
อวสานเพจเจอร์ ยุติบริการรายสุดท้ายหลังเปิดตัว 50 ปีก่อน
ปิดฉากบริการอุปกรณ์สื่อสารในความทรงจำ ก่อนการมาถึงของโทรศัพท์มือถือ
โตเกียว เทเลเมสเสจ ปิดการส่งสัญญาณวิทยุสำหรับบริการเพจเจอร์ ในเวลาเที่ยงคืนเข้าสู่ 1 ตุลาคม 2562 ปิดฉากการเป็นผู้ให้บริการเพจเจอร์รายสุดท้ายอย่างเป็นทางการ หลังจากที่อุปกรณ์สื่อสารชนิดนี้เปิดตัวครั้งแรกเมื่อ 50 ปีก่อน
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา วิทยุติดตามตัว ยังใช้กันอยู่ในโรงพยาบาลเป็นหลัก ด้วยความวิตกว่า การใช้โทรศัพท์มือถืออาจกวนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในอุปกรณ์การแพทย์ หรือในยามที่สัญญาณโทรศัพท์ไม่ดี
บริการเพจเจอร์ในญี่ปุ่นเริ่มมีครั้งแรกในปี 2511 โดย นิปปอน เทเลกราฟ และ เทเลโฟน คอร์ป ผู้ใช้จะใช้โทรศัพท์แลนด์ไลน์ หมุนหรือกดเบอร์เพจเจอร์ จากนั้น อุปกรณ์ที่รับสัญญาณจะส่งเสียงแจ้งเจ้าของ
ในยุคแรก เพจเจอร์เป็นอุปกรณ์ที่ใช้แพร่หลายในหมู่บริษัทใช้สื่อสารกับพนักงานขาย เวลาอยู่นอกสำนักงาน ต่อมาปลายทศวรรษหลังปี 2523 ได้รับความนิยมมากขึ้นอีกเพราะใช้ส่งข้อความทั้งตัวอักษรและตัวเลขได้
เพจเจอร์ หรือ โปเกะ-เบรุ ( กระดิ่งกระเป๋า) ในภาษาญี่ปุ่น ยังเป็นสัญลักษณ์วัฒนธรรมย่อยในหมู่นักเรียนญิงวัยมัธยม ร่วมกับแฟชั่นถุงเท้าย่น และถ่ายรูปในตู้สติกเกอร์ หรือ พูริคุระ
ในคริสต์ทศวรรษ 1990 นักเรียนหญิงมัธยมปลายมักจะไปต่อแถวยาวตามตู้โทรศัพท์สาธารณะ เพื่อฝากข้อความเข้าเครื่องเพจเจอร์ของเพื่อนหรือแฟน โดยการผสมตัวเลขให้มีความหมายในการสื่อสาร เช่น 33414 ในภาษาญี่ปุ่น ออกเสียงเป็น ซามิชิอิโยะ หมายถึง ฉันเหงา หรือ 999 หรือ 3 (ซัง) 9 ( คิว ) แทนคำว่า ซังคิว ที่แปลว่าขอบคุณ
ตามข้อมูลรัฐบาลญี่ปุ่น ระบุว่า ปี 2539 คือยุครุ่งเรืองสุดของเพจเจอร์ จำนวนผู้ใช้พุ่งทะลุ 10 ล้าน ก่อนที่ความนิยมค่อยๆหดหายไป เมื่อโทรศัพท์มือถือเริ่มเข้ามาแทนที่ ตลอดจนการรับส่งอีเมล์ การส่งข้อความและรับ-ส่งภาพถ่ายผ่านโทรศัพท์มือถือ
เอ็นทีที ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของญี่ปุ่น ที่นำเพจเจอร์มาให้บริการตั้งแต่ปี 2511 ยุติบริการนี้ตั้งแต่ปี 2550 แต่ โตเกียว เทเลเมสเสจ ยังให้บริการต่อไปในโตเกียวและจังหวัดใกล้เคียง อย่างไซตามะ ชิบะ และคานากาวะ ก่อนปิดฉากอย่างถาวรในวันนี้( 1 ต.ค.)
ตอนที่โตเกียว เทเลเมสเสจ แถลงเมื่อปีที่แล้วว่าจะยุติบริการในปีนี้นั้น ได้ให้ตัวเลขผู้ใช้เหลือเพียง 1,500 คน ขณะที่บริษัทยกเลิกการผลิตอุปกรณ์ ตั้งแต่ 21 ปีที่แล้ว