ข่าว

ก.เกษตร​มีมติ แบน​ 3​ สารเคมี​ 1​ ธ.ค.นี้

ก.เกษตร​มีมติ แบน​ 3​ สารเคมี​ 1​ ธ.ค.นี้

07 ต.ค. 2562

มนัญญา ปลื้ม มอบของขวัญคนไทยทั่วประเทศ มติคณะทำงาน 4 ฝ่าย 9-0 แบน 3 สารพิษ 1 ธ.ค.นี้

 

 

7 ตุลาคม 2562 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาความเห็นของส่วนรัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค( 4ฝ่าย)  

 

 

ต่อการยกเลิก สารเคมีวัตถุอันตรายทางการเกษตร 3 สาร คลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต ตามคำบัญชานายกรัฐมนตรี ให้ตั้งคณะทำงานพิจารณาโดยเร็ว  

 

น.ส.มนัญญา กล่าวว่าที่ประชุมมติ 9 ต่อ 0 ให้ยกเลิก 3 สารชนิด โดยจะเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย พิจารณาให้สารทั้ง 3 ชนิดซึ่งอยู่ในบัญชีประเภทที่ 3 ไปเป็นบัญชีประเภทที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.62 ซึ่งจะเป็นผลให้ห้ามครอบครอง ห้ามจำหน่าย ห้ามนำเข้า ห้ามผลิต โดยหลังจากนี้จะนำมติให้กรรมการทุกคนลงนามรับผลประชุม ก่อนเสนอนายกรัฐมนตรี ภายในวันสองวันนี้ในฐานะที่บัญชาให้ตั้งคณะทำงานชุดนี้เพื่อพิจารณาให้เกิดความรอบคอบ หลังจากนั้นนำเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งเดิมมีกำหนดประชุมวันที่ 27 ต.ค. แต่เมื่อคณะทำงาน 4 ฝ่ายมีข้อยุติในวันนี้ คาดว่าคณะกรรมการวัตถุอันตราย อาจเลื่อนการประชุมชี้ขาดขึ้นมาได้เร็ว จากกำหนดเดิม

 

ในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย จะมีการพิจารณาลงมติไม่ว่าจะเปิดเผยหรือโดยลับก็ตาม แต่ในส่วนของผู้แทนกระทรวงเกษตร กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมเปิดเผยชื่อแสดงตัวต่อสาธารณะ เพราะฉะนั้นเรื่องที่จะไปละเมิดการลงมติไม่ได้เป็นประเด็น ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตร มีรายละเอียดครบสมบูรณ์ในเรื่องสารทดแทน  วิธีการทำเกษตรทดแทน ซึ่งต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยยังมีสารเคมีอีกจำนวน หลายชนิดที่ยังใช้กันอยู่ทั่วไป เพียงแต่วันนี้เราพบว่า 3 สารนี้เป็นพิษร้ายแรงอันตรายต่อคนและสิ่งแวดล้อม จึงยกเลิกการใช้ทันที

 

"หากในอนาคตพบว่าสารเคมีตัวอื่นที่มีอยู่ในท้องตลาดหลายยี่ห้อ มีความเป็นพิษสูงจะเสนอยกเลิกตามลำดับไป ซึ่งสารทดแทนหรือวิธีการทดแทน มีผลกำจัดศัตรูพืช เพียงแต่ไม่รวดเร็วทันใจ ฆ่าแมลงแล้วตายทันทีเหมือน 3 สารนี้ แต่สารตัวอื่นอาจจะใช้เวลาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยกว่าหญ้าจะตาย อาจช้าไป 3-5 ชั่วโมง แต่ไม่เป็นอันตรายไม่มีความเป็นพิษสูงเท่า3ตัวนี้ ทั้งนี้เกษตรกรก็รู้วิธีแบบดั้งเดิมทำอย่างไรและ รู้ว่ามีสารอะไรให้ใช้แทน อยู่แล้ว ถ้าไม่มีพาราควอต ไกลโฟเซส คลอร์ไพริฟอส เพราะฉะนั้นเรื่องต้นทุนจึงไม่เป็นปัญหา ”น.ส.มนัญญา กล่าว

 

รมช.เกษตรฯกล่าวยืนยันว่าขณะนี้ไม่มีนายทุนรายใหญ่ที่จะรอนำเข้าสารทดแทนตัวใหม่ เข้ามาในประเทศไทย เหมือนที่มีการกล่าวหาพรรคภูมิใจไทย เตรียมเปิดทางให้นายทุนพรรค นำสารเข้ามา ไม่มีทั้งสิ้นและการขออนุญาตนำเข้าไม่ได้ทำได้ในทันที เพราะต้องมีระยะการพิสูจน์พิษวิทยาและการขออนุญาตทำตามกฎหมายของพ.ร.บ.วัตถุอันตราย ดังนั้นอย่าห่วงเรื่องเจ้าสัวนำเข้าสารตัวใหม่ และไม่มีการตัดตอนบริษัทนำเข้า 3 สาร เพราะทั่วโลกก็ยกเลิกกัน 58 ประเทศแล้ว

 

มติครั้งนี้ถือเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทยทั้งประเทศซึ่งปกติของขวัญปีใหม่เป็นวันที่1ม.ค. แต่ในวันนี้รัฐบาลให้เป็นของขวัญกับประชาชนทันที เพราะต่อไปในเทศกาลปีใหม่ตั้งแต่วันที่1ธ.ค.คนไทยไปเที่ยวที่ไหน มีพืชพันธ์ธัญญาหารปลอดภัย อากาศบริสุทธิ์ให้กับสุขภาพคนไทย ในเรื่องนี้อธิบดี คณะกรรมการ ไม่ต้องกลัวว่าต้องขึ้นศาลเพราะถ้าต้องขึ้นดิฉันจะไปด้วยเพราะเราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง วันนี้ดิฉันมีความพอใจระดับหนึ่ง แต่หน้าที่ยังไม่จบ ต้องอีก3-4วันถึงจะสำเร็จถือเป็นชัยชนะของคนไทยร่วมกัน”น.ส.มนัญญา กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศในการประชุมใช้เวลากว่า 2 ชม.โดยไม่ให้สื่อเข้าร่วมด้วย บอกเพียงว่าจะเชิญเข้าตอนประชุมเสร็จเพื่อให้มาสังเกตการณ์ว่าคณะทำงานคนไหนโหวตเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ซึ่งหลังการประชุม น.ส.มนัญญา ได้ให้ที่ประชุมแสดงความเห็นต่อหน้าสื่อและโหวตเรียงบุคคล อย่างไรก็ตามสื่อจับตาเป็นพิเศษกับท่าที ของอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เนื่องจากก่อนหน้ามีแถลงการณ์ออกมาว่าต้องยืนตามหลักวิชาการ

 

โดยปรากฏว่าอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวก่อนโหวตว่า1.เนื่องจากเป็นนโยบายของรมช.เกษตรฯและเป็นนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกและรมว.สาธารณสุข 2.เนื่องจากการจะยกเลิกต้องมีการพิจารณาสารทดแทน ข้อมูลประกอบวิชาการเชิงประจักษ์ว่าเป็นพิษต่อร่างการมนุษย์ จึงเห็นด้วยกับมติที่ประชุมที่จะยกระดับ 3 สารนี้จากบัญชีประเภทเป็นประเภทที่ 4

 

สำหรับกรรมการ 4 ฝ่ายที่ร่วมประชุมครั้งนี้ประกอบด้วย น.ส.มนัญญา ประธานคณะทำงาน นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงษ์ ประธานคณะที่ปรึกษารมช.เป็นกรรมการ น.ส.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายอัคคพล เสนาณรงค์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเกษตรวิศวะกรรม กรมวิชาการเกษตร

 

แพทย์หญิงสุมณี วัชรสินธุ์ รักษาการนายแพทย์เชี่ยวชาญกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงศุลีกร ธนธิติกร นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ กรมควบคุมโรค น.ส.บุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธุ์องค์กรผู้บริโภค น.ส.สุภาวดี ทับทิม ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์ สังกัดนิคม ชะอำ เพชรบุรี น.ส.เสาวลักษณ์ พรกุลวัฒน์ นายกสมาคมอารักขาพืชไทย นางวิไลวรรณ พรหมคำ ผอ.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืชกรมวิชาการเกษตร นายมนตรี ปาป้อง นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการ กรมส่งเสริมสหกรณ์ น.ส.นัชชา ช่อมะลิ เลขานุการคณะที่ปรึกษารมช.เกษตรฯทั้งนี้ในการประชุม สมาคมอารักขาพืช ได้มีหนังสือแจ้งที่ประชุมว่าไม่ได้เข้าร่วม ติดภารกิจต่างประเทศ ไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมด้วย