ข่าว

ธนาคารคนจน

ธนาคารคนจน

29 พ.ย. 2552

คอลัมน์ “วันเว้นวันฯ” ฉบับที่แล้ว ผมได้เกริ่นนำถึงเรื่องธนาคารคนจน หรือ กรามีนแบงก์ (Grameen Bank) เอาไว้ วันนี้ก็คงต้องขอเล่าให้จบความ

 ถ้าจะพูดถึงคำว่าธนาคารแล้ว ภาพแรกที่มองเห็นกันก็คือการทำหน้าที่เป็นแหล่งระดมทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจการของพ่อค้านายวาณิช โดยธนาคารได้รับดอกเบี้ยจากเงินกู้เป็นสิ่งตอบแทน ดังนั้น กิจกรรมของธนาคารและสถาบันการเงินจึงมีลักษณะเป็น “เงินต่อเงิน” ภายในหมู่ของคนกลุ่มหนึ่ง ขณะเดียวกันก็จะทำให้เกิดคำถามว่าแล้วคนที่มีฐานะยากจน แต่มีความต้องการเงินไปลงทุนเพื่อหาเลี้ยงชีพเล็กๆ น้อยๆ หรือประทังชีวิตในช่วงที่ประสบความยากลำบาก จะไปหาเงินมาจากไหน ในเมื่อวัตถุประสงค์ของการกู้ยืมไม่ตรงกับเจตนารมณ์หรือนโยบายของธนาคาร

 ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนูส อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยจิตตะกอง บังกลาเทศ พบว่าชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้ๆ มหาวิทยาลัย เป็นหนี้นอกระบบ ซึ่งรวมกันแล้วก็เป็นจำนวนเงินที่ไม่ได้มากเท่าไหร่นัก จึงตัดสินใจควักกระเป๋านำเงินส่วนตัว จำนวน 27 ดอลลาร์ ให้ชาวบ้านไปไถ่หนี้ซึ่งจากเงินจำนวนนี้สามารถไถ่หนี้ได้ถึง 42 ราย โดยเขาไม่คิดดอกเบี้ย ไม่ต้องมีหลักประกัน และไม่มีกำหนดส่งคืน แต่ศาสตราจารย์ยูนูส ก็ทราบดีว่าการแก้ไขเงินกู้นอกระบบนั้น ต้องทำอย่างเป็นระบบ และต้องเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่ฉาบฉวย หรือไฟไหม้ฟาง ศาสตราจารย์ยูนูสจึงได้ไปพบนายธนาคารท้องถิ่นเพื่อเสนอให้ธนาคารปล่อยเงินกู้แก่คนจน เพื่อช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ของการกู้เงินนอกระบบและความยากจน แต่ได้รับการปฏิเสธโดยอ้างข้อกฎหมายและกฎเกณฑ์ของธนาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือทัศนคติที่ว่า คนจน เป็นคนที่ไม่น่าเชื่อถือ ขาดหลักประกัน และธนาคารมีความเสี่ยงที่จะสูญเงินที่ให้กู้

 ศาสตราจารย์ยูนูสจึงได้เสนอแนวคิดไมโครเครดิตให้รัฐบาลบังกลาเทศพิจารณา โดยมีสมมุติฐานจากประสบการณ์ของตนเองว่า แท้จริงแล้วชาวบ้านที่ยากจนไม่ได้ต้องการเงินที่มากมายอะไร แต่ไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารได้เพราะขาดสิ่งที่จะมาค้ำประกันนั่นเอง แนวคิดของศาสตราจารย์ยูนูสได้รับการขนามนามว่า ทฤษฎีไมโครเครดิตฉบับยูนูส เพราะก่อนหน้านี้ได้เคยมีการนำทฤษฎีไมโครเครดิตมาใช้ในแผนการมาร์แชลล์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในประเทศต่างๆ ในยุโรปที่ประสบภัยจากสงครามโลกครั้งที่สองมาก่อนแล้ว

 รัฐบาลบังกลาเทศได้ให้ความเห็นชอบกับข้อเสนอของศาสตราจารย์ยูนูส และดำเนินการก่อตั้งธนาคารกรามีน หรือธนาคารชนบท ขึ้นในปี 1976 ซึ่งชาวบ้านที่ยากจนสามารถมากู้เงินเท่าที่จำเป็นได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

 ธนาคารกรามีนมีหลักการที่แตกต่างจากธนาคารทั่วไป กล่าวคือธนาคารทั่วไปประเมินค่าของคนจากทรัพย์สินหรือสถานะทางสังคม คนที่มีเงินมากหรือมีเครดิตดีก็ได้รับความไว้วางใจจากธนาคาร แต่ธนาคารกรามีนเชื่อถือในคุณค่าและศักยภาพของมนุษย์ ถึงแม้ว่ามนุษย์จะมีความยากดีมีจนต่างกัน แต่ถ้าได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกัน มนุษย์ย่อมสามารถที่จะพัฒนาตนเองไปสู่สถานะที่ดีและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้

 สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ ร้อยละ 96 ของลูกค้าธนาคารกรามีนจะเป็นผู้หญิง ซึ่งตรงข้ามกับธนาคารทั่วไปที่ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย นี่จึงนับเป็นการยกสถานะทางสังคมของผู้หญิงซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของบังกลาเทศ แต่ถูกกดขี่ด้วยจารีตประเพณีและค่านิยมทางสังคม ให้มีบทบาทในครอบครัวและเศรษฐกิจสูงขึ้น

 แม้ว่าธนาคารกรามีนจะมีรูปแบบการจัดการในลักษณะของธนาคาร ไม่ใช่องค์กรสาธารณกุศล แต่กำไรที่ได้จากการประกอบการส่วนใหญ่ก็จะกลับคืนไปสู่สังคม เพื่อสร้างอนาคตแก่ลูกหลานของลูกค้าธนาคารและชาวบ้านที่ยากจนทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา สาธารณสุข การประกอบวิชาชีพ ฯลฯ

 ปัจจุบันธนาคารกรามีนมีสาขามากกว่า 1,400 แห่งทั่วบังกลาเทศ และให้บริการกว่า 5.1 หมื่นหมู่บ้าน มีการปล่อยเงินกู้ไปแล้วกว่า 1.8 แสนล้านบาท แก่ 4.4 ล้านครอบครัว และที่น่าแปลกใจคือมีหนี้เสียอยู่แค่ไม่ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ของหนี้ทั้งหมด ซึ่งจัดว่าอยู่ในขั้นที่ดีมาก และเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดธนาคารเพื่อคนจนอีกมากกว่า 250 แห่ง ใน 100 ประเทศทั่วโลก

 ศาสตาจารย์มูฮัมหมัด ยูนูส และธนาคารกรามีนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี ค.ศ.2006 สำหรับ “ผลของความพยายามในอันที่จะพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจากฐานล่าง”