หมอระวี ห่วงตั้งงบฯ เกินดุลยาวถึงปี 70 จะเกิดปัญหา
หมอระวี ย้ำ หนุนร่าง พ.ร.บ.งบฯ แต่ห่วงตั้งงบเกินดุลยาวถึงปี 70 จะเกิดปัญหาคลัง หนี้สาธารณะ พุ่งแตะ 60% แนะ 3 มาตรการช่วยหลุดพ้น
เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 62 นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวถึงร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ว่า ตนให้การสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2563 แต่มีข้อเสนอเพิ่มเติมใน4 ประเด็น คือ
1. ประเด็นการจัดงบประมาณแบบขาดดุล ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดงบประมาณแบบสมดุลครั้งสุดท้ายในปี 2548 จากนั้นทุกรัฐบาลก็จะจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลมาตลอด เพราะมีความจำเป็นว่าต้องใช้งบประจำสูง งบลงทุนน้อย และจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งปีนี้มีการตั้งงบเกินดุล 469,000 ล้านบาท แม้ว่ารัฐบาลจะควบคุมการใช้งบเกินดุลอยู่ที่ 2.6% ของจีดีพี แต่ถ้ารัฐบาลยังดำเนินนโยบายเกินดุลแบบนี้ไปต่อเนื่องถึงปี 2570 จะเกิดปัญหาเรื่องโครงการการคลังของประเทศ
นพ.ระวี กล่าวว่า หนี้สาธารณะของรัฐบาล คสช.มีการเพิ่มขึ้นในทุกปี ตั้งแต่ปี 2558 จำนวน 5.78 ล้านล้านบาท ปี 2559 จำนวน 5.98 ล้านล้านบาท ปี 2560 จำนวน 6.36 ล้านล้านบาท ปี 2561 จำนวน 6.78 ล้านล้านบาท และปี 2562 จำนวน 6.9 ล้านล้านบาท และมีการคาดการณ์ว่าหนี้สาธารณะปี 2563 จะอยู่ที่ 44.4 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี แต่ถ้าถึงปี 2570 หนี้สาธารณะจะขึ้นมา 54.9 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ถ้าเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหนี้สาธารณะจะขยายมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี
นพ.ระวี กล่าวว่า รัฐบาลควรจะใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ทำงบประมาณ และตั้งเป้าหมายที่จะต้องหยุดการใช้งบเกินดุลในระยะเวลา 7 ปี โดยเริ่มจากการลดการใช้งบเกินดุลตั้งแต่งบปี 63 เป็นต้นไป โดยดำเนิน 3 มาตรการ ดังต่อไปนี้ 1. ปรับลดงบใช้จ่ายกับโครงการจัดซื้อจัดจ้างทุกโครงการลงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ โดยให้ได้ปริมาณงบเท่าเดิม การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐตั้งแต่อดีตเป็นต้นมาเป็นที่รู้กันว่าแพงกว่าเอกชนทำมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ จนมีการกล่าวว่าราคากลางเท่ากับราคาต้นทุนบวกเงินทอน ซึ่งหากปรับลดได้จะเป็นการลดการคอร์รัปชันและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบไปพร้อมกัน
นพ.ระวี กล่าวว่า 2. รัฐหารายได้เพิ่มพร้อมลดความเหลื่อมล้ำได้ด้วยการเอาจริงเอาจังกับภาษีปฏิรูปที่ดิน ภาษีมรดก และภาษีนิติบุคคล ซึ่งประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลก จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหานี้ไม่ให้เกิดรวยกระจุก จนกระจาย ภาษีนิติบุคคลควรจะปรับเป็นแบบขั้นบันได นิติบุคคล เอสเอ็มอี ธุรกิจขนาดเล็กต้องเสียภาษีในอัตราเดียวกับนิติบุคคลยักษ์ใหญ่ ที่มีกำไรระดับหมื่นล้านบาท หากดำเนินการมาตรการเหล่านี้อย่างจริงจัง จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มและลดการเหลื่อมล้ำได้ด้วย 3. การลดงบประมาณประชานิยม และเปลี่ยนมาใช้งบกระตุ้นโครงการที่สร้างรายได้และสร้างงานทั้งภาครัฐและเอกชน เนื่องจากตัวเลขการว่างงานคนไทยปี 2563 จะมีมากกว่า 4 แสนคน ซึ่งงบประชานิยมเหมือนกับการที่รัฐเอาปลาไปแจกชาวบ้าน ปลาหมดเมื่อไหร่คนไทยก็แย่ทันที รัฐต้องรีบนำเงินไปสนับสนุนให้เอกชนสร้างงานไว้รองรับคนว่างงานให้ได้อย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์ รูปแบบการลงทุนแบบนี้จะยั่งยืนและทำให้จีดีพี สูงขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งคุ้มค่ากว่าการใช้ไปแนวทางประชานิยม
นพ.ระวี กล่าวอีกว่า ในส่วนของงบกลางหมวดงบฉุกเฉิน 96,000 ล้านบาท ตนเสนอให้จัดสรรงบ 5,000 ล้านบาท เข้ากองทุนพัฒนาสหกรณ์ กระทรวงการเกษตรฯ เพื่อนำไปพัฒนาฟื้นฟูระบบสหกรณ์ทั่วประเทศ สืบเนื่องจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นถูกโกงไป 17,000 ล้านบาท โดยเงินเกินครึ่งหนึ่งเป็นเงินสหกรณ์ 73 แห่งนำมาฝากไว้ 9,000 ล้านบาท ถ้าสิ้นเดือนธันวาคมนี้สหกรณ์คลองจั่นจะล้มละลาย จะส่งผลต่อ 73 สหกรณ์ตามมาด้วย จะกระทบต่อสมาชิกจำนวนมากกว่า 3 แสนคนรวมครอบครัวด้วยเป็น 1 ล้านกว่าคน งบ 5,000 ล้านที่จะเข้ากองทุนนี้ไม่ใช่การนำไปจ่ายให้กับสหกรณ์คลองจั่น แต่เป็นเพียงการให้ 73 สหกรณ์ยืมเงินจากกองทุนไปหมุนเวียนเพื่อฟื้นฟูสหกรณ์ แล้วต้องคืนเงินทั้งหมด
นอกจากนี้ยังเสนอให้โยกงบกระทรวงสาธารณสุขประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์เป็นเงินประมาณ 1,800 ล้านบาท ไปแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในกระทรวงสาธารณสุข โดยนำไปจ่ายค่าตอบแทนวิชาชีพแก่นักการสาธารณสุขชุมชน (หมออนามัย) ซึ่งปัจจุบันวิชาชีพอื่นเช่น แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัช ล้วนแต่ได้รับค่าตอบแทนวิชาชีพไปหมดแล้ว เหลือแต่หมออนามัยจำนวน 45,000 คน ที่ยังคงอยู่แบบลูกเมียน้อย ทั้งที่หมออนามัยเป็นผู้ดูแล อสม. และดูแลประชาชนในชนบททั่วประเทศ ถ้ายังมีความเหลื่อมล้ำแบบนี้จะส่งผลให้เกิดการขาดขวัญ กำลังใจ และประสิทธิภาพในการทำงานต่อไป