ในหลวง - พระราชินี เสด็จฯ ทรงเจิมเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช
ในหลวง - พระราชินี เสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีเจิม เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ พระราชทานชื่อเรืออันเป็นพระนามของรัชกาลที่ 9
เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 16 ตุลาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี ทรงประกอบพิธีเจิม “เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช” โดยมี พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พล.ร.ท.วราห์ แทนจำ ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ พร้อมข้าราชการทหารเรือ เฝ้าฯ รับเสด็จ
จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ขึ้นเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ ขึ้นแท่นพิธี ทรงยืน ณ พระสุจหนี่ ทรงรับการถวายความเคารพจากเรือหลวงปิ่นเกล้า ยิงสลุตหลวง จำนวน 21 นัด ต่อมา เสด็จฯ ไปยังบริเวณหัวเรือ ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมที่แผ่นป้ายชื่อเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช และทรงคล้องพวงมาลัยบริเวณแผ่นป้ายชื่อเรือ ขณะนั้นพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ เสร็จแล้ว เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรภายในห้องศูนย์ยุทธการเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช โดย พล.ร.อ.ลือชัย น้อมเกล้าฯ ถวายเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชจำลอง จากนั้นเสด็จขึ้นแท่น ทรงยืน ณ พระสุจหนี่ ทรงรับการถวายความเคารพจากเรือหลวงปิ่นเกล้า ยิงสลุตหลวง จำนวน 21 นัด แล้วเสด็จฯ กลับ
สำหรับ เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เดิมชื่อ เรือหลวงท่าจีน เป็นเรือฟริเกตสมรรถนะสูง ที่ต่อจาก Daewoo Shipbuilding & Marine Engineering CO., LTD. (DSME) เกาหลีใต้ โดยใช้เวลาต่อ 1,963 วัน งบประมาณ 1.46 หมื่นล้านบาท เซ็นสัญญาเมื่อ 7 สิงหาคม 2556 และเมื่อต่อเสร็จเดินทางมาถึงเมืองไทยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่อเรือลำนี้ว่า เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช อันเป็นพระนามของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งมีความหมายของ “ภูมิพล” หมายถึง “พลังแห่งแผ่นดิน” “อดุลยเดช” หมายถึง “อำนาจที่ไม่อาจเทียบได้” โดยได้รหัสเรือ FFG471 นับเป็นสิริมงคลและยังความปลาบปลื้มมาสู่กองทัพเรือและกำลังพลทุกคนรวมทั้งคนไทยอย่างหาที่สุดมิได้
สำหรับการพระราชทานชื่อใหม่นี้ มีขึ้นในระหว่างเรือกำลังเดินทางกลับมาประเทศไทย โดยออกเดินทาง จากอู่ Daewoo Shipbuilding & Marine Engineering CO., LTD. (DSME) เมืองปูซาน เกาหลีใต้ เมื่อ 22 ธันวาคม 2561 จากนั้นแล่นเรือข้ามปีมาแวะรับการส่งกำลังบำรุงที่ฮ่องกง และดานัง เวียดนาม รวมใช้เวลาเดินทาง 16 วัน เข้าเขตน่านน้ำไทยในช่วงต้นปี 2562 โดยกองทัพเรือ จัดเรือหลวงนเรศวร และเรือหลวงตากสิน ไปต้อนรับตามประเพณีเรือในฐานะสมาชิกใหม่ของกองเรือฟริเกต ที่ 1 กองเรือยุทธการ แม้จะถือเป็นน้องใหม่ แต่ทว่าเป็นพี่ใหญ่ของเรือฟริเกต ที่กองทัพเรือมีประจำการในราชนาวี มีระวางขับน้ำ 3,700 ตัน ใหญ่กว่าเรือหลวงมกุฏราชกุมาร เรือหลวงปิ่นเกล้า เรือหลวงตาปี เรือหลวงคีรีรัฐ เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงตากสิน เรือหลวงรัตนโกสินทร์ และเรือหลวงสุโขทัย
เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชเป็นเรือฟริเกตสมรรถนะสูง พัฒนามาจากเรือพิฆาตชั้น Kwanggaeto Class Destroyer (KDX-I) โดยใช้มาตรฐานทางทหารของสหรัฐฯ และกองทัพเรือเกาหลีใต้ ในการต่อเรือ จึงถือได้ว่าเป็นเรือฟริเกตที่มีความทันสมัยและเป็นเรือที่มีคุณค่าทางยุทธการสูง ถือว่าทันสมัยในภูมิภาค เพราะก่อนหน้านี้ สิงคโปร์ มีเรือ Stealth FrigateRSS Formidable ประจำการมากว่า 10 ปีแล้ว
นอกจากนี้ยังเป็นเรือฟริเกตที่มีโครงสร้างเรือแข็งแรง มีโอกาสอยู่รอดสูงในสภาพแวดล้อมของการสู้รบ และการปนเปื้อนทางนิวเคลียร์ เคมี ชีวะ ทนทะเลได้ถึงสภาวะทะเล (Sea state) ระดับ 6 ขึ้นไป มีระวางขับน้ำสูงสุด 3,700 ตัน ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง 30 นอต ระยะปฏิบัติการประมาณ 4,000 ไมล์ทะเล ส่วนการออกแบบเรือ ใช้ Stealth Technology สามารถปฏิบัติการรบได้ 3 มิติ ได้แก่ การปฏิบัติการสงครามใต้น้ำ สามารถตรวจจับเป้าหมายระยะไกลด้วยโซนาร์ลากท้าย และโซนาร์ติดใต้ท้องเรือ แล้วต่อตีเรือดำน้ำด้วยตอร์ปิโด และอาวุธระยะไกล จึงเป็นเรือฟริเกตสมรรถนะสูงเทียบเท่าชั้นเรือพิฆาต ที่ได้มีการออกแบบให้ตรงกับความต้องการของกองทัพเรือตามแนวทางการจัดหายุทโธปกรณ์หลัก ภายใต้ยุทธศาสตร์กองทัพเรือ พศ. 2551 - 2560
ขณะเดียวกันถือได้ว่าเป็นเรือฟริเกตที่มีความทันสมัยและเป็นเรือที่มีคุณค่าทางยุทธการสูง ซึ่งจะเป็นกำลังรบทางเรือที่สำคัญตามยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ โดยการปฏิบัติการสงครามต่อต้านภัยทางอากาศ ใช้เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติระยะไกล และระยะปานกลางในการค้นหา ตรวจจับ และติดตามเป้าข้าศึก รวมทั้งแลกเปลี่ยนและประสานการปฏิบัติกับเรือและอากาศยานที่ร่วมปฏิบัติการ แล้วโจมตีเป้าหมายด้วยอาวุธปล่อยนำวิถี แบบ ESSM และอาวุธปืนของเรือ และการปฏิบัติการสงครามเรือผิวน้ำ โดยมีระบบการรบ (Combat System) ที่สามารถใช้งานร่วมกับระบบการรบของเรือฟริเกตอื่นได้ในลักษณะกองเรือ (Battle Group) รวมทั้งปฏิบัติการรบร่วมกับเครื่องบินขับไล่ ของกองทัพอากาศ Gripen ใน ระบบ Network centric ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนการป้องกันตัวของเรือประกอบด้วยอาวุธปล่อยนำวิถี ปืนใหญ่เรือ และปืนรองต่อสู้อากาศยาน ระบบอาวุธป้องกันระยะประชิด (CIWS) หรือที่รู้จักในชื่อ Phalanx ระบบลวงทางอิเล็กทรอนิกส์ ระบบควบคุมความเสียหายแบบรวมการที่สั่งการได้จากศูนย์กลางหรือแยกสั่งการ มีระบบควบคุมการแพร่สัญญาณออกจากตัวเรือ อีกทั้งสามารตรวจจับ ดักรับ วิเคราะห์ และก่อกวนสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้าของเป้าหมายได้