สทนช.เตรียมเสนอครม. เคาะมาตรการแก้แล้ง'62 /63
สทนช.เตรียมเสนอครม. เคาะมาตรการแก้แล้ง'62 /63 ย้ำยังเฝ้าระวังท่วมภาคใต้ช่วงปลายต.ค.-พ.ย.
สทนช.ย้ำยังต้องจับตาสถานการณ์ฝนภาคใต้แม้ยังคงไม่มีสัญญาณพายุในช่วง 7 ข้างหน้า พร้อมเตรียมสรุปมาตรการลดผลกระทบแล้ง นัดประชุมนอกรอบหน่วยเกี่ยวข้องอาทิตย์นี้เคาะเสนอครม.เห็นชอบ 22 ต.ค.นี้ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาเหตุน้ำต้นทุนน้อย
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจเพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ครั้งที่ 7/2562 ว่า ในระยะนี้บริเวณตอนบนของมีปริมาณฝนลดลง ขณะที่พื้นที่ภาคใต้ซึ่งเข้าสู่ฤดูฝนแล้วนั้น แต่จากการติดตามสถานการณ์แนวโน้มฝนแม้จะมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ แต่ในช่วง 1 สัปดาห์จากนี้ไปยังไม่มีสัญญาณพายุ หรือสถานการณ์ฝนตกหนักที่ใม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งยังคงเฝ้าระวังจุดเสี่ยงพื้นที่ท่วมซ้ำซาก หรือมีการตกซ้ำของฝนในพื้นที่ที่ทำให้ดินเกิดความชุ่มน้ำก็อาจจะมีความเสี่ยงสถานการณ์น้ำไหลหลากได้เช่นกัน ตั้งแต่บริเวณจังหวัดชุมพรลงไป
โดยในช่วงกลางเดือน ต.ค. และในเดือนพ.ย. จะมีปริมาณฝนตกมากในภาคใต้ฝั่งตะวันออก ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช สงขลา ตรัง สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส มีความเสี่ยงในเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากบางพื้นที่ ซึ่ง สทนช. ได้ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ พร้อมทั้งกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ ป้องกันผลกระทบล่วงหน้า ตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีความแข็งแรงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ ซึ่งจากผลการสำรวจสิ่งกีดขวางทางน้ำจำนวน 111 แห่ง ในภาคใต้ ได้รับรายงานว่าขณะนี้ดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จ 91 แห่ง และอยู่ในระหว่างการดำเนินการอีก 20 แห่ง
นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้มีการซักซ้อมแนวทางปฏิบัติในการเตรียมพร้อมรับมือกับฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงแล้วเพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำในอนาคต ขณะนี้ที่กังวลคือลุ่มเจ้าพระยาในบริเวณภาคกลาง เนื่องจากประเมินน้ำใช้การ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยามีปริมาณน้ำใช้การประมาณ 5,400 ล้าน ลบ.ม. แม้จะไม่ได้น้อยจนน่าเป็นห่วง แต่ก็ต้องอาศัยความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างมีวินัย ซึ่ง สทนช. ได้ประสานขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ลดการใช้น้ำในกิจกรรมอื่น โดยเน้นใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคเท่านั้น
“สทนช. ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำ ณ วันที่ 1 พ.ย. 62 จะมีปริมาณน้ำใช้การ 33,604 ล้าน ลบ.ม. ฤดูแล้ง ปี 2562/63 แบ่งออกเป็น ในเขตชลประทาน 25,031 ล้าน ลบ.ม. นอกเขตชลประทาน 8,573 ล้าน ลบ.ม. ใน 5 กิจกรรมหลักตามลำดับความสำคัญ คือ 1) เพื่อการอุปโภคบริโภค 2,703 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 8% 2) เพื่อรักษาระบบนิเวศ 7,161 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 21% 3) เพื่อสำรองน้ำใช้ช่วงต้นฤดูฝน ปี 2563 9,830 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 29% 4) เพื่อเกษตรกรรม 13,351 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 40% แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน 7,707 ล้าน ลบ.ม. นอกเขตชลประทาน 5,644 ล้าน ลบ.ม. และ 5) เพื่ออุตสาหกรรม 558 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 2%” ดร.สมเกียรติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม สทนช. ยังได้คาดการณ์การจัดสรรน้ำตามปริมาณน้ำใช้การ ณ วันที่ 1 พ.ย.62 ของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่ง แบ่งเป็น อ่างฯ ที่มีปริมาณน้ำใช้การ 0-15% สามารถจัดสรรได้เพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และสำรองต้นฤดูฝน 63 เท่านั้น มีจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ อุบลรัตน์ ลำนางรอง ขณะที่อ่างฯ 9 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำใช้การ 15-30% สามารถจัดสรรได้เพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ สำรองต้นฤดูฝน 63 การเกษตรฤดูแล้ง (เกษตรต่อเนื่อง) อุตสาหกรรม แบ่งเป็น อ่างฯ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ 7 แห่ง ได้แก่ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ ป่าสัก แม่กวงฯ แม่มอก กระเสียว ลุ่มน้ำโขง-ชี-มูล 1 แห่ง ได้แก่ มูลบน ลุ่มน้ำภาคตะวันออก 1 แห่ง ได้แก่ คลองสียัด
ส่วนอ่างฯ ที่มีปริมาณน้ำใช้การ 30-60% ที่จัดสรรได้เพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ สำรองต้นฤดูฝน 63 การเกษตรฤดูแล้ง(บางพื้นที่) อุตสาหกรรม มีทั้งสิ้น 14 แห่ง แบ่งเป็น ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ แม่งัดฯ กิ่วคอหมา กิ่วลม ทับเสลา ลุ่มน้ำโขง-ชี-มูล 6 แห่ง ได้แก่ น้ำอูน น้ำพุง จุฬาภรณ์ ลำตะคอง ลำพระเพิง ลำแซะ ลุ่มน้ำภาคตะวันออก 2 แห่ง ได้แก่ บางพระ ประแสร์ ลุ่มน้ำภาคใต้ 2 แห่ง ได้แก่ รัชชาประภา บางลาง และอ่างฯ ที่มีปริมาณน้ำใช้การ 60-100% ซึ่งสามารถจัดสรรได้ในทุกกิจกรรม คือ เพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ สำรองต้นฤดูฝน 63 การเกษตรฤดูแล้ง (ตามศักยภาพ) อุตสาหกรรม รวม 10 แห่ง ประกอบด้วย ลุ่มน้ำโขงชีมูล 3 แห่ง ได้แก่ ห้วยหลวง ลำปาว สิรินธร ลุ่มน้ำภาคตะวันออก 3 แห่ง ได้แก่ ขุนด่านปราการชล หนองปลาไหล นฤบดินทรจินดา ลุ่มน้ำภาคตะวันตก 2 แห่ง ได้แก่ ศรีนครินทร์ วชิราลงกรณ และ ลุ่มน้ำภาคใต้ 2 แห่ง ได้แก่ แก่งกระจาน ปราณบุรี
ทั้งนี้ ในวันอาทิตย์ที่ 20 ต.ค.นี้ สทนช. จะมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปมาตรการรับมือภัยแล้งที่มีความชัดเจนเป็นรูปแบบ สามารถป้องกันผลกระทบให้แก่พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เสนอเข้าที่ประชุม ครม.ในวันอังคารที่ 22 ต.ค.นี้
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงที่มีระดับลดลง พบว่าสาเหตุเกิดจากปริมาณฝน ทั้งในจีน ลาว และไทย มีปริมาณน้อย ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงลำน้ำสาขาน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ระดับน้ำโขงลดต่ำลงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา และน่าจะลดต่ำกว่าสถิติที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2535 เนื่องจากมีปริมาณฝนตกน้อยกว่าเดิม ที่สำคัญและน่าเป็นห่วงคืออาจจะกระทบกับกิจกรรมริมแม่น้ำโขงด้วย โดย สทนช. จะนำประเด็นปัญหานี้ เข้าสู่เวทีการประชุมคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง ที่กรุงเวียงจันทร์อีกครั้ง เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยเร็วต่อไป.