำหนดการบินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เถาได้พิสูจน์แล้วว่าตนเองสามารถก้าวผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ได้ ทำให้ในวันนี้ สายการบินเวียตเจ็ทของเธอ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2007 มีขนาดใหญ่กว่าสายการบินเจ้าถิ่นอย่างเวียดนามแอร์ไลน์เมื่อประเมินจากจำนวนผู้โดยสาร เธอสร้างการเติบโต โดยเฉพาะจากการนำเสนอบริการที่โดดเด่น โดยมีการจัดแสดงจากนางแบบในชุดบิกินีเดินแบบบนเที่ยวบินที่เดินทางสู่แหล่งท่องเที่ยวชายหาดในช่วงวันหยุด ความโลดโผนในครั้งนั้นส่งผลให้สายการบินถูกปรับโดยรัฐบาล แต่เวียตเจ็ทก็ได้กลายเป็นกระแสข่าวโด่งดังไปทั่วโลก และแน่นอน บัตรโดยสารที่ขายดียิ่งขึ้น
นับจากจุดเริ่มต้นที่มีเพียงเส้นทางบินภายในประเทศ เวียตเจ็ทค่อย ๆ ขยายธุรกิจจนมีเครื่องบินกว่า 80 ลำให้บริการสู่จุดหมายปลายทาง 120 แห่ง "กลยุทธ์ของเราคือการขยายเส้นทางบินสู่ตลาดระดับภูมิภาคภายในระยะทาง 2,500 กม." คุณเถากล่าว "ทำให้เราสามารถสร้างฐานการดำเนินงานที่ครอบคลุมผู้บริโภคจำนวนครึ่งหนึ่งบนโลกใบนี้"
ในปี 2017 เวียตเจ็ทได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นครโฮจิมินห์ด้วยมูลค่าการออกหุ้นที่ 1.4 พันล้านดอลลาร์ ในปีต่อมา เวียตเจ็ทให้บริการแก่ผู้โดยสารกว่า 23 ล้านคน คิดเป็น 46% ของจำนวนผู้โดยสารเครื่องบินทั้งหมดของเวียดนาม แม้จะมีจำนวนผู้โดยสารเพียงครึ่งหนึ่งของสายการบินราคาประหยัดชั้นนำของภูมิภาคอย่างแอร์เอเชีย ซึ่งมีจำนวนผู้โดยสารเมื่อปีก่อนถึง 44 ล้านคน แต่เวียตเจ็ทก็มีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าสายการบินยักษ์ใหญ่แห่งมาเลเซียรายนี้
รายรับของเวียตเจ็ทเพิ่มขึ้นถึง 27% ที่ 54 ล้านล้านดอง (2.3 พันล้านดอลลาร์) ในปี ค.ศ. 2018 ในขณะที่รายรับของแอร์เอเชียเพิ่มขึ้น 9% ที่ 10.6 พันล้านริงกิต (2.5 พันล้านดอลลาร์) และสำหรับปีนี้ เวียตเจ็ทคาดว่าจะเติบโตเร็วยิ่งขึ้น โดยคาดว่าจะให้บริการแก่ผู้โดยสารราว 30 ล้านคน เพิ่มขึ้น 30% จากปีที่ผ่านมา "เราตั้งฐานะทางการตลาดของเวียตเจ็ทสู่การเป็นสายการบินระดับภูมิภาคและระดับสากลนับตั้งแต่เริ่มเปิดตัว" เถาในวัย 49 กล่าว สายการบินทั้งสองยังมีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันกัน โดยในช่วงแรกเมื่อปี 2010 แอร์เอเชียพยายามจับมือเป็นพันธมิตรกับเวียตเจ็ทเพื่อรุกตลาดการบินเวียตนาม แต่ก็ล้มเลิกข้อเสนอไปในปี 2011
กุญแจสู่ความสำเร็จของเวียตเจ็ทคือการรักษาระดับราคาให้ต่ำด้วยการขนส่งผู้โดยสารคราวละมาก ๆ เมื่อพิจารณาจากตัวชี้วัดประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมการบินอย่างปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เวียตเจ็ทมีต้นทุนต่อหน่วยเพียง 2.3 เซนต์ เมื่อเปรียบเทียบกับแอร์เอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.1 เซนต์ จะเห็นว่าเวียตเจ็ทมีการดำเนินงานที่คุ้มทุนกว่ามาก (ในขณะที่สายการบินในสหรัฐที่มีบริการเต็มรูปแบบจะอยู่ที่ 7 เซนต์) โดยในวันนี้ เวียตเจ็ทยังต้องการเพิ่มจำนวนผู้โดยสารในเครื่องบินรุ่นใหม่ Airbus A321neo ให้มากยิ่งขึ้น โดยเครื่องบินรุ่น A321neo ลำใหม่นี้จะมีที่นั่งถึง 240 ที่นั่ง ในขณะที่สายการบินส่วนใหญ่บรรทุกผู้โดยสารในเครื่องบินรุ่น A321neo เพียง 180 ที่นั่ง ทำให้เวียตเจ็ทมีจำนวนผู้โดยสารมากกว่าราว 1 ใน 3 ต่อลำ
แม้อาจดูมีจำนวนมาก แต่เที่ยวบินของเวียตเจ็ทมีอัตราการใช้บริการเฉลี่ยที่ 88% "นับเป็นสมการที่เต็มไปด้วยตัวแปรปริศนาจำนวนมากที่คุณต้องแก้โจทย์ให้ได้ และคุณต้องแก้ให้ได้ในทันที" คุณเถากล่าวถึงการรับมือกับความท้าทายที่เผชิญอยู่ "มีคำถามมากมายที่คุณต้องตอบให้ได้ และหากคุณตอบไม่ได้เพียงข้อเดียว คุณจะล้มเหลวแน่นอน"
เอเชียถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับการขยายธุรกิจของเวียตเจ็ท โดยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ ไออาตา (International Air Transport Association: IATA) ประเมินว่าอุปสงค์การเดินทางทางอากาศในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นตลาดการเดินทางที่เติบโตเร็วที่สุดของโลก จะมีอัตราเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าภายใน 2 ทศวรรษข้างหน้า โดยจะทำให้มีผู้โดยสารเดินทางเพิ่มขึ้นอีก 2.8 พันล้านคนต่อปี
อัตราการเดินทางในเวียดนามก็กำลังพุ่งสูงขึ้นเช่นกัน เนื่องจากชนชั้นกลางในประเทศที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยสนามบินต่าง ๆ ในประเทศต้องรองรับผู้โดยสารกว่า 106 ล้านคนในปี ค.ศ. 2018 เพิ่มขึ้น 13% จากปีก่อนหน้า ซึ่งในจำนวนนั้นรวมถึงผู้โดยสารชาวต่างประเทศ 16 ล้านคนซึ่งเพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อนหน้า เมื่อคาดการณ์ถึงการเติบโตข้างหน้า เวียตเจ็ทจึงสั่งซื้อเครื่องบินลำใหม่จำนวน 386 ลำ โดย 200 ลำจากบริษัทโบอิ้งและ 186 ลำจากบริษัทแอร์บัส
การขยายธุรกิจอย่างดุเดือดของเวียตเจ็ทกำลังให้ผลตอบแทนอย่างงาม โดยหุ้นในตลาดแรกของบริษัทมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่านับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 ด้วยมูลค่าตลาด 3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นหุ้นรายใหญ่อันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์แอร์ไลน์ โดยเวียตเจ็ทกำลังเจรจากับพันธมิตรรายอื่น ๆ ทั่วภูมิภาคเพื่อขยายเครือข่ายธุรกิจนอกเวียดนาม
เถามีบุตร 3 คน และเป็นที่รู้กันในหมู่เพื่อนร่วมงานว่าเธอเป็นคนบ้างานมาก คนใกล้ชิดต่างยืนยันว่าเธอมักทำงานจนดึกดื่นอยู่บ่อยครั้ง
ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของคุณเถาคือการเจรจาขอพื้นที่ลงจอดในจุดหมายปลายทางต่าง ๆ ของเอเชีย เนื่องจากรัฐบาลของแต่ละประเทศต้องจัดสรรการเข้าถึงสนามบินของตนเองอย่างระมัดระวัง "อาเซียนถือเป็นตลาดการบินเดี่ยว แต่กลับไม่นับรวมตลาดการบินขนาดใหญ่ของบางประเทศ อย่างจีน อินเดีย เกาหลี ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย" มร.Albert Tjoeng รองผู้อำนวยการฝ่ายการสื่อสาร สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าว
"ภูมิภาคนี้ประกอบด้วยระบบต่าง ๆ ที่ปะติดปะต่อกัน ทั้งเชิงรูปแบบการดำเนินงานและกฎข้อบังคับ ดังนั้น การปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกันจึงมีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อยกระดับขีดความสามารถของเครือข่าย ทั้งทางอากาศและภาคพื้นดิน"
สำหรับการขอพื้นที่ลงจอดในจุดหมายปลายทางของประเทศต่าง ๆ สายการบินอย่างเวียตเจ็ทจึงมักต้องร่วมทุนกับพันธมิตรในต่างประเทศ ปัจจุบัน เวียตเจ็ทมีการร่วมทุนในเมืองไทย โดยมีเครื่องบินบริการ 8 ลำในตลาดที่มีการแข่งขันสูง
อีกหนึ่งอุปสรรคในการขยายธุรกิจของเวียตเจ็ทก็คือ สายการบินส่วนใหญ่ในเวียดนามต่างขนส่งผู้โดยสารมากเกินขีดความสามารถอยู่แล้ว โดยในปี ค.ศ. 2018 สนามบินของกรุงโฮจิมินห์ต้องรองรับผู้โดยสารมากถึง 38 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าขีดความสามารถในหนึ่งปีซึ่งอยู่ที่ 28 ล้านคน เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นกับสนามบินในเมืองหลักแห่งอื่น ๆ ของเวียดนามเช่นเดียวกัน ทั้งดานัง ญาจาง และเมืองหลวงอย่างฮานอย
เวียตเจ็ทจึงเปิดกว้างรับการลงทุนสำหรับการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน เพื่อบรรเทาภาวะแออัดเหล่านี้จากคำกล่าวของคุณเถา แต่รัฐบาลเวียดนามก็ยังไม่สรุปว่าจะขยายสนามบินที่มีอยู่หรือสร้างสนามบินแห่งใหม่ นอกจากนี้ เวียตเจ็ทยังต้องเผชิญกับการแข่งขันภายในประเทศ โดยเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา เวียดนามมีเครื่องบินพาณิชย์จดทะเบียน 174 ลำซึ่งดำเนินงานโดยสายการบิน 4 แห่ง และในช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้ แบมบูแอร์ไลน์ได้เข้ามาเป็นสายการบินที่ 5 และเปิดดำเนินการเครื่องบิน 4 ลำ และต่อมา วิงกรุ๊ป บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม (พิจารณาตามมูลค่าตลาด) ได้วางแผนเปิดตัวสายการบินของตัวเองในชื่อวินเพิร์ล แอร์ไลน์
ภาวะขาดแคลนนักบินยังก่อให้เกิดความท้าทายอีกเรื่องหนึ่ง โดยข้อมูลของบริษัทโบอิ้งระบุว่า อุตสาหกรรมการบินจะต้องการนักบินอีกเกือบ 650,000 คนภายในช่วงเวลา 20 ปีข้างหน้า เฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะต้องการมากถึง 244,000 คน และตะวันออกกลาง 64,000 คน "ความท้าทายที่เกิดกับอุตสาหกรรมและผู้ถือหุ้น รวมถึงรัฐบาลและหน่วยงานด้านกฎหมาย คือการสร้างความเชื่อมั่นว่าสาธารณูปโภคพื้นฐานจะมีเพียงพอ ในขณะที่ความจำเป็นด้านกฎข้อบังคับและทรัพยากรต้องได้รับการตอบสนองเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าประเทศต่าง ๆ จะได้รับประโยชน์จากธุรกิจการบินอย่างเต็มที่" นาย Albert Tjoeng แห่งไออาตา กล่าว
ทว่าคุณเถาไม่รู้สึกหวาดหวั่นต่อเรื่องนี้ นอกจากการบรรจุผู้โดยสารให้มากขึ้น เธอยังสามารถเพิ่มผลกำไรจากการซื้อเครื่องบินจำนวนมากในราคาถูกโดยอาศัยการขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หลังจากนั้นจึงขายเครื่องบินเหล่านั้นแก่บริษัทให้เช่าเครื่องบิน เป้าหมายของคุณเถาคือการสร้างประวัติศาสตร์เป็นครั้งที่ 2 ด้วยการเปลี่ยนเวียตเจ็ทให้กลายเป็นสายการบินระดับโลกแห่งแรกของเวียดนาม "หากเราก่อตั้งสายการบินในยุโรป เราจะสามารถบินไปได้ทุกประเทศ" คุณเถากล่าว
ด้วยความสามารถทางการแข่งขันทั้งด้านบริการ เครื่องบิน ขีดความสามารถในการบริหารจัดการ ต้นทุน และประสิทธิภาพของเราในการมอบบริการรูปแบบใหม่ ฉันเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่าเราจะสามารถแข่งขันในตลาดการบินอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ยุโรปหรือสหรัฐฯ ได้อย่างแน่นอน