หมอวรงค์โพสต์ ยึดทรัพย์ระบายข้าวจีทูจี ปปง.พบทรัพย์เพิ่ม
หมอวรงค์ โพสต์เข้าใจว่ายึดทรัพย์หมดแล้ว เสี่ยเปี๋ยงและเครือข่ายข้าวจีทูจีแต่ที่แท้ยังไม่หมด ล่าสุดป.ป.ง.ยังตามได้อีกหนึ่งก้อน และศาลหมายเรียกตนไปเป็นพยาน
น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส. พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ..
คิดว่ายึดได้หมดแล้ว
ผมเข้าใจว่าทางป.ป.ง.ติดตามยึดทรัพย์เสี่ยเปี๋ยง และเครือข่ายกรณีทุจริตการระบายข้าวแบบจีทูจีสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ไปหมดแล้ว
ล่าสุดป.ป.ง.ยังตามได้อีกหนึ่งก้อน ผมจึงได้รับหมายศาลให้ไปขึ้นเบิกความเป็นพยาน ที่ศาลแพ่ง ในวันที่ 19 พฤศจิกายน เวลา 9.00 น.
อย่างน้อยคดีจำนำข้าว น่าจะเป็นหนึ่งในอุทาหรณ์ของนักการเมืองที่ทุจริตเชิงนโยบาย และมีความพยายามที่ทำลายความน่าเชื่อถือของศาล การออก พ.ร.บ.นิรโทษแบบสุดซอย ใช้อำนาจเผด็จการรัฐสภา จึงทำให้ประเทศต้องติดปัญหามาถึงวันนี้
และวันนี้ปัญหายิ่งพัฒนามากขึ้น เมื่อนักการเมืองบางกลุ่ม เป็นผู้กระตุ้นและทำลายความมั่นคงของประเทศเสียเอง ถ้าอยากให้ประเทศสงบ ควรปรับแนวคิดตนเอง รับรองเลยว่า ทหารก็ทำอะไรไม่ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีอาญาเมื่อวันที่ 6 กันยายน ได้มีการอ่านคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ คดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี และศาลฎีกาพิพากษาจำคุกนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพิ่มขึ้นอีก 6 ปี จากเดิมมีกำหนดจำคุก 42 ปี รวมเป็น 48 ปี เนื่องจากโจทก์ยื่นขอเพิ่มโทษในกรณีการสั่งให้ทำสัญญาซื้อขายข้าวเพิ่มอีก 1 กระทง เนื่องจากสัญญาซื้อขายข้าวดังกล่าวมี 2 ฉบับ จึงให้ลงโทษฉบับละ 6 ปี ส่วนกรณีที่ให้แก้สัญญาการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐเท่าเดิมฉบับละ 18 ปี ขณะที่พยานหลักฐานที่นายบุญทรง อ้างว่าดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ศาลพิพากษาแล้วฟังไม่ขึ้น
ศาลฎีกายังให้ลงโทษกลุ่มบริษัทโรงสี ได้แก่ นายปกรณ์ ลีศิริกุล กรรมการบริษัท จำเลยที่ 26 และนางประพิศ มานะธัญญา กรรมการบริษัท จำเลยที่ 28 จากเดิมที่ยกฟ้องให้จำคุกคนละ 4 ปี พร้อมปรับ 25,000บาท
นอกจากนี้ ยังให้ปรับนิติบุคคลซึ่งเป็นโรงสี อีก 4 ราย คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีกิจทวียโสธร บริษัท กิจทวียโสธรไรซ์ จำกัด โดยนายทวี อาจสมรรถ กรรมการบริษัท เค.เอ็ม.ซี. อินเตอร์ไรซ์ (2002) จำกัด และบริษัท เจียเม้ง จำกัด อีกรายละ 25,000 บาท โดยที่การกระทำของนายทวี อาจสมรรถ หุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษ 2 กะทง รวมจำคุกจำนวน 8 ปี และปรับ 50,000 บาท โดยที่พฤติการณ์ของกลุ่มโรงสี เห็นสมควรให้รอลงอาญาไว้คนละ 3 ปี จากเดิมที่กลุ่มเอกชนนี้ ถูกศาลแรกยกฟ้อง
นอกจากนี้ ยังให้กลุ่มโรงสี แบ่งเป็นโรงสีกิจทวียโสธร และนายทวี อาจสมรรถ กรรมการ ชดใช้เงิน 27 ล้านบาท ให้กระทรวงคลัง, นายปกรณ์ และบริษัท เค.เอ็ม.ซี. อินเตอร์ไรซ์ (2002) จำกัด รวมกันชำระเงิน 15 ล้านบาท และบริษัท เจียเม้ง จำกัดและนางประพิศ ให้ร่วมกันชดใช้เงิน 55 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ได้มีการกำหนดในคำพิพากษานี้ตามที่อัยการสูงสุด โจทก์ ยื่นอุทธรณ์